กรณี Brexit ดูจะเป็นที่น่าสับสนสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่ถึงกระนั้น บรรดาธนาคารรายใหญ่ต่างพยายามที่จะคาดการณ์ว่า จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปสำหรับกรณีความตึงเครียดทางการเมืองครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์อังกฤษ
โดยเมื่อไม่นานมานี้ นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้พยายามผลักดันข้อตกลง Brexit ของเธอเป็นครั้งที่ 3 แต่ก็ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอจากรัฐสภา ขณะที่ทางรัฐสภาเองก็ล้มเหลวในการหาทางเลือก Brexit ถึง 2 ครั้ง
ล่าสุด นางเมย์ได้มีการเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อหารือแนวทางต่อไป ท่ามกลางกำหนดการถอนตัวของอังกฤษที่ใกล้เข้ามาอีกครั้งในวันที่ 22 เม.ย. นี้
สำหรับกรณีที่ผู้คนส่วนใหญ่คาดการณ์กันไว้สำหรับ Brexit มีอยู่หลายกรณีด้วยกัน ซึ่งก็คือ การถอนตัวออกจากอียูแบบปราศจากข้อตกลง (No-deal Brexit) การจัดการเลือกตั้งทั่วไปก่อนกำหนด หรือการไม่ออกจากอียูเลย
ทั้งนี้ บรรดาธนาคารรายใหญ่มีความเห็นอย่างไรกับกรณี Brexit เรามาดูไปพร้อมๆกัน ดังต่อไปนี้:
Goldman Sachs
ทาง Goldman Sachs ได้เคยกล่าวไว้ว่า Brexit ได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจอังกฤษเป็นมูลค่าถึง 6 ร้อยล้านยูโร/สัปดาห์ นับตั้งแต่การลงประชามติเมื่อปี 2016 ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจชะลอตัวลงไปอยู่แถว 2.5%
ขณะที่ทางธนาคารคาดโอกาส 15% ที่จะเกิดกรณี No-deal Brexit และกรณีดังกล่าวจะทำให้ค่าเงินปอนด์อังกฤษอ่อนค่าลงไปได้ถึง 17%
ส่วนโอกาสที่จะไม่เกิด Brexit ขึ้นเลย ทางธนาคารมองไว้ที่ 35%
J.P. Morgan
J.P. Morgan มองว่า ความล้มเหลวที่จะผลักดันให้เกิดทางเลือก Brexit ของรัฐสภา อาจช่วยให้นายกรัฐมนตรีอาศัยช่องโหว่ดังกล่าว นำข้อตกลง Brexit ของเธอไปทำการลงมติเป็นครั้งที่ 4 ท่ามกลางเสียงสนับสนุนที่ดูจะมีมากขึ้นทุกๆครั้งที่รัฐสภาทำการลงมติในข้อตกลงของเธอ
สำหรับการลงมติทางเลือกของรัฐสภาที่อาจเกิดขึ้นอีกในสัปดาห์นี้ ทางธนาคารมองว่า รัฐสภาจะเอนเอียงไปทางตัวเลือก “Soft Brexit” มากขึ้น
ทั้งนี้ ทางธนาคารมองโอกาส 30% ที่จะเกิดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นก่อนกำหนด ส่วนโอกาสที่ข้อตกลงของนางเมย์จะได้รับเสียงสนับสนุนมากพอ และการขยายระยะเวลา Brexit ออกไปอีกครั้ง มองไว้ที่ 20% เท่ากัน ขณะที่การจัดการลงประชามติครั้งที่สอง และการถอนตัวแบบ No-deal มองโอกาสไว้ที่ 15% เช่นเดียวกัน
Citi
ทางธนาคาร Citi ไม่ได้คาดการณ์โอกาสสำหรับ Brexit ไว้เป็นตัวเลขแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ทางธนาคารได้กล่าวว่า รัฐสภาอังกฤษดูจะไม่เห็นด้วยกับกรณี No-deal Brexit อย่างแข็งกร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่มีรายงานว่า บรรดา ส.ส. กว่า 200 รายชื่อได้ส่งจดหมายไปยังนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้หลีกเลี่ยงที่จะยอมปล่อยให้เกิดกรณี No-deal ดังนั้นทางธนาคารจึงคาดว่า รัฐสภาจะไม่ปล่อยเกิดกรณี No-deal อย่างแน่นอน
สำหรับการจัดการเลือกตั้งทั่วไป ทางธนาคารมองว่าจะทำให้ความไม่แน่นอนยิ่งขยายตัวมากขึ้นเท่านั้น และอาจยิ่งเป็นการทำให้พรรค Scottish National Party มีเสียงในรัฐสภามากขึ้น
ส่วนกรณีที่นายกฯอาจนำข้อตกลงไปลงติเป็นครั้งที่ 4 ก็มองว่าจะล้มเหลวอีกครั้งเช่มเดิม
Deutsche Bank
ทาง Deutsche Bank มองว่าโอกาสที่จะเกิดกรณี No-deal อยู่ที่ 25% ขยายตัวจากเดิมที่ 20% และหากความสับสนเกี่ยวกับ Brexit ยังดำเนินต่อไป ก็จะยิ่งทำให้ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินยูโรมากขึ้นเรื่อย
นอกจากนี้ ทางธนาคารมองโอกาส 30