· ตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดปรับตัวขึ้น ท่ามกลางตลาดที่ตอบรับกับรายงานประชุมเฟดประจำเดือนม.ค.โดยเฟดมีสัญญาณบ่งชี้ว่าจะยังอดทนรอต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยดัชนี Nasdaq ปิดเหนือ 7,489.04 จุด ซึ่งเป็นการปรับขึ้นต่อเนื่อง 8 วันทำการ ทางด้านดัชนีดาวโจนส์ปิดปรับขึ้น 63.12 จุด ที่ระดับ 25,954.44 จุด และดัชนี S&P500 ปิด +0.2% ที่ระดับ 2,784.7 จุด โดยในช่วงที่เฟดประกาศรายงาน ทั้งดัชนี S&P500 และดาวโจนส์ ต่างก็ไปทำระดับสูงสุดของวัน
ในรายงานประชุมเฟดยังคงตอกย้ำถึงภาวะความเสี่ยงขาลงทางเศรษฐกิจ และมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯจะขยายตัวได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ ท่ามกลางภาวการณ์ชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีนและยุโรป จึงมีแนวโน้มว่าเฟดมีแนวโน้มจะเอนเอียงไปทางการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าที่จะคุมเข้มตามสภาวะเงื่อนไขทางการเงินในขณะนี้
อย่างไรก็ดี ในรายงานเฟด มีการระบุถึงการยุติการปรับลดยอดงบดุลของเฟดก่อนสิ้นปีนี้ ซึ่งส่วนใหญ่มองว่า เฟดควรประกาศแผนยุติการปรับลดการถือครองพันธบัตรให้สาธารณชนได้ทราบก่อนสิ้นปีนี้ ก่อนที่การดำเนินการจะยืดเยื้อกินไป และการประกาศดังกล่าวจะช่วยให้การปรับลดยอดงบดุลของเฟดสู่ภาวะปกติมีความแน่นอนขึ้น
· ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวขึ้นวานนี้ ท่ามกลางความหวังที่เพิ่มขึ้นว่าทางสหรัฐฯและจีนจะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าเพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างกันได้ โดยดัชนี Stoxx 600 ปิด +0.7% ท่ามกลางหุ้นทุกภาคส่วนและกลุ่มบริษัทรายใหญ่ๆเคลื่อนไหวแดนบวก
· ตลาดหุ้นเอเชียเปิดปรับตัวลงท่ามกลางปริมาณการซื้อขายปานกลาง โดยดัชนีนิกเกอิเปิด -0.27% ท่ามกลางดัชนี Topix ที่เปิด -0.3% ทางด้านดัชนี Kospi ของเกาหลีใต้เปิด -0.45% จากหุ้นบริษัทซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ที่เปิด -1.17%หลังจากที่บริษัทมีการเปิดเผยโทรศัพท์ Galaxy รุ่นใหม่
· นักบริหารเงินประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ไว้ที่ 31.00 - 31.20 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทเมื่อวานปิดที่ระดับ Low สุดของวันและแข็งค่าสุดในรอบ 5 ปีกว่า แต่ไม่ได้แข็งค่าสุดในภูมิภาค ที่แข็งสุดคือเงินหยวนหลังตลาดคลายกังวลสงครามการค้า ประกอบกับ ตลาดค่อนข้างมั่นใจว่าเฟดอาจจะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้
· ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้เงินบาทแข็งค่าทะลุแนว 31.10 บาท/ดอลลาร์ ไปที่ระดับ 31.07 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งนับเป็นระดับที่แข็งค่าที่สุดในรอบกว่า 5 ปี โดยทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท ยังคงสอดคล้องกับการแข็งค่าของเงินหยวน และสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค
ขณะที่เงินดอลลาร์เผชิญแรงเทขายเพิ่มเติม ท่ามกลางความคาดหวังมากขึ้นว่าการเจรจาเพื่อลดข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนน่าจะมีสัญญาณที่โน้มเอียงไปในทางที่ดีขึ้น โดยการลดความกังวลของนักลงทุน ทำให้ความต้องการสินทรัพย์ที่ปลอดภัย เช่น เงินดอลลาร์ และเงินเยน ลดลงตามไปด้วย
· ธปท. เผยรายงานการประชุมนโยบายการเงิน ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 6 ก.พ.62 ระบุว่า การตัดสินนโยบายการเงินที่มีการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.75% เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงตามปริมาณการค้าโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน แต่การส่งออกภาคบริการมีแนวโน้มปรับดีขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ฟื้นตัวดีกว่าที่ประเมินไว้
ขณะเดียวกันอุปสงค์ในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีต่อเนื่องตามรายได้ครัวเรือนทั้งในและนอกภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้น รวมทั้งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐเพิ่มเติม
· การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวตามการย้ายฐานการผลิตมายังไทย และการร่วมลงทุนของรัฐบาลและเอกชนในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในบางอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้
· ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ระบุถึงแนวโน้มในปี 62 คาดว่าผลจากมาตรการควบคุมสินเชื่อและการชะลอตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น จะส่งผลต่อตลาดที่อยู่อาศัยชะลอตัวทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทาน โดยในด้านอุปสงค์การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจะลดลงทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า 17.9% และ 15.1%ตามลำดับเมื่อเทียบกับปี 61 และคาดว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ทั้งประเทศจะลดลง 0.7% เมื่อเทียบกับปี 61 ส่วนอุปทานโครงการเปิดตัวใหม่คาดว่าจะลดลง 5.3% เมื่อเทียบกับปี 61 แต่ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนคาดว่าจะยังคงเพิ่มขึ้น 11.3% เมื่อเทียบกับปี 61 เนื่องจากการขยายตัวของโครงการที่เปิดขายใหม่ในปี 60-61