· ค่าเงินดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินเยน หลังรายงานประชุมเฟด ยังมีการระบุถึงทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯแลละตลาดแรงงานที่ยังคงมีความแข็งแกร่ง และทำให้เกิดกระแสคาดการณ์กลับเข้ามาว่าเฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างน้อย 1 ครั้งในปีนี้ ขณะที่ก่อนทราบผลประชุมเฟด ค่าเงินดอลลาร์มีการปรับอ่อนค่าลงไป
สำหรับรายงานการประชุมเฟดที่ผ่านมา ยังคงมีการย้ำเน้นถึงความจำเป็นที่จะต้องอดทนต่อการเดินหน้าใช้นโยบายขึ้นดอกเบี้ย นั่นหมายถึง การชะลอการขึ้นดอกเบี้ย อันเป็นผลมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลก
ค่าเงินเยนอ่อนค่าลง 0.17% ที่ระดับ 110.8 เยน/ดอลลาร์ โดยเงินเยนยังคงถูกกดดันจากข้อมูลยอดส่งออกญี่ปุ่นในเดือนม.ค. ที่ออกมาแย่ลงมากที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี
ทางด้านค่าเงินยูโรทรงตัวที่ 1.1346 ดอลลาร์/ยูโร สำหรับดัชนีดอลลาร์ทรงตัวที่ 96.47 จุด ซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับแข็งค่ามากที่สุดรอบ 2 สัปดาห์ที่ทำไว้ในสัปดาห์ที่แล้ว
· รายงานการประชุมเฟดครั้งล่าสุด มีการส่งสัญญาณจะยุติแผนปรับลดลพอร์ตงบดุลมูลค่า 4 ล้านล้านเหรียญลง ขณะที่บรรดาสมาชิกเฟดบางส่วนยังคงมีความคิดเห็นแตกต่างกันออกไปเกี่ยวกับการชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ย พร้อมเปิดเผยให้เห็นว่า บรรดาสมาชิกเฟดมีแนวคิดที่จะยุติแผนปรับลดพอร์ตงบดุลก่อนสิ้นปี 2019 และมองว่าควรมีการประกาศให้ตลาดทราบก่อนที่จะสายเกินไป เพื่อให้ตลาดมีความมั่นใจว่าเฟดกำลังดำเนินนโยบายปรับพอร์ตงบดุลให้เข้าสู่ภาวะปกติ
ขณะเดียวกันสมาชิกส่วนใหญ่เห็นด้วยว่า เหมาะสมแล้วที่จะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม สมาชิกเฟดบางส่วนมองว่า อาจจำเป็นต้องพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เฉพาะในกรณีที่อัตราเงินเฟ้อขยายตัวขึ้นแบบผิดคาดเท่านั้น ขณะที่สมาชิกอีกส่วนมองว่า หากเศรษฐกิจสหรัฐฯยังขยายตัวได้ตามเป้าหมาย ก็อาจจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้
มุมมองที่แตกต่างกันของบรรสมาชิกเฟด เป็นสัญญาณว่า เฟดเพียงแค่จะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเท่านั้น โดยที่ยังไม่มีแนวคิดที่จะยุติแผนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด และ ณ ปัจจุบัน ระดับดอกเบี้ยนโยบายของเฟดอยู่ในกรอบระหว่าง 2.25-2.50%
· นักวิเคราะห์จาก Bleakley Advisory Group มองว่า แม้เฟดจะมีสัญญาณจะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้เป็นที่ค่อนข้างแน่นอนแล้ว เนื้อหาในส่วนทีเหลือของรายงานการประชุมแสดงให้เห็นว่าเฟดมีการถกเถียงกันเกี่ยวกับสุขภาพของเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นไปที่ตลาดหุ้นและพันธบัตรเป็นหลัก
· บรรดา ส.ส. เดโมแครตในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ประกาศร่างนโยบายที่จะเข้ามาหยุดภาวะฉุกเฉินของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยล่าสุดมี ส.ส. ทั้งหมด 92 คนที่ให้การสนับสนุนร่างนโยบายดังกล่าว และคาดว่าจะสามารถเข้าสู่การลงมติอย่างเต็มรูปแบบได้ภายในหนึ่งสัปดาห์
นายทรัมป์ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อนำงบประมาณมาก่อสร้างกำแพงชายแดนได้โดยที่ไม่ต้องขอความเห็นชอบจากสภาคองเกรส
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าร่างนโยบายมีแนวโน้มที่จะสามารถผ่านการลงมติในทั้ง 2 สภาได้ แต่นายทรัมป์อาจใช้อำนาจประธานาธิบดีในการสั่งยับยั้งนโยบายดังกล่าวได้ และทั้ง 2 สภาจำเป็นต้องหาเสียงสนับสนุนให้ได้อย่างน้อย 2 ใน 3 จาก ส.ส. ทั้งหมดในการที่จะป้องกันไม่ให้นายทรัมป์สามารถสั่งยับยั้งได้
· นางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ยังคงอยู่ระหว่างการเจรจากับทางอียูที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อวานนี้เพื่อหาทางผ่อนปรนต่อแนวทาง Brexit ท่ามกลางความไม่มั่นใจของอียูต่อกลยุทธ์การดำเนินงานของเธอ หลังจากที่ถูกทางสภาปฏิเสธแผนมาแล้วถึง 3 ครั้ง
· นายเจเรมี คอร์บลิน ผู้นำพรรคฝ่ายค้านอังกฤษจะทำการเข้าพบกับกลุ่มผู้นำยุโรปเพื่อหารือถึงความพยายามในการปลดล็อกข้อตกลง Brexit และเพื่อให้พวกเขามั่นใจว่าทางรัฐสภาอังกฤษไม่ได้ต้องการออกจากอียูโดยปราศจากข้อตกลงใดๆ
· สถาบันจัดอันดับ Fitch Ratings กล่าวว่า อาจทำการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศอังกฤษลงสู่ระดับ AA อันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับการเจรจาระหว่างอังกฤษและอียูในเรื่อง Brexitตามกำหนดการในเดือนหน้า
· ผลสำรวจภาคธุรกิจเอกชน เผยว่า กิจกรรมภาคการผลิตของญี่ปุ่นหดตัวลงในเดือนก.พ. เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปีครึ่ง ที่ระดับ 48.5 จุด จากเดือนก่อนหน้าที่ 50.3 จุด และการอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 จุด ถือเป็นการส่งสัญญาณชะลอตัว นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ส.ค. ปี 2016 ท่ามกลางกลุ่มโรงงานที่ปรับลดกำลังการผลิตจากสภาวะอุปสงค์ภายในประเทศที่กำลังหดตัวควบคู่กับยอดส่งออกที่ลดลง ซึ่งทั้งหมดนี้ได้รับผลกระทบจาก Trade War ระหว่างสหรัฐฯและจีน ที่กำลังบั่นทอนภาวการณ์ส่งออกในแถบเอเชีย รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจ และภาคการผลิตทั่วโลก
· ราคาน้ำมันปิดปรับขึ้นทำระดับสูงสุดในปีนี้ ท่ามกลางความหวังว่าตลาดจะกลับสู่ภาวะสมดุลในช่วงปลายปีนี้ เพราะได้รับอานิสงส์จากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ ควบคู่ไปกับการที่สหรัฐฯมีการประกาศคว่ำบาตรประเทศสมาชิกโอเปกอย่างอิหร่านและเวเนซุเอลา และการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้น อันเป็นผลมาจากสัญญาณความคืบหน้าทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน จากการที่นายทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯยังคงระบุถึง การเจรจาระหว่างสองประเทศดำเนินไปด้วยดี และจะเปิดกว้างต่อการขยายเวลากำหนดเส้นตายออกไป
น้ำมันดิบ Brent ปิดปรับขึ้น 63 เซนต์ คิดเป็น +1% ที่ระดับ 67.08 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ระหว่างวันไปทำระดับสูงสุดของปีที่ 67.38 เหรียญ/บาร์เรล ทางด้านน้ำมันดิบ WTI ปิดปรับขึ้น 83 เซนต์ ที่ระดับ 56.92 เหรียญ/บาร์เรล หรือปรับขึ้นกว่า 1.5% และเป็นการปิดด้วยระดับที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ 12 พ.ย. โดยระหว่างวันมีการทำ High ใหม่ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ 16 พ.ย. บริเวณ 57.55 เหรียญ/บาร์เรล