· ยอดส่งออกของญี่ปุ่นในเดือน ก.พ. ชะลอตัวลงติดต่อเป็นเดือนที่ 3 ท่ามกลางผลกระทบจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับประเด็น Brexit ทำให้ตลาดมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง
โดยภาวะทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นมีภาวะที่กำลังเผชิญความเสี่ยงของการชะลอตัวลงเหมือนกันเศรษฐกิจทั่วโลก จึงทำให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือบีโอเจอาจมีการออกนโยบายเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น
ทั้งนี้ ยอดส่งออกของญี่ปุ่นเดือน ก.พ. ชะลอตัวลง -1.2% ในภาพรวมรายปี มากกว่าที่คาดการณ์ว่าจะชะลอตัวลง -0.9% เทียบเดือน ม.ค. ที่ยอดส่งออกชะลอตัว -8.4% จึงทำให้ภาพรวมชะลอตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มรถยนต์ โลหะ และเครื่องมือผลิตเซมิคอนดักเตอร์
· ที่ปรึกษาคนสนิทของนายวลาดิเมีย ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและรัสเซียในปัจจุบัน ดูจะเป็นการพยายามข่มขวัญแต่ละฝ่ายมากกว่าที่จะพยายามพัฒนาความสัมพันธ์อย่างจริงๆจังๆ และความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศก็จะไม่มีวันคืบหน้าหากนโยบายคว่ำบาตรรัสเซียของสหรับฯยังคงมีผลบังคับใช้อยู่
· รายงานจาก AFP ระบุว่า ดูจะยังไม่เห็นโอกาสที่เฟดจะทำการขึ้นดอกเบี้ยในสัปดาห์นี้ นับตั้งแต่ที่สมาชิกทั้งหมดดูเหมือนจะพร้อมใจกันมีท่าทีรอดูการขึ้นดอกเบี้ยในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
สำหรับภาวะเงินเฟ้อดูจะชะลอตัวท่ามกลางภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงในปีนี้ ด้านนักเศรษฐศาสตร์ ระบุว่า บรรดาสมาชิกเฟดมีแนวโน้มจะลดจำนวนการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ลงเหลือเพียงครั้งเดียว จากเดือนธ.ค. ที่คาดการณ์ไว้ที่ 2 ครั้ง โดยต้องรอถ้อยแถลงการตัดสินใจของ นายเจอโรม โพเวลล์ ประธานเฟดที่จะประกาศผลการประชุมในคืนวันพุธนี้ โดยปัจจุบันเฟดมีกรอบดอกเบี้ยที่ระดับ 2.25-2.50% ท่ามกลางตลาดที่ยังไม่คิดว่าจะเห็นเฟดขึ้นดอกเบี้ยปีนี้ได้ ขณะที่นักลงทุนมองว่ามีโอกาสที่จะเห็นเฟดเริ่มต้นปรับลดดอกเบี้ยในอีก 10 เดือนข้างหน้า
· FXStreet มองว่า การปรับลดน้ำมันจะทำให้ระดับราคาน้ำมันพุ่งขึ้นแตะ 60 เหรียญ/บาร์เรล โดยน้ำมันดิบ WTI วันนี้ในตลาดเอเชียเคลื่อนไหวแถว 58.50 เหรียญ/บาร์เรล และมองว่าสินค้าน้ำมันน่าจะได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากรายงานสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯที่ปรับตัวลง ขณะที่กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ยังพอใจที่จะปรับลดอุปทานน้ำมันในตลาด
· รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานแห่งรัสเซีย ระบุว่า รัสเซียจะสามารถบรรลุเป้าหมายของการปรับกำลังการผลิตที่ตกลงร่วมกับกลุ่มโอเปกได้ภายในสิ้นเดือน มี.ค. หรือไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
ทั้งนี้ เป้าหมายการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกร่วมกับประเทศพันธมิตร เช่น รัสเซีย อยู่ที่ 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน เป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งสมาชิกกลุ่มทั้ง 11 ประเทศ ยกเว้น อิหร่าน เวเนซุเอลา และลิเบีย จำเป็นปรับลดกำลังผลิตลง 800,000 บาร์เรล/วัน
· ราคาน้ำมันเคลื่อนไหวอย่างผันผวนในวันนี้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่กดดันปริมาณอุปสงค์ในน้ำมัน แต่มีแรงหนุนจากการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปก ร่วมนโยบายคว่ำบาตรน้ำมันอิหร่านและเวเนซุเอลาของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ราคาสัญญาน้ำมันดิบ Brent ปรับสูงขึ้น 8 เซนต์จากระดับปิดตลาด ที่บริเวณ 67.24 เหรียญ/บาร์เรล ใกล้ระดับสูงสุดของปี 2019 ที่ 68.14 เหรียญ/บาร์เรล
ขณะที่ราคาสัญญาน้ำมันดิบ WTI ปรับลง 9 เซนต์จากระดับปิดตลาด ที่บริเวณ 58.43 เหรียญ/บาร์เรล แต่ยังเคลื่อนไหวใกล้ระดับสูงสุดของปี 2019 ที่ 58.95 เหรียญ/บาร์เรล