· ดัชนี S&P500 ปิดปรับตัวลงหลังจากที่ปิดแดนบวกติดต่อกัน 3 วันทำการ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน หลังจากที่เมื่อวานนี้ นายทรัมป์ พร้อมด้วยนายสตีเฟน มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสรัฐฯ กล่าวว่า การหารือกับจีนเพื่อยุติ Trade War มีความคืบหน้าอย่างมาก แม้ว่านายทรัมป์จะยังไม่พูดว่าข้อตกลงในขั้นสุดท้ายจะบรรลุผลเมื่อใดก็ตาม แต่การประชุมที่จะเกิดขึ้นระหว่างนายทรัมป์ และนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนที่มีกำหนดการประชุมที่รัฐฟลอริด้าในเดือนนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน และมีข่าวว่ามีการเลื่อนการประชุมดังกล่าวออกไปเร็วที่สุดน่าจะเกิดขึ้นในเดือนหน้า
ดาวโจนส์ปิดปรับขึ้น 7.05 จุด คิดเป็น +0.03% ที่ 25,709.94 จุด ขณะที่ S&P500 ปิด -0.09% ที่ระดับ 2,808.48 จุด และ Nasdaq ปิด -0.16% ที่ระดับ 7,630.91 จุด
· ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับขึ้นทำระดับสูงสุดรอบ 5 เดือน โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของภาคธนาคารหลังจากที่รัฐสภาอังกฤษโหวตปฏิเสธที่จะออกจากอียูแบบไม่มีข้อตกลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในตลาดฟื้นตัวขึ้น โดยดัชนี Stoxx600 ปิด +0.7% ทางด้านหุ้นบลูชิพของอังกฤษปิด +0.5%
· ตลาดหุ้นเอเชียส่วนใหญ่ปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางเหล่านักลงทุนที่ให้ความสนใจไปยังประเด็นการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน รวมทั้งการลงคะแนนเสียงจากรัฐสภาเกี่ยวกับประเด็น Brexit โดยเช้านี้ ดัชนี Nikkei เพิ่มขึ้น 0.83% ขระที่ดัชนี Topix เพิ่มขึ้น 0.88% ด้านดัชนี Kospi เกาหลีใต้ เพิ่มขึ้นเดียวกัน ที่ระดับ 0.38%
· นักบริหารเงิน คาดกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทวันนี้ไว้ระหว่าง 31.55-31.95 บาท/ดอลลาร์ โดยระยะนี้ให้จับตากระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย ขณะที่ปัจจัยสำคัญระยะนี้มีทั้งปัจจัยภายใน คือ การประชุมกนง. การเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. ส่วนปัจจัยภายนอกคือประเด็นการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) และการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน
· พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวตอบคำถามนักข่าวสื่อต่างประเทศว่า พร้อมยอมรับผลการเลือกตั้ง และเชื่อว่ารัฐบาลใหม่จะมีรัฐบาลผสมที่มาจากพรรคการเมืองต่าง ๆ เข้ามาร่วมกันทำงาน
· ฟิทช์ เรทติ้งส์ เผยสถานการณ์ก่อนที่จะถึงวันเลือกตั้งของไทย ซึ่งตรงกับวันที่ 24 มี.ค.นี้ ตอกย้ำให้เห็นถึงความแตกแยกทางการเมืองที่ยังคงมีอยู่ ในขณะที่ไทยกำลังจะหวนคืนสู่การปกครองที่มาจากเสียงประชาชน โดยฟิทช์ได้ระบุไว้ในการทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือเดือนธ.ค.ว่า ความผันผวนทางการเมืองในช่วงการเปลี่ยนผ่านมาเป็นข้อจำกัดต่อความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ BBB+
· ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลบางส่วนของการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "เกาะติดสถานการณ์การเลือกตั้ง 2562 โค้งสุดท้าย" โดยได้สำรวจถึงนโยบายที่สำคัญและเร่งด่วนที่สุดที่ประชาชนอยากเห็นจากรัฐบาลชุดใหม่ ดังนี้
อันดับ 1 ประชาชนส่วนใหญ่ 60.34% ระบุว่า เพิ่มราคาสินค้าพืชผลการเกษตร อันดับ 2 ประชาชน 33.13% ระบุว่า เพิ่มรายได้เกษตรกร อันดับ 3 ประชาชน 26.69% ระบุว่า เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ อันดับ 4 ประชาชน 15.04% ระบุว่า เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้มีรายได้น้อย อันดับ 5 ประชาชน 12.73% ระบุว่า แก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน