· ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงหลังจากที่ทราบรายงานผลประกอบการและข้อมูลยอดค้าปลีกที่ออกมาน่าผิดหวังของสหรัฐฯ โดยดัชนี Stoxx 600 ปิด -0.23% หลังจากที่ฟื้นตัวในช่วงต้นตลาด
· ดัชนี S&P500 และดาวโจนส์ปิดปรับตัวลงหลังทราบข้อมูลยอดค้าปลีกที่อ่อนแอกว่าที่คาด โดยดัชนี S&P500 ปิด -0.27% ที่ 2,745.72 จุด ทางด้านดาวโจนส์ปิดร่วง 103.88 จุด ที่ระดับ 25,439.39 จุด หลังหุ้น Coca-Cola ร่วงลงรายวันมากที่สุดตั้งแต่ปี 2008 และดัชนี Nasdaq ปิด +0.1% ที่ระดับ 7,426.95 จุด จากหุ้น Netflix ที่ปรับขึ้นกว่า 2%
· หัวหน้าฝ่ายการลงทุนจาก Bleakley Advisory Group กล่าวว่า ข้อมูลค้าปลีกที่ออกมาค่อนข้างน่าเป็นกังวล เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคสหรัฐฯกำลังเป็นส่วนหนึ่งเทียบเท่ากับหัวไหล่ทางเศรษฐกิจโลก และจากที่เห็นข้อมูลที่ประกาศล่าสุดนี้ ก็ได้แต่หวังว่าจะเห็นข้อมูลมีการปรับตัวดีขึ้นและรีบาวน์ได้
· ตลาดหุ้นเอเชียเช้านี้เปิดแดนลบตามหุ้นสหรัฐฯที่ตอบรับกับข้อมูลยอดค้าปลีกที่ดูจะร่วงลงมากที่สุดในรอบเกือบทศวรรษ โดยดัชนีนิกเกอิเปิด -1.26% ควบคู่กับดัชนี Topix ที่เปิด -1.19% ขณะที่หุ้น Kospi ของเกาหลีใต้เปิด -0.99%
· นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทวันนี้ไว้ระหว่าง 31.30-31.40 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทเมื่อวานนี้วิ่งค่อนข้างกว้าง ตลาดยังรอผลการเจรจาการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ขณะที่สกุลเงินภูมิภาคยังไร้ทิศทางที่ชัดเจน
· ศาลรัฐธรรมนูญลงมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.)
· ผู้ว่าการ ธปท. เปิดเผยถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าในช่วงนี้ว่า มาจากปัจจัยภายนอก อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และยอมรับว่าเงินบาทในบางช่วงแข็งค่าเร็วเกินไป แต่ยังไม่พบความผิดปกติ หรือการเก็งกำไรแต่อย่างใด
· ธปท.เปิดแผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงิน ฉบับที่ 4 ซึ่งมุ่งสร้างระบบนิเวศน์ หรือ Ecosystem ให้ Digital Payment เป็นทางเลือกหลักของการชำระเงิน โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน และบริการชำระเงินให้มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ราคาถูก และตรงความต้องการของผู้ใช้ทั้งประชาชน ธุรกิจ e-Commerce และ Social Commerce ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงธุรกิจ SME และธุรกิจขนาดใหญ่ ตลอดจนขยายการใช้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
· บริษัท ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 62 จะเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวที่ระดับ 3.9% จากระดับ 4.0% ในปี 61 ลดลงเล็กน้อยจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ระดับ 4.2% ซึ่งสะท้อนถึงปัจจัยชี้วัดทางเศรษฐกิจที่อ่อนตัวลงกว่าคาด