· ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ เมื่อเทียบกับเงินเยน ท่ามกลางความกงกัวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกที่เริ่มผ่อนคลายลง หนุนให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯปรับสูงขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบ 15 เดือน
โดยค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมาทรงตัวแถว 111.395 เยน/ดอลลาร์ หลังทำระดับสูงสุดที่ 111.46 เยน/ดอลลาร์ ที่เป็นระดับสูงสุดของวันที่ 20 มี.ค.
ขณะที่ดัชนีดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 0.1% แถว 97.336 จุด เคลื่อนไหวใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ที่ 97.382 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดที่ขึ้นไปได้ในช่วงตลาดวานนี้
ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯอายุ 10 ปี ล่าสุดเคลื่อนไหวแถว 2.495% ฟื้นขึ้นมาจากระดับต่ำสุดในรอบ 15 เดือนที่ 2.34% ซึ่งลงไปทำระดับดังกล่าวเมื่อสัปดาห์ก่อน หลังตลาดเกิดความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้เกิดการเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น และลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงลง
นักวิเคราะห์จาก Barclays ระบุว่า ตลาดเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะ Risk on เป็นวงกว้างมากขึ้น หลังตัวเลขภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯประกาศออกมาสดใสเมื่อคืนนี้ อีกปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนช่วยให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมา คือการเข้าซื้อตามฤดูกาล กล่าวคือ ผู้ประกอบการบางส่วนมีเข้าซื้อค่าเงินดอลลาร์เพิ่มมากขึ้นเพื่อเตรียมเข้าสู่ไตรมาสที่ 2/2019
ด้านค่าเงินยูโรอ่อนค่าลง 0.1% แถว 1.1201 ดอลลาร์/ยูโร โดยทำระดับต่ำสุดที่ 1.1198 ดอลลาร์/ยูโร และยังเป็นการอ่อนค่าต่อเนื่องติดต่อกัน 6 วันทำการ ขณะที่ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลง 0.25% แถว 1.3075 ดอลลาร์/ปอนด์ ท่ามกลางแรงกดดันหลังจากการลงมติ Brexit ในรัฐสภาอังกฤษล้มเหลวไปเมื่อคืนนี้
· ยูโรเคลื่อนไหวต่ำ ถูกกดดันโดยดอลลาร์ที่แข็งค่า
ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวใกล้ระดับ 1.1197 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ ถูกกดดันหลังจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯประกาศออกมาแข็งแกร่งตัวเลขของฝั่งยูโรโซน ประกอบกับความยืดเยื้อของประเด็น Brexit ขณะที่ตลาดจะจับตาการประกาศดัชนี PPI ของยูโรโซน และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐฯเป็นอันดับต่อไป
ในเชิงเทคนิค ค่าเงินย่อตัวลงมาทดสอบแนวรับที่เป็นเส้น 61.8% Fibonacci retracement แถว 1.0341 – 1.2556 ดอลลาร์/ยูโร หากหลุดต่ำกว่าแนวรับนี้ลงมา จะมีโอกาสร่วงลงแรงไปถึงระดับต่ำสุดของเดือน พ.ค. ปี 2017 แถว 1.1120–10 ดอลลาร์/ยูโร ตามมาด้วย 1.1080 ดอลลาร์/ยูโร ที่เป็นแนวรับของเทรนขาลงระยะยาวตั้งแต่ระดับต่ำสุดของเดือน ส.ค. ปี 2018 ตลอดจนต่ำสุดของเดือน พ.ย. ปี 2018
ในทางกลับกัน หากราคาพยายามที่จะฟื้นตัวขึ้นมา จะเจอกับแนวต้านระยะสั้นแถว 1.1250 ดอลลาร์/ยูโร หากสูงขึ้นมาจากระดับดังกล่าว อาจเกิดแรงทำ Short-covering หนุนค่าเงินขึ้นต่อไปถึงบริเวณ 1.1300 ดอลลาร์/ยูโร แต่ราคาน่าจะหยุดการปรับขึ้นต่อไว้ที่แถว 1.1325-30 ดอลลาร์/ยูโร
· EUR/USD Technical Analysis: หากหลุด 1.1175/70 จะมีโอกาสร่วงต่อถึง 1.1080
