· ตลาดหุ้นสหรัฐฯอ่อนตัวลง หลังจากที่ดัชนี S&P 500 กลับมาเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับสำคัญทางเทคนิค แม้ว่านักลงทุนจะเชื่อว่าปัญหาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนมีแนวโน้มจะหาทางแก้ไขปัญหาได้ก็ตาม
ดัชนี S&P500 ปิด -0.4% ที่ 2,792.62 จุด หลังจากที่ปรับตัวขึ้นไปยืนเหนือระดับสำคัญทางเทคนิคที่ 2,800 จุด และปิดตลาดคืนวันศุกร์ด้วยระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ 8 พ.ย.
· ดัชนีดาวโจนส์ปิด -206.67 จุด ที่ระดับ 25,819.65 จุด อันเป็นผลมาจากการร่วงลงของหุ้นบริษัทโบอิ้งกว่า 1.8% ทางด้านดัชนี Nasdaq ปิด -0.2% ที่ 7,577.57 จุด
นักวิเคราะห์จาก The Opportunistic Trader กล่าวว่า ตลาดเคลื่อนไหวตามแรงเทคนิค และส่วนใหญ่เป็นสัญญาณ Overbought ในขณะนี้ และขอแนะนำให้นักลงทุนจับตาข้อตกลงกับสหรัฐฯและจีนให้ดี เพราะถึงแม้ส่วนใหญ่จะคิดว่าจะบรรลุข้อตกลงได้ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะง่ายต่อการดำเนินการตามที่พวกเราคาดหวังไว้เช่นไร
· ตลาดหุ้นยุโรปเปิดปรับขึ้น ท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่ตอบรับกับข่าวทางการค้าของสหรัฐฯและจีน โดยดัชนี Stoxx600 ปิด +0.23% ท่ามกลางหุ้นส่วนใหญ่ที่เคลื่อนไหวแดนบวก หลังมีแหล่งข่าววงใน 3 ราย กล่าวกับ CNBC ว่าสหรัฐฯและจีนจะสามารถยุติข้อขัดแย้งทางการค้าได้ภายในสิ้นเดือนนี้
· ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลง หลังการร่วงลงของหุ้นสหรัฐฯเมื่อคืนที่ผ่านมา โดยดัชนีดาวโจนส์และดัชนี S&P500 ปรับตัวลงแย่ที่สุดในรอบเกือบหนึ่งเดือน
โดยเช้านี้ ดัชนี Nikkei ลดลง 0.42% ขณะที่ดัชนี Topix ลดลง 0.58% ด้านดัชนี Kospi ของเกาหลีใต้ ลดลงเช่นเดียวกัน ที่ระดับ 0.6%
· นักบริหารเงิน คาดว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าแต่เชื่อว่าจะไม่ขึ้นไปแตะระดับ 32 บาท/ดอลลาร์ ท่ามกลางสถานการณ์ในสหรัฐฯที่เริ่มพลิกกลับมามีภาพดีขึ้น เช่น สงครามการค้ากับจีน การปิดหน่วยงานราชการชั่วคราว ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาค่อนข้างดี จึงทำให้มีแรงซื้อดอลลาร์กลับคืน ส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ โดยมองว่า วันนี้ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 31.80-31.90 บาท/ดอลลาร์
· ธปท. ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปี 2562 เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้น 2.3% เป็นผลจากดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเป็นสำคัญ ขณะที่เงินลงทุนในหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติไม่ได้ทำให้เงินบาทแข็งค่า ดังที่เห็นจากตัวเลขส่วนนี้ว่าเป็นการไหลออกสุทธิ ภาพรวมเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับสกุลเงินของประเทศ emerging markets และประเทศเพื่อนบ้าน โดยการแข็งค่าและความผันผวนของเงินบาทอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ในบางช่วงที่เงินบาทแข็งค่าเร็วในลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจ ธปท. ได้เข้าดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เวลากับเอกชนในการปรับตัว ในระยะข้างหน้า ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนเคลื่อนไหวได้ 2 ทาง ตามความผันผวนของเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลก
นอกจากนี้ ธปท. ยังเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือน ก.พ.62 อยู่ในระดับทรงตัวใกล้เคียงเดือนก่อนที่ 49.9 โดยความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในภาคที่มิใช่การผลิตปรับดีขึ้น ขณะที่ความเชื่อมั่นในภาคการผลิตปรับลดลงส่วนในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีฯ ทรงตัวจากเดือนก่อน อยู่ที่ระดับสูงกว่า50 ในเกือบทุกองค์ประกอบ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่มองว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องในอนาคต