· ดัชนีดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้นมาที่ 97.336 จุดหลังจากที่ปรับลงไปที่ 96.600 จุดในสัปดาห์ที่แล้ว โดยนักวิเคราะห์จาก ANZ Research กล่าวว่า ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ออกมาดีขึ้นเกินคาดในส่วนของภาคการผลิตวานนี้ได้ช่วยบรรเทาความกังวลต่อแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ควบคู่กับการรีบาวน์ของ PMI จีน ที่ทำให้ความต้องการสินทรัพย์เสี่ยงกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯปรับขึ้นจากข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯและจีน โดยอัตราผลตอบแทนอายุ 10 ปี แตะ 2.499% ขณะที่อัตราผลตอบแทนอายุ 30 ปี ปรับขึ้นแตะ 2.894%
ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าทำระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์เมื่อเทียบกับเงินเยน ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มผ่อนคลายลงไป หนุนให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯฟื้นตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบ 15 เดือน
โดยค่าเงินเยนอ่อนค่ามาทรงตัวแถว 111.37 เยน/ดอลลาร์ หลังไปทำระดับอ่อนค่ามากที่สุด 111.46 เยน/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของวันที่ 20 มี.ค.
ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯอายุ 10 ปีปรับขึ้นมาบริเวณ 2.492% จากระดับต่ำสุดในรอบ 15 เดือนที่ 2.34% ที่ลงไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา
ขณะที่ค่าเงินยูโรอ่อนค่า 0.1% แถว 1.1205 ดอลลาร์/ยูโร ทำระดับต่ำสุดที่ 1.1198 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของวันที่ 8 มี.ค. และเป็นการอ่อนค่าต่อเนื่องติดต่อกัน 6 วันทำการ
· รัฐสภาอังกฤษยังคงอยู่ในภาวะยืดเยื้อหลังการโหวตทางเลือก Brexit เมื่อคืนที่ผ่านมา จบลงโดยที่ยังไม่สามารถหาทางเลือกที่เป็นเอกฉันท์ได้ โดยทางเลือกที่เกือบได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอคือการคงอยู่ในเขตการค้าเสรีร่วมกับอียู ซึ่งขาดเสียงสนับสนุนไปเพียงแค่ 3 เสียงเท่านั้น
ด้านค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลงทันทีหลังจาก รัฐสภาอังกฤษไม่สามารถหาทางเลือกที่เป็นเอกฉันท์ได้ โดยค่าเงินปอนด์เมื่อเทียบกับดอลลาร์อ่อนค่าลง 1% แถว 1.3048 ดอลลาร์/ปอนด์
· ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาวะอุปทานที่ถูกกดดันจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลก โดยน้ำมันดิบ Brent เพิ่มสูงขึ้น 0.6% ที่ระดับ 68.01 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ ราคาน้ำมันดิบ WTI เพิ่มขึ้น 0.5% ที่ระดับ 60.46 เหรียญ/บาร์เรล
ทั้งนี้ ประเด็นการคว่ำบาตรสหรัฐฯในอิหร่านและเวเนซุเอลาพร้อมกับการปรับลดอุปทานของกลุ่มโอเปก และผู้ผลิตรายใหญ่อื่น ๆ ได้ช่วยหนุนราคาในปีนี้