· ค่าเงินดอลลาร์ปิดอ่อนค่าลงหลังจากทราบถ้อยแถลงเศรษฐกิจของนายเจอโรม โพเวลล์ ประธานเฟด เมื่อคืนนี้ต่อหน้าสมาชิกกำกับดูแลการเงินของสภาผู้แทนราษฎร ก่อนกล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการกำกับดูแลภาคธนาคารของวุฒิสภาสหรัฐฯในคืนนี้ โดยเขาระบุว่า เฟดจะยังอดทนต่อการตัดสินใจใดๆในเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ย จึงเป็นการตอกย้ำถึงแนวทางการตัดสินใจของเฟดตามที่ประชุมไปในเดือนม.ค.
· นักกลยุทธ์ค่าเงินจาก Wells Fargo Securities กล่าวว่า ถ้อยแถลงของนายโพเวลล์ ไม่ได้มีท่าทีผ่อนคลายเพิ่มขึ้นมากกว่าในการประชุมเดือนม.ค.ที่ผ่านมา แต่ก็แน่ชัดว่าเขามีท่าทีคุมเข้มทางการเงินในปีนี้ลดน้อยลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และสิ่งนี้ทำให้ตลาดเชื่อว่าเฟดน่าจะคงดอกเบี้ยหรือมีท่าทีอ่อนลงต่อไป
· ตลาดการเงิน ส่วนใหญ่มองว่าเฟดน่าจะยังคงดอกเบี้ยต่อในปีนี้ และมีโอกาสมากถึง 80% ที่อาจเห็นเฟดทำการปรับลดดอกเบี้ยในเดือนม.ค. ปี 2020 และนั่นจะส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกจากข้อมูลดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯที่ออกมาดีขึ้นแตะ 131.4 จุดในเดือนก.พ. ขณะที่เดือนม.ค. ปรับทบทวนขึ้นมาที่ 121.7 จุดก็ตาม
· หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก High Frequency Economics กล่าวว่า การรีบาวน์ของดัชนีความเชื่อมั่นข้างต้น ได้อานิสงส์มาจากการยุติภาวะ Shutdown ในสหรัฐฯ ประกอบกับการรีบาวน์ของตลาดหุ้น และยังคงบ่งชี้ว่าข้อมูลตลาดแรงงานยังมีความแข็งแกร่ง
· ดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าลง 0.25% ที่ 96.18 จุด ขณะที่ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้น มาที่ 1.1375 ดอลลาร์/ยูโร และค่าเงินเยนปรับแข็งค่าลงมา 0.3% ที่ระดับ 110.73 เยน/ดอลลาร์
· ความต้องการสินทรัพย์เสี่ยงยังคงเพิ่มขึ้น อันจะเห็นได้จากค่าเงินปอนด์ ที่ปรับแข็งค่าขึ้น 1.12% ที่ระดับ 1.342 ดอลลาร์/ปอนด์ หลังจากที่ นายกรัฐมนตรีอังกฤษกำลังพิจารณาจะเลื่อน Brexit ในวันที่ 29 มี.ค. ออกไป ซึ่งส่งผลให้นักวิเคราะห์มองว่า ภาวะความเสี่ยงทางการเมืองหากสามารถเลื่อนหรือลดโอกาสการเกิด No-Deal ได้ ก็จะยิ่งเห็นถึงความสดใสในการฟื้นตัวของค่าเงินปอนด์ได้มากขึ้น
· นายเจอโรม โพเวลล์ ประธานเฟด กล่าวต่อคณะกรรมการด้านการเงินประจำสภาคองเกรส โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ถึงแม้จะเกิดความผันผวนของตลาด ในช่วงไม่กี่เดือนก่อนเข้าสู่ปลายปี 2018 แต่ในปัจจุบัน ปัจจัยทางเศรษฐกิจต่างๆถือว่าจะส่งผลช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้น้อย ประกอบกับสัญญาณของความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ซึ่งหากมีความจำเป็น เฟดจะพิจารณาปรับเปลี่ยนการดำเนินนโยบายให้เหมาะสม
ทั้งนี้ เฟดจะจับตาปัจจัยที่เป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจของจีนและยุโรป และเฟดจะจับตาอย่างใกล้ชิดว่า การเจรจา Brexit จะดำเนินไปในทิศทางใด
