· ตลาดหุ้นทั่วโลกเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย แต่ภาพรวมยังคงแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือนได้ ท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่เริ่มมีการเทขายเข้ามาจากการที่หุ้นทั่วโลกฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง 3 วันทำการ ขณะที่ภาวะอุปทานตึงตัวได้ช่วยหนุนให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น
· ดัชนี S&P500 ปรับอ่อนตัวลงเล็กน้อยหลังจากที่ปรับขึ้นอย่างแข็งแกร่งเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ตามการร่วงลงของหุ้นบริษัท Walgreens Boots Allianceประกอบกับข้อมูลเศรษฐกิจที่ดูจะช่วยลดความกังวลด้านการขยายตัวลงไป โดยหุ้น Walgreen ร่วงลงไปกว่า 12.8% หลังบริษัทยารายใหญ่ปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการปี 2019 ขณะที่รายงานรายไตรมาสดูจะผิดจากที่ประมาณการณ์ไว้
ดัชนีดาวโจนส์ปิดลง 79.29 จุด หรือ -0.3% ที่ 26,179.13 จุด ขณะที่หุ้น S&P500 ปิดปรับขึ้น 0.05% ที่ 2,867.24 จุด ทางด้านดัชนี Nasdaq ปิดปรับขึ้น 19.78 จุด หรือ +0.25% ที่ 7,848.69 จุด
· ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวขึ้นในรอบกว่าครึ่งปี เพราะได้รับแรงหนุนจากหุ้นกลุ่มยานยนต์และประกันที่ปรับขึ้น ขณะที่หุ้นอังกฤษเผชิญแรงเทขายจากความไม่แน่นอนในกรณี Brexit ที่ยังคงเป็นอีกปัจจัยที่ฉุดให้เงินปอนด์อ่อนค่าเวลานี้
ทั้งนี้ ดัชนี Stoxx 600 ปิดปรับขึ้นในรอบ 3 วันทำการไปแตะ 385.68 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนก.ย.ปีที่แล้ว และโดยภาพรวมปิดปรับขึ้นได้ 0.4%
· ตลาดหุ้นเอเชียเปิดผสมผสานในวันนี้ ตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ ขณะที่ตลาดส่วนใหญ่จับตาไปยังการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนต่อในวันนี้ที่ประเทศสหรัฐฯ
ดัชนีนิกเกอิเปิดทรงตัว ขณะที่ดัชนี Topix เปิด -0.21% และดัชนี Kospi ปิด -0.19% และดัชนี ASX200 เปิด +0.61%
· นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.65 - 31.85 บาท/ดอลลาร์ โดยเมื่อวานนี้ เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับในช่วงเปิดตลาด เป็นการเคลื่อนไหวตามทิศทางของค่าเงินหยวน ซึ่งแม้โทนของสงครามการค้าจะเริ่มดีขึ้นก็ตาม แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ จึงทำให้เงินหยวนปรับตัวอ่อนค่า
· ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 62 ลงมาเหลือโต 3.7% จากเดิมที่ 4% เนื่องจากมองว่าได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่มีแนวโน้มอ่อนแรงลง ตามผลกระทบการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าที่สำคัญของไทย แม้ว่าประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นกว่าที่เคยคาดไว้ก็ตาม แต่มองว่าก็ยังกระทบกับการส่งออกของไทย และทำให้ต้องปรับลดประมาณการมูลค่าการส่งออกปีนี้ลงเหลือ 3.2% จากเดิมที่ 4.5%
สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 1.75% ตลอดทั้งปี 2562 เมื่อผนวกกับสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ที่ยังมีอยู่มาก และจังหวะการปล่อยสินเชื่อที่ยังค่อยเป็นค่อยไป ทำให้การแข่งขันด้านอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ยังไม่รุนแรง ส่วนทิศทางค่าเงินบาท คาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.20 - 31.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามยังคงเป็นปัจจัยในประเทศ ทั้งสถานการณ์การเมืองไทยและเศรษฐกิจไทย
· กระทรวงพาณิชย์ กำหนดธุรกิจเป้าหมายเพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบธุรกิจที่อาจมีความเชื่อมโยงกับชาวต่างชาติในการใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพรางหรือนอมินีมาอย่างต่อเนื่อง จำนวน 5 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย 1. ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องกับท่องเที่ยว 2.ธุรกิจค้าที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ การถือครองอสังหาริมทรัพย์ 3.ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร 4. ธุรกิจขนส่งสินค้า และ 5. ธุรกิจโฆษณา