ดัชนีดาวโจนส์ปิดลดลง 72.82 จุด ที่ระดับ 25,985.16 จุด ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิด -0.1% ที่ระดับ 2,792.38 จุด ทางด้านดัชนี Nasdaq ปิดปรับขึ้นเล็กน้อย 0.1% ที่ระดับ 7,554.51 จุด
· เมื่อคืนนี้ตลาดหุ้นยุโรปปิดแดนลบ ท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่ตอบรับกับภาวะทางการเมืองและข่าวเศรษฐกิจทั่วโลกล่าสุด โดยดัชนี Stoxx 600 ปิด -0.38% ท่ามกลางหุ้นดัชนีหลักที่เคลื่อนไหวแดนลบ
ผลสำรวจโดย Reuters คาดการณ์ว่า ตลาดหุ้นยุโรปมีแนวโน้มที่จะปิดตลาดปี 2019 นี้ใกล้ระดับปัจจุบัน เนื่องปัจจัยกดดันจากความตึงเครียดทางการเมือง และการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ที่น่าจะกดดันให้ตลาดหุ้นไม่สามารถเติบโตได้เต็มที่
โดยแบบสำรวจคาดว่า ดัชนี STOXX 600 มีแนวโน้มปิดตลาดปีนี้ที่บริเวณ 371 จุด ซึ่งใกล้เคียงกับระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ขณะที่ดัชนีหุ้นบลูชิฟของยูโรโซนถูกคาดการณ์ว่าจะปิดตลาดปีนี้ลดลงไป 40 จุด ที่บริเวณ 3,250 จุด ส่วนดัชนี DAX ของเยอรมนีคาดว่าจะปิดลดลงไป 120 จุด ที่บริเวณ 11,420 จุด
· แบบสำรวจโดย Reuters พบว่า บรรดานักวิเคราะห์มองว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างมากที่สุด คือขึ้นไปที่รบริเวณก่อนหน้าที่ตลาดหุ้นจะเผชิญแรงเทขายอย่างหนักในช่วงปลายปี 2018 ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงต่อตลาดหุ้นจะเริ่มส่งผลกระทบที่หนักหน่วงขึ้นภายในช่วงกลางปี 2019
โดยนักวิเคราะห์จาก JP Morgan ระบุว่า ปี 2019 จะเป็นปีที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อตลาดหุ้นหลายประการ เนื่องจากทิศทางขาขึ้นของตลาดในปี 2018 ได้เผชิญกับแรงกดดันอย่างหนัก และหุ้นต่างประเทศมีผลประกอบการที่อ่อนแอ เมื่อเทียบกับผลประกอบการในปี 2017
ขณะที่นักวิเคราะห์จาก BCS Global Markets ระบุว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อตลาดหุ้นจะขยายตัวรุนแรงมากขึ้นภายในช่วงกลางปี 2019 โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะเห็นได้ชัดยิ่งขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ขณะที่บรรดาธนาคารกลางต่างมีทางเลือกที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างจำกัด
· ตลาดหุ้นเอเชียเปิดปรับตัวลงท่ามกลางข้อขัดแย้งทางการค้าทั่วโลก โดยเฉพาะความตึงเครียดทางการเมืองครั้งใหม่ระหว่างปากีสถานและอินเดีย ประกอบกับข่าวความไม่แน่นอนทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ขณะที่ผู้นำสหรัฐฯและเกาหลีเหนือกำลังเข้าสู่การเจรจาเรื่องอาวุธนิวเคลียร์เป็นวันที่ 2 ที่ประเทศเวียดนามในวันนี้
ดัชนีนิกเกอิเปิด -0.27% ขณะที่ดัชนี Topix เปิด -0.37% และดัชนี Kospi ของเกาหลีใต้เปิด -0.47% ทางด้านดัชนี ASX200 เปิด -0.23%
· นักบริหารเงิน คาดว่า ทิศทางเงินบาทวันนี้ยังมีโอกาสอ่อนค่าได้ต่อ โดยมองกรอบการเคลื่อนไหวที่ 31.30-31.45 บาท/ดอลลาร์ โดยเมื่อวานนี้ เงินบาทอ่อนค่าสุดที่ระดับ 31.43 บาท/ดอลลาร์ และแข็งค่าสุดที่ระดับ 31.29 บาท/ดอลลาร์ และเงินบาทยังอ่อนค่าสวนทางกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคด้วย ซึ่งการที่เงินบาทในช่วงนี้ปรับตัวอ่อนค่าน่าจะมีสาเหตุจากเป็นช่วงสิ้นเดือนที่มีการซื้อดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้า อีกทั้งก่อนหน้านี้เงินบาทได้ปรับตัวแข็งค่าไปมาก จึงทำให้มีการขายทำกำไรในช่วงนี้
· สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมกราคม 2562 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2562 ได้รับแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่กลับมาขยายตัวขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 เดือน สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนสะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์สามารถกลับมาขยายตัว
ในขณะที่ด้านอุปสงค์ภายนอกประเทศ พบว่า การส่งออกสินค้ายังคงหดตัวสำหรับด้านอุปทาน จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวเป็นบวก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ขยายตัว 10.3%สูงสุดในรอบ 7 เดือน อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวสูงสุดในรอบ 7 เดือน และดัชนีผลผลิตภาคการเกษตรยังคงขยายตัวได้ดี
· นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษก สศค. กล่าวถึงการส่งออกในเดือน ม.ค.62 ที่ลดลง 5.7% ว่าเป็นการติดลบมากกว่าที่ สศค.คาดการณ์ไว้ แต่อย่างไรก็ดี ยังเชื่อว่าการส่งออกโดยรวมทั้งปี 62 นี้จะขยายตัวได้ 4.5% ตามที่ สศค. ได้ประมาณการไว้ ทั้งนี้ ยังมีเวลาอีก 11 เดือน ซึ่งจะต้องประเมินและติดตามสถานการณ์การส่งออกในช่วงที่เหลือต่อไป
· สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ดัชนีรายได้ของเกษตรกรเดือน ก.พ.62 เพิ่มขึ้น 4.83% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากดัชนีราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.51% โดยสินค้าสำคัญที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และสุกร และดัชนีผลผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.27% โดยสินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ทั้งนี้ เดือนมี.ค.62 คาดว่าดัชนีรายได้เกษตรกรจะขยายตัวเล็กน้อย รวมทั้งดัชนีราคาและผลผลิตคาดว่าจะขยายตัวเช่นเดียวกัน