ในเรื่องของการปรับพอร์ตงบดุล นายโพเวลล์ได้ระบุว่า ทางเฟดกำลังมีการเตรียมการที่จะมีการปรับปรุงรายละเอียดบางส่วนของแผนปรับพอร์ตงบดุลให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน แตกต่างกับถ้อยแถลงในเดือน ธ.ค. ที่เคยกล่าวไว้ว่าการปรับพอร์ตจะเป็นไปตามกลไกของตลาดโดยอัตโนมัติ ส่วนในภาพระยะยาว ขนาดของพอร์ตงบดุลเฟดจะขึ้นอยู่กับปริมาณอุปสงค์ในหนี้สินของเฟด อย่างเช่นค่าเงินและเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์
· อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯปรับตัวลงจากกลุ่มนักลงทุนที่ตอบรับกับถ้อยแถลงของประธานเฟดเมื่อคืนวานนี้ ที่ถึงแม้จะมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯแต่ก็ยังมีความกังวลบางส่วนจากสัญญาณทางเศรษฐกิจต่างๆ โดยอัตราผลตอบแทนอายุ 10 ปีปรับลงมาแถว 2.645% ขณะที่อัตราผลตอบแทนอายุ 30 ปีปรับลงมาที่ 3.018%
· สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯมีมติผ่านนโยบายที่จะเข้ามาหยุดภาวะฉุกเฉินที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศใช้เพื่อนำงบประมาณมาก่อสร้างกำแพง โดยไม่สนใจต่อคำเตือนของนายทรัมป์ที่จะใช้อำนาจประธานาธิบดีในการสั่งระงับร่างนโยบายดังกล่าว
โดยในสภาผู้ทานราษฎรมีมติผ่านร่างนโยบายไปด้วยคะแนน 245 ต่อ 182 เสียง ก่อนที่ร่างนโยบายจะถูกส่งไปลงมติในวุฒิสภาที่มีรีพับลิกันครองเสียงข้างมาก จึงมีโอกาสผ่านร่างนโยบายต่ำกว่า แต่ก็มีท่าทีที่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้ หากนายทรัมป์ประกาศใช้อำนาจประธานาธิบดีสั่งระงับร่างนโยบาย สภาคองเกรสจำเป็นต้องหาเสียงสนับสนุนมาตอบโต้คำสั่งดังกล่าวให้ได้อย่างน้อย 2 ใน 3 จากทั้ง 2 สภา โอกาสที่จะตอบโต้คำสั่งประธานาธิบดีได้จึงมีค่อนข้างต่ำ
· นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ มีกำหนดการประชุมสุดยอดร่วมกันเป็นครั้งที่สองในสัปดาห์นี้ ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ขณะที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างไม่คาดหวังว่าจะมีการความคืบหน้าครั้งสำคัญเกี่ยวกับการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือแต่อย่างใด
เนื่องจากที่ผ่านๆมา ทางเกาหลีเหนือดูจะพยายามเลือกหนทางที่เป็นการจำกัดความสามารถในการผลิตนิวเคลียร์ลงเท่านั้น และยังไม่มีสัญญาณใดที่บ่งชี้ว่าพวกเขาต้องการที่จะยกเลิกแผนพัฒนานิวเคีลยร์หรือทำลายคลังขีปนาวุธลงแต่อย่างใด
· ราคาน้ำมันดิบทรงตัวจากสัญญาณที่ว่า กลุ่มโอเปกมีแผนที่จะยังคงนโยบายการปรับลดกำลังการผลิตแม้ว่าจะมีแรงกดดันจาก นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กล่าวถ้อยแถลงตำหนิการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบเมื่อวานนี้
รายงานจากรอยเตอร์ส บ่งชี้ว่า กลุ่มโอเปกจะยังเข้มงวดต่อการดำเนินตามข้อตกลงปรับลดภาวะอุปทานน้ำมันแม้จะถูกนายทรัมป์ทวิตเตอร์ตำหนิก็ตาม
ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดปรับขึ้น 2 เซนต์ ที่ 55.50 เหรียญ/บาร์เรล หลังจากที่ร่วงไปกว่า 3% ในวันก่อนหน้า ทางด้านราคาน้ำมันดิบ Brent ปิดปรับขึ้น 45 เซนต์ หรือ +0.5% ที่ระดับ 65.21 เหรียญ/บาร์เรล หลังจากที่คืนวันจันทร์ปิดร่วงไป 3.5%