· ตลาดหุ้นยุโรปเปิดผสมผสานก่อนหน้าการลงมติครั้งสำคัญที่จะชี้ชะตาของ Brexit ในรัฐสภาอังกฤษคืนนี้ หลังจากนางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ สามารถเจรจาแก้ไขข้อตกลงร่วมกับผู้นำอียูเป็นผลสำเร็จ
โดยดัชนี Stoxx 600 เปิด +0.4% นำโดยหุ้นกลุ่มธนาคารที่ปรับขึ้นกว่า 1% โดยเฉพาะหุ้นของ RBS, Barclays และ Lloyds
· ค่าเงินปอนด์ปรับแข็งค่าขึ้น 0.5% ที่ระดับ 1.3215 ดอลลาร์/ปอนด์ และตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวสูงขึ้น หลังจากคณะกรรมาธิการยุโรปตกลงที่จะเปลี่ยนแปลงข้อตกลง Brexit ก่อนการลงมติในรัฐสภาอังกฤษ โดยดัชนี MSCI ที่ไม่รวมหุ้นญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 1.08%
นายฌ็อง คล็อด จุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการอียู ระบุว่า สามารถหาข้อตกลงเกี่ยวกับ Brexit ฉบับอัพเดตร่วมกับนางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ รวมถึงช่วยโน้มน้าวบรรดา ส.ส. ในรัฐสภาอังกฤษ
· ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้นทำระดับสูงสุดในรอบ 6 วัน เนื่องจากหุ้นเทคโนโลยีที่ปิดปรับขึ้นอย่างแข็งแกร่ง อาทิ หุ้นบริษัท Apple และ Facebook ที่ชดเชยการร่วงลงของหุ้นบริษัท Boeing
ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของตลาดหุ้นเอเชียและการอ่อนค่าของค่าเงินเยนช่วยหนุนแรงเข้าซื้อ โดยดัชนี Nikkei ปรับตัวสูงขึ้น 1.8% ที่ระดับ 21,503.69 จุด
· ตลาดหุ้นจีนปิดบวก ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ว่าจีนและสหรัฐฯจะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าร่วมกันในเร็วๆนี้ แต่ความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจยังเป็นปัจจัยจำกัดการเพิ่มขึ้นของตลาดหุ้น โดยดัชนี Shanghai Compositeปิด +1.1% ที่ระดับ 3,060.31 จุด
· ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ในเดือนก.พ 62 อยู่ที่ 82.0 จาก 80.7 ในเดือน ม.ค.62 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากบรรยากาศการเลือกตั้งที่คึกคัก และการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 69.0 จาก 67.7 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 77.1 จาก 75.8 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 99.9 จาก 98.7
· สำหรับปัจจัยบวกมาจาก พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในวันที่ 24 มี.ค.ส่งผลให้บรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งทั่วประเทศมีความคึกคัก, สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ประกาศตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในไตรมาส 4/61 โต 3.7% ขยายตัวจาก 3.2% ในไตรมาสก่อนหน้า, สภาพัฒน์ คาด GDP ปีนี้โต 3.5-4.5%, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย, สงครามการค้าเริ่มคลี่คลาย, ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย และพืชผลเกษตรบางรายการเพิ่มปรับตัวดีขึ้น
ขณะที่ปัจจัยลบมาจาก ภาคการส่งออกในเดือนม.ค. -5.65%, ราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, ยังมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสงครามการค้า ในแง่ที่อาจจะกระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต, ความกังวลต่อสถานการณ์ฝุ่นละอองPM2.5 และผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและยังกระจุกตัว