· ตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดปรับตัวสูงขึ้นจากกลุ่มนักลงทุนที่มีความหวังว่าจะเห็นข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน โดยดัชนีดาวโจนส์ปิดปรับขึ้น 181.18 จุด ที่ระดับ 26,031.81 จุด และ Break กลับมายืนเหนือ 26,000 จุดได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพ.ย. ส่งผลให้ภาพรวมยังคงเปิดปรับขึ้นได้ติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 9 ซึ่งเป็นการปิดยาวนานต่อเนื่องที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่พ.ค. ปี 1995
สำหรับดัชนี S&P500 ปิด +0.6% ที่ระดับ 2,792.67 จุด จากการฟื้นตัวของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเป็นสำคัญ ทางด้านดัชนี Nasdaq ปิด +0.9% ที่ระดับ 7,527.54 จุด และภาพรวมก็ยังปิดปรับขึ้นได้ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 9 ถือว่ายาวนานที่สุดนับตั้งแต่พ.ค. ปี 2009
· ตลาดหุ้นเอเชียเปิดปรับตัวสูงขึ้นท่ามกลางมุมมองเชิงบวกต่อการเจรจาการค้าสหรัฐฯและจีน หลังจากที่ผู้นำสหรัฐฯประกาศจะเลื่อนขยายเวลากำหนดเส้นตายออกไปจากวันที่ 1 มี.ค.นี้ โดยดัชนีนิกเกอิเปิด +0.4% และดัชนี Topix เปิด +0.48% ทางด้านดัชนี Kospi ของเกาหลีใต้เปิด +0.16%และ ASX200 เปิด +0.14% ในเช้านี้
· ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์เงินบาทสัปดาห์นี้ จะเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 31.10-31.50 บาท/ดอลลาร์ โดยปัจจัยในประเทศที่สำคัญ ได้แก่ รายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนม.ค. และตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.พ. ขณะที่จุดสนใจเพิ่มเติมในต่างประเทศ น่าจะอยู่ที่ความคืบหน้าของการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สถานการณ์การแยกตัวของอังกฤษจากสหภาพยุโรป (Brexit) และดัชนี PMIภาคการผลิตเดือนก.พ. ของสหรัฐฯ และประเทศชั้นนำอื่น ๆ
ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ดัชนีราคาบ้าน ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ ยอดสั่งซื้อสินค้าโรงงาน และตัวเลขเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคา Core PCE Price Index เดือนธ.ค. ยอดขายบ้านที่รอปิดการขาย เดือนม.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.พ. และตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2561
· กระทรวงพาณิชย์ รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน ม.ค.62 การส่งออก มีมูลค่า 18,993.9 ล้านเหรียญ ติดลบ 5.65% ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 23,026.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 13.99% ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 4,032 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
โดยการส่งออกที่ติดลบเนื่องจากแรงกดดันจากภาวะการค้าโลกที่ชะลอตัว และอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าชะงักงัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากสงครามการค้าที่ยืดเยื้อทำให้เกิดการชะลอคำสั่งซื้อ นอกจากนี้ยังเป็นผลจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงเงินบาทแข็งค่า และมูลค่าการส่งออกทองคำ และรถยนต์ปรับตัวลดลง