· ค่าเงินยูโรเมื่อเทียบกับดอลลาร์กำลังเคลื่อนไหวแถว 1.1200 ดอลลาร์/ยูโรในช่วงสายวันนี้ โดยหลังจากที่ราคาที่ราคาไม่สามารถคอนเฟิร์มลักษณะ “Falling wedge” เมื่อช่วงกลางเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา แนวโน้มระยะสั้นนี้จึงมีโอกาสที่จะย่อตัวลงมาทดสอบแถว 1.1175 ดอลลาร์/ยูโร
อย่างไรก็ตาม เส้น RSI ราย 14 วันที่เคลื่อนไหวในแดน Oversold ประกอบกับแนวรับของเทรนแนวโน้มขาลงที่โยงตั้งแต่ระดับต่ำสุดของเดือน พ.ย. และ มี.ค. ที่ 1.1170 ดอลลาร์/ยูโร อาจเป็นปัจจัยช่วยจำกัดการร่วงลงของค่าเงินให้อยู่แถว 1.1175/70 ดอลลาร์/ยูโรได้
สำหรับกรณีที่ค่าเงินเกิดหลุดแนวรับดังกล่าวลงมา แนวรับถัดไปจะอยู่ที่ 1.1120 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของเดือน มิ.ย. ปี 2017 ตามมาด้วย 1.1110 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของเดือน พ.ค. ปี 2017 หากยังไม่สามารถรองรับการร่วงลงได้ จะมีแนวรับสำคัญถัดไปอยู่ที่ 1.1080 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งเป็นแนวรับของเส้นเทรนขาลงระยะยาว
ในทางกลับกัน หากค่าเงินฟื้นตัวเหนือแนวต้านระยะสั้นที่ 1.1250 ดอลลาร์/ยูโร จะมีโอกาสกลับขึ้นไปทดสอบบริเวณ 1.1300 ดอลลาร์/ยูโร ตามมาด้วย 1.1330 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งเป็นเส้นค่าเฉลี่ยราย 50 วัน
หากค่าเงินฟื้นตัวเหนือแนวต้านดังกล่าว ระดับสำคัญที่ต้องจับตาจะอยุ่ที่ 1.1395 และ 1.1400 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งเป็นลักษณะของ Falling wedge หากผ่านแดนนี้มาได้ ค่าเงินจะมีโอกาสฟื้นตัวแรงไปถึงระดับ 1.1450 ดอลลาร์/ยูโร ตามมาด้วยระดับ 1.1470 ดอลลาร์/ยูโร ที่เป็นเส้นค่าเฉลี่ยราย 200 วัน และต่อไปจนถึงระดับสูงสุดของปี 2018
· สรุปภาพรวมการลงทุนวันนี้จาก Bloomberg ระบุว่า ตลาดโลกฟื้นตัวในวันนี้ ท่ามกลางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่อ่อนตัวลง หลังจากที่ปรับขึ้นตอบรับกับข้อมูลเศรษฐกิจของจีนและสหรัฐฯในส่วนของภาคการผลิต
ทั้งนี้ ดัชนีหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นปานกลาง เช่นเดียวกับดัชนีหุ้นเซี่ยงไฮ้และเกาหลีไต้ ขณะที่หุ้นฮ่องกงมีความผันผวน ในส่วนของหุ้นยุโรปเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ขณะที่สัญญาหุ้นอนุพันธ์ของสหรัฐฯปรับตัวลงหลังจากที่เมื่อวานปิดแดนบวกกว่า 2% จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่บิทคอยน์พุ่งขึ้นทำระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. จากความผันผวนที่เพิ่มขึ้นของค่าเงิน สำหรับค่าเงินปอนด์ปรับอ่อนค่าลงจากข่าว Brexit ในขณะที่น้ำมันปรับขึ้นต่อ สำหรับผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10ปีวันนี้ปรับลง หลังจากที่เมื่อวานปรับขึ้นมากที่สุดในรอบกว่า 3 เดือนเมื่อวานนี้
· หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Moody's Analytics กล่าวว่า ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯอาจยังไม่เพียงพอที่จะตัดสินว่าเฟดควรดำเนินการปรับลดดอกเบี้ย แม้ว่าสมาชิกเฟดหลายแห่งจะมีการเรียกร้องต่อการดำเนินการดังกล่าว
นายแลรี่ คุดโลว์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระดับสูงจากทำเนียบขาว กล่าวในสัปดาห์ที่แล้วว่า เฟดควรปรับลดดอกเบี้ยลง 0.5% หลังเฟดตัดสินใจยังคงดอกเบี้ยในการประชุมรอบล่าสุด และเฟดมีการหั่นคาดการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ขณะที่เฟดเองกล่าวเตือนเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐฯด้วย
ด้านนักวิเคราะห์จาก Moody's มองว่า ไม่แน่ใจว่าทำไมเฟดถึงได้มีท่าทีตอบรับต่อสภาวะดังกล่าว เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯภาพรวมก็ดูยังขยายตัวได้ดี ท่ามกลางอัตราว่างงานที่ใกล้ระดับต่ำสุดรอบ 50 ปี ค่าแรงก็มีทิศทางที่แข็งแกร่ง รวมทั้งเงินเฟ้อก็มีการขยับใกล้เป้าหมาย 2% และตลาดหุ้นก็ดูจะสามารถปรับขึ้นทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ได้
