· ค่าเงินดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ หลังธนาคารกลางต่างๆมีการประสานเสียงกันในเรื่องการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น ขณะที่ค่าเงินเยนกลับมาแข็งค่าจากกลุ่มนักลงทุนทีวิตกกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก
ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) คือธนาคารกลางรายล่าสุดที่มีการส่งสัญญาณจะกลับมาใช้นโยบายเชิงผ่อนคลายมากขึ้น ท่ามกลางสัญญาณทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
ดัชนีดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้น 0.41% ที่ระดับ 97.18 จุด และเป็นการปรับแข็งค่าขึ้นเป็นวันที่ 3 ขณะที่ยูโรร่วงลง 0.17% ที่ 1.123 ดอลลาร์/ยูโร
ค่าเงินเยนปรับแข็งค่าขึ้น 0.03% ลงมาที่ 110.54 เยน/ดอลลาร์ ท่ามกลางหุ้นญี่ปุ่นที่ปรับตัวลง แต่ภาพรวมค่าเงินเยนก็ยังคงยืนเหนือระดับแข็งค่ามากที่สุดรอบ 6 สัปดาห์ที่ทำไว้เมื่อวันจันทร์บริเวณ 109.7 เยน/ดอลลาร์
ค่าเงินปอนด์ร่วงลง 0.99% ที่ระดับ 1.306 ดอลลาร์/ปอนด์ หลังจากที่นางเมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษเสนอตัวที่จะลาออกเนื่องจากยังคงล้มเหลวในการบรรลุข้อตกลงในคืนวันพุธที่ผ่านมา
· อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯปรับตัวขึ้นหลังจากที่ไปทำระดับต่ำสุดในรอบกว่าหลายปี ท่ามกลางสหรัฐฯและจีนที่กลับมาเจรจาการค้าอีกครั้ง โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีทรงตัวที่ 2.386% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตร 2 ปีปรับขึ้นมาที่ 2.34%
ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรมีการเคลื่อนไหวตามตลาดหุ้นที่มีการเคลื่อนไหวปรับขึ้นประมาณ 2% นำโดยหุ้นกลุ่มวัตถุดิบและกลุ่มอุปโภคบริโภค
อย่างไรก็ดี เมื่อคืนนี้ อัตราผลตอบแทนอายุ 10 ลงไปทำระดับ Low ใหม่ของปี 2017 จึงยังคงสร้างความกังวลต่อทิศทางการขยายตัวสหรัฐฯอยู่ หลังจากที่ยังเคลื่อนไหวต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 3 เดือน
· เศรษฐกิจสหรัฐฯในไตรมาสที่ 4/2018 ชะลอตัว โดยผลการประกาศ GDP เมื่อคืนนี้ ออกมาที่ 2.2% สอดคล้องกับคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ รวบรวมโดย Dow Jones แต่ชะลอตัวมากกว่าคาดการณ์เดิมที่ 2.6% เปรียบเทียบกับในไตรมาสที่ 3/2018 ที่ GDP ขยายตัวได้ 2.6% ทำให้ภาพรวมตลอดปี 2018 เศรษฐกิจสหรัฐฯขยายตัวได้ 2.9% จึงเป็นปีที่มีการขยายตัวดีที่สุดนับตั้งแต่ปี 2015 และขยายตัวได้ดีกว่าปี 2017 ที่ขยายตัวได้ 2.2%
ทั้งนี้ อัตราการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศ ตลอดจนการใช้จ่ายของรัฐบาลทั้งในภาคและระดับประเทศ ต่างถูกแก้ไขลดลง และกดดันยอด GDP ยอดนำเข้าก็ถูกแก้ไขลดลงเช่นเดียวกัน เนื่องจากผลกระทบของความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและประเทศคู่ค้า
อย่างไรก็ตาม ยอดส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น เป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนให้ภาพรวม GDP ขยายตัวขึ้นได้
· นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงกรคลังแห่งสหรัฐฯ กล่าวว่า การเจรจาร่วมกับตัวแทนจากประเทศจีนบนโต๊ะอาหารเมื่อช่วงเย็นวานนี้ เป็นไปอย่างมีความคืบหน้าที่ดี แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดแต่อย่างใด ก่อนที่บรรดาตัวแทนการค้าของสหรัฐฯมีกำหนดจะเจรจาการค้าต่อในวันนี้ โดยจะใช้เวลาทั้งวันสำหรับการเจรจา
