
ปัจจุบัน ตลาดพันธบัตรเริ่มมีกระแสคาดการณ์ที่มากขึ้นเรื่อยๆว่า เฟดจะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ หลังจากที่เฟดได้ประกาศจะคงอัตราดอกเบี้ยตลอดปีในการประชุมครั้งที่ผ่านมา
Joseph LaVorgna นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบัน Natixis ได้วิเคราะห์จากวัฏจักรการปรับอัตราดอกเบี้ยทั้ง 5 วัฏจักรที่ผ่านมา และพบว่าช่วงเวลาระหว่างการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายและการเปลี่ยนมาปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกของแต่ละวัฏจักร มีระยะเวลาห่างกันเฉลี่ยอยู่ที่ 6.6 เดือน
อย่างไรก็ตาม LaVorgna ชี้ว่า ในแต่ละวัฏจักรดูจะมีช่วงระยะเวลาที่ห่างออกจากกันมากขึ้น โดยจากกราฟด้านล่างจะเห็นได้ว่าการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในเดือน ส.ค. ปี 1984 กับการลดดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. ปี 1984 ห่างกันเพียง 1 เดือนเท่านั้น ตามมาด้วยระยะห่าง 4 เดือน สำหรับวัฏจักรในเดือน ก.ค. ปี 1989 จากนั้น 5 เดือน สำหรับเดือน ก.พ. ปี 1995 ถัดมาที่ 8 เดือนสำหรับเดือน พ.ค. ปี 2000 จนถึง ม.ค. ปี 2001 และระยะห่าง 15 เดือน ระหว่างเดือน มิ.ย. ปี 2006 จนถึง ก.พ. ปี 2007
ทั้งนี้ LaVorgna ระบุถึงเงื่อนไข 3 ข้อ ที่จะทำให้เฟดต้องพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยเงื่อนไขที่ 1 คือการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯในไตรมาสที่ 2/2019 ไม่สามารถฟื้นตัวได้แข็งแกร่งอย่างที่คาดหวังเอาไว้ หลังเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1/2019 อ่อนแอลงมากกว่าที่คาด เงื่อนไขที่ 2 คือ พบสัญญาณว่าอัตราเงินเฟ้อน่าจะไม่สามารถขยายตัวถึงเป้าหมายที่ 2% ของเฟด หรืออาจชะลอตัวลง และเงื่อนไขที่ 3 คือ ตรวจพบว่าตลาดการเงินมีสภาวะตึงตัว กล่าวคือ ราคาหุ้นถูกกดดันในขณะที่ส่วนต่างของเครดิตขยายวงกว้างขึ้น
ซึ่ง LaVorgna มองว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ภาวะเศรษฐกิจจะสอดคล้องกับเงื่อนไขที่ 1 เนื่องจากมองว่า เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1/2019 มีผลประกอบการที่ไม่ค่อยสดใสนัก เมื่อพิจารณาจากความย่ำแย่ของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงมาในไตรมาสที่ 4/2018 ประกอบกับการที่ความเชื่อมั่นยังคงอ่อนแอและภาคการผลิตที่ซบเซา จึงมีความเสี่ยงที่การเติบโตในไตรมาสที่ 1 อาจอยู่ใกล้ระดับ 0% และโอกาสที่จะฟื้นตัวในไตรมาสที่ 2 ก็มีอยู่ค่อนข้างต่ำ
ที่มา: CNBC