และการปรับลดดอกเบี้ยภายใต้เงื่อนไขการขยายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพน่าจะก่อให้เกิดหนี้สินที่เพิ่มขึ้นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯได้
· ทางสถาบัน Moody’s Analytics ยังได้ระบุอีกว่า หากสหรัฐฯและจีนไม่สามารถหาข้อตกลงการค้าร่วมกันได้ ก็มี “แนวโน้มสูง” ที่จะกลายเป็นปัจจัยที่กดดันให้เศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะหดตัว ขณะที่ความเชื่อมั่นของตลาดที่อ่อนแอลงจากประเด็นความขัดแย้งทางการค้า ก็อยู่ในระดับที่ “น่าเป็นห่วง”
สำหรับโอกาสเกิดกรณี No-deal Brexit ก็อยู่ระดับสูงจนน่าเป็นห่วง เช่นเดียวกัน และความเสี่ยงจากประเด็น Brexit อาจเป็นปัจจัยที่กดดันให้เศรษฐกิจยูโรโซนเข้าสู่ภาวะหดตัว
· รัฐบาลจีนยืนยันจะขยายระยะเวลาละเว้นการขึ้นภาษีรถยนต์สหรัฐฯ ที่เป็นมาตรการตอบโต้สหรัฐฯออกไปก่อน และรายการสินค้าที่ถูกละเว้นการขึ้นภาษีออกไปจะรวมยาในกลุ่มโอพิออยด์ เฟนตานิล ไปด้วย ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นสัญญาณในเชิงบวกก่อนที่การเจรจาการค้าระหว่างตัวแทนจากสหรัฐฯและจีนจะเกิดขึ้นอีกครั้งในสัปดาห์นี้
ขณะที่ทีมตัวแทนการเจรจาจากจีน นำโดยนายหลิว เฮ่อ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ได้ออกเดินทางจากประเทศจีนแล้วเมื่อวานนี้ และจะเดินทางถึงกรุงวอชิงตันของสหรัฐฯเพื่อเข้าร่วมการเจรจาในวันพุธนี้ ท่ามกลางความหวังว่าการเจรจาสัปดาห์นี้ จะสามารถสรุปข้อตกลงและผลักดันให้เกิดการลงนามในข้อตกลงร่วมกันระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เป็นอันดับถัดไป
· นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่า เขายินดีที่จะรอจนถึงการเลือกตั้งในปี 2020 เพื่อที่จะทำการลงมติในแผนประกันสุขภาพตัวใหม่ที่จะมาแทนนโยบายโอบามาแคร์ และเพื่อให้เวลาสำหรับพรรครีพับลิกันในการร่างแผนดังกล่าวขึ้นมา
การเคลื่อนไหวดังกล่าวบ่งชี้ว่า นายทรัมป์มีแผนที่จะโต้วาทีเกี่ยวกับอนาคตของแผนประกันสุขภาพสหรัฐฯ ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งปี 2020 มากกว่าที่จะรีบหาเสียงสนับสนุนจากการลงมติในรัฐสภาโดยเร็ว
· นายไมเคิล บาร์เนียตัวแทนการเจรจา Brexit จากอียู ระบุว่า ยิ่งรัฐสภาอังกฤษปล่อยให้ภาวะ Brexit ยืดเยื้อไปมากเท่าไหร่ โอกาสที่อังกฤษจะถอนตัวออกไปแบบ No-deal ก็มากยิ่งขึ้นเท่านั้น
พร้อมระบุว่า ทางอังกฤษเหลือตัวเลือกสำหรับ Brexit เพียงแค่ 3 ตัวเลือกเท่านั้น คือ 1) ยอมรับของข้อตกลง Brexit ของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ 2) ยอมถอนตัวออกไปแบบ No-deal และ 3) ขยายระยะเวลาของ Brexit ออกไป
โดยตัวเลือกที่ 1 เป็นตัวเลือกที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่ออังกฤษน้อยที่สุด ส่วนตัวเลือกที่ 2 และ 3 ล้วนแต่จะสร้างความเสียหายที่หนักหน่วงให้กับเศรษฐกิจทั้งสิ้น และทางรัฐสภาอังกฤษก็จะเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบกับความเสียหายดังกล่าว
· ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน โดยได้รับแรงหนุนจากข้อมูลทางเศรษฐกิจจีนที่ออกมาอย่างแข็งแกร่ง จึงช่วยผ่อนคลายความไม่แน่นอนเกี่ยวกับปริมาณอุปสงค์ รวมทั้งประเด็นความเป็นไปได้ในการคว่ำบตารอิหร่านและเวเนซูเวล่าของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบ Brent เพิ่่มขึ้น 0.2% ที่ระดับ 69.16 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI เพิ่มขึ้น 0.2% เช่นเดียวกันที่ระดับ 61.73 เหรียญ/บาร์เรล