· ขณะที่รายงานจากเจ้าหน้าของสหรัฐฯระบุว่า ตัวแทนจีนได้มีการเจรจาการค้าในหัวข้อที่กว้างมากขึ้น รวมถึงกรณีการบังคับถ่ายทอดเทคโนโลยี และการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ที่ทางจีนดูมีท่าทีจะให้ความร่วมมือมากยิ่งขึ้น และทั้งสองฝ่ายจะดำเนินร่วมกันต่อไปเพื่อยุติข้อขัดแย้งทางการค้าให้สำเร็จ
· ผลสำรวจโดย Reuters พบว่าบรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 2.25 - 2.50% ไปจนถึงสิ้นปี 2020 เป็นอย่างน้อย ขณะที่มองโอกาส 40% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปี 2020
· นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนท์หลุยส์ กล่าวว่า ความอ่อนแอของตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯเมื่อไม่นานมานี้ น่าจะคงอยู่แค่ในระยะสั้นๆเท่านั้น ดังนั้นจึงยังไม่เห็นถึงความจำเป็นที่เฟดจะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม นายบูลลาร์ด หนึ่งในคณะกรรมการเฟดที่สนับสนุนในเฟดผ่อนคลายนโยบายทางการเงินปีนี้ ได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯในไตรมาสที่ 1/2019 จะ ”ค่อนข้างอ่อนแอ” แต่ไม่มีความชัดเจนว่าจะอ่อนแอเพียงใด
สำหรับประเด็นของนายสเตฟเฟน มอเรย์ ผู้ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กำลังมีแนวคิดที่จะเสนอชื่อให้รับตำแหน่งคณะกรรมการเฟด นายบูลลาร์ดมองว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการดำเนินงานของเฟด เนื่องจากเสียงของนายมอเรย์จะเป็นเพียงแค่เสียงส่วนน้อย ภายในหมู่คณะกรรมการที่มีถึง 19 คน
· นายวอร์เรน บัฟเฟตท์ กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจดูเหมือนจะชะลอตัวลงในระดับที่เริ่มรู้สึกได้ แต่ก็ไม่ได้ชะลอตัวในระดับที่มากไปกว่านั้น ทั้งนี้ ผลประกอบที่แย่ลงของบริษัท BNSF ที่เป็นบริษัทเกี่ยวกับรางรถไฟที่ทาง Berkshire เป็นเจ้าของ เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจในภาพรวมกำลังชะลอตัวลง แต่ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นผลกระทบมาจากปัจจัยทางฤดูกาล อย่าเช่นเรื่องของสภาพอากาศ
ถ้อยแถลงของนายบัฟเฟตท์ เกิดขึ้นในขณะที่ตลาดมีความกังวลอย่างรุนแรงเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จนทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับร่วงลงอย่างหนัก
· ราคาน้ำมันดิบปิดทรงตัว โดยปรับตัวขึ้นหลังจากที่ระหว่างวันมีการปรับตัวลงไป จากการที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เรียกร้องให้โอเปกช่วยสนับสนุนการผลิตน้ำมันเพื่อให้ราคาปรับตัวลง เพราะถือเป็นความสำคัญที่จะทำให้เม็ดเงินในตลาดน้ำมันเพิ่มขึ้น ในขณะที่ตลาดโลกมีความเปราะบาง ท่ามกลางราคาน้ำมันที่สูงขึ้น
ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดลงไป 11 เซนต์ ที่ 59.30 เหรียญ/บาร์เรล หลังจากที่ราคาไปทำระดับต่ำสุดที่ 58.2 เหรียญ/บาร์เรล
น้ำมันดิบ Brent ปิดปรับลงไป 1 เซนต์ ที่ 67.82 เหรียญ/บาร์เรล หลังจากไปทำระดับต่ำสุดช่วงต้นตลาดที่ 66.5 เหรียญ/บาร์เรล จากการทวิตเตอร์ข้อความของนายทรัมป์