· ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ว่าเฟดจะมีมติส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินหลังการประชุมคืนพรุ่งนี้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
โดยดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อยที่บริเวณ 96.495 จุด เคลื่อนไหวใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ โดยดัชนีได้อ่อนค่าลงมาแล้ว 1.2% จากระดบัสูงสุดของวันที่ 7 มี.ค. ที่ 97.710 จุด
นักวิเคราะห์จาก Mizuho Securities ระบุว่า ตลาดมีกระแสคาดการณ์ว่าเฟดจะส่งสัญญาณผ่อนคลายทางนโยบายการเงินในการประชุมครั้งนี้ แต่ตลาดหุ้นน่าจะไม่มีการตอบรับในเชิงบวกจากผลการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากจะเป็นสัญญาณว่าเฟดยอมรับถึงการชะลอตัวเศรษฐกิจ จึงน่าจะกดดันตลาดหุ้นและค่าเงินดอลลาร์ลงแทน
ด้านค่าเงินเยนแข็งค่า 0.1% บริเวณ 111.27 เยน/ดอลลาร์ ขณะที่ค่าเงินยูโรอ่อนค่าเล็กน้อยที่บริเวณ 1.1335 ดอลลาร์/ยูโร
· ดัชนีดอลลาร์ก่อนหน้าการประชุมเฟด ยังคงมีมุมมองอยู่ในแดน Neutral ท่ามกลางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ยังทรงตัวใกล้ระดับเปิดตลาดสัปดาห์นี้ โดยดัชนีดอลลาร์ยังมีการเคลื่อนไหวไม่มากนักในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา และยังอยู่ในกรอบ Ascending triangle ที่ก่อตัวตั้งแต่เดือน พ.ย. ซึ่งกรอบนี้สามารถรองรับการร่วงลงของดัชนีได้ แม้ในช่วงที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรย่อตัวลง
ในส่วนของเส้น MACD และ Slow Stochastics เริ่มมีการปรับลดลง แต่ยังอยู่ในแดนขาขึ้น ขณะที่ตัวดัชนีเองยังคงเคลื่อนไหวต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ยราย 8, 13 และ 21 วัน แต่เส้นค่าเฉ,ยเหล่านี้ไม่ได้เป็นสัญญาณวัดทิศทางขาลง ดังนั้น จึงมองว่าดัชนีดอลลาร์จะเคลื่อนไหวทรงตัวต่อไปในระยะสั้นๆ
· แม้สัญญาณ Elliott wave ในกราฟ EUR/USD อาจชี้เป็นทั้งทิศทางขาขึ้นและขาลง อย่างไรก็ตาม ระดับสำคัญที่ต้องจับตาไม่ว่าจะเป็นฝั่งขาขึ้นหรือขาลง จะอยู่ที่ระดับ 1.1420 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของวันที่ 28 ก.พ. ตราบใดที่ค่าเงินยังเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับนี้ ทิศทางขาลงก็จะมีกำลังมากกว่า ในทางกลับกัน หากค่าเงินเริ่มยืนเหนือ 1.1368 ดอลลาร์/ยูโร จะเป็นสัญญาณว่าแนว 1.1420 อาจถูก Break ได้ หากเป็นเช่นนั้น โอกาสที่ค่าเงินจะแข็งค่าขึ้นไปถึงบริเวณ 1.17-1.20 ดอลลาร์/ยูโร ก็จะมีโอกาสสูงขึ้น
· ค่าเงินปอนด์ปรับตัวลง ท่ามกลางดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นหลังจากที่อ่อนค่าลงไปในช่วงต้นตลาด โดยค่าเงินดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ แม้ว่าจะมีกระแสคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะมีท่าทีผ่อนคลายทางการเงิน และประเด็นดังกล่าวก็ดูจะยังมีโอกาสจำกัดการปรับขึ้นของดอลลาร์เมื่อเทียบกับค่าเงินในเอเชีย
· Goldman Sachs ระบุว่า เฟดมีแนวโน้มจะปล่อยให้เงินเฟ้อขยับขึ้นสู่เป้าหมาย 2% และเริ่มมีการปรับทบทวนกรอบนโยบายการดำเนินงานสำหรับทางเลือกที่เหมาะสมเพื่อให้เงินเฟ้อเคลื่อนไหวถึงเป้าหมาย และเชื่อว่าเฟดน่าจะตั้งเป้าให้เงินเฟ้อขยับสู่เป้าหมายใน 2 ปีหน้า และอาจลดการปรับขึ้นดอกเบี้ยนะโยบาย รวมทั้งมีท่าทีดำเนินงานอย่างค่อยเป็นค่อยไปทั้งสองส่วนสำคัญข้างต้น
· Goldman Sachs มีมุมมองว่า ตั้งแต่ที่เฟดมีท่าทีผ่อนคลายทางการเงินก็ดูจะช่วยสนับสนุนให้สินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นฟื้นตัวขึ้น โดยกลุ่มนักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นที่จะเห็นการปรับลดดอกเบี้ย ควบคู่กับลดความเป็นไปได้ที่จะเผชิญกับภาวะถดถอยในระยะสั้น และจากประวัติศาสตร์ หากเงินเฟ้อปรับขึ้นก็จะเห็นการปรับขึ้นตามของตลาดหุ้น โดยจะเห็นถึงเม็ดเงินไหลเข้าสู่ตลาดเมื่อเงินเฟ้อมีการขยับตามคาดการณ์ โดยจะไปสอดคล้องกับดัชนี S&P 500 ที่คิดอัตราส่วน Ratio ของผลกำไร ควบคู่กับ Breakeven ของเงินเฟ้อในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา
· ปัจจัยที่ตลาดจะจับตาจากการถ้อยแถลงของนายเจอโรม โพเวลล์ ประธานเฟด ภายหลังการประชุมเฟดสัปดาห์นี้ คือ Dot plot และการปรับลดพอร์ตงบดุล
ส่วนผลการประชุมสัปดาห์นี้ เป็นที่คาดการณ์กันว่า เฟดจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 2.25-2.50% ดังเดิม รวมถึงคงท่าที “อดทน” ต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้
สัญญาณสำคัญที่ตลาดจะจับตาคือ บรรดาสมาชิกเฟดจะมีการปรับลดคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยลงมาสอดคล้องกับ Dot plot ของเฟดเองหรือไม่ ท่ามกลางท่าที “อดทน” ต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด
ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งคือเฟดจะมีแนวโน้มปรับลดพอร์ตงบดุลมูลค่า 3.8 ล้านล้านเหรียญของเฟดลงอย่างไร
· ทั้ง J.P. Morgan และ Goldman Sachs มีมุมมองที่ดีขึ้นต่อเศรษฐกิจอินเดียอย่างเห็นได้ชัด โดยทาง J.P. Morgan ได้ยกให้อินเดียเป็นตลาดเกิดใหม่ที่มี “การเติบโตดีที่สุด” อีกทั้งยังมีราคาน้ำมันที่ค่อนข้างสมดุล และแนวโน้มการขยายตัวของรายได้ที่แข็งแกร่ง
ขณะที่ทาง Goldman Sachs ระบุว่า บรรดานักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาในอินเดีย ท่ามกลางความหวังว่ารัฐบาลอินเดียจะมีความมั่นคงมากขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง รวมถึงแนวโน้มการเติบโตของรายได้ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 16% สำหรับปีนี้ อีกทั้งดัชนี Nifty 50 ของอินเดีย ยังสามารถเติบโตได้ถึง 8% ในช่วงเดือนที่ผ่านมา
· นักวิเคราะห์จาก BMO Capital Markets มองว่า การประชุมเฟดครั้งนี้ น่าจะมีข้อมูลใหม่ออกมา ไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
ทั้งนี้ บรรดาเทรดเดอร์คาดการณ์กันว่า เฟดจะไม่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้แม้แต่ครั้งเดียว รวมถึงอาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงภายในปี 2020 ซึ่งหากสัญญาณที่เฟดส่งออกมาหลังมาหลังการประชุมครั้งนี้ขัดแย้งกับคาดการณ์ของตลาด ก็มีโอกาสจะเห็นตลาดปรับร่วงลง รวมถึงโอกาสที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
· ราคาน้ำมันดิบมีการปรับตัวลดลงหลังทดสอบไม่ผ่านแนวต้านของกรอบ 57.96 – 59.05 เหรียญ/บาร์เรล ในขณะที่เกิดสัญญาณ Bearish Reversal ในเส้น RSI ดังนั้น หากราคาน้ำมันวันนี้ปิดต่ำกว่าแนวรับที่ 54.55 – 55.66 เหรียญ/บาร์เรล อาจเป็นการโอกาสให้ราคาย่อตัวลงไปบริเวณ 50.15 – 51.33 เหรียญ/บาร์เรล ในทางกลับกัน หากราคาปรับตัวสูงขึ้นกว่ากรอบที่กล่าวมาข้างต้น ราคาจะมีโอกาสขึ้นทดสอบแนวต้านของเทรนขาขึ้นระยะยาวที่วิ่งตั้งแต่เดือน ก.พ. ปี 2016 หรือที่ระดบั 62.63 เหรียญ/บาร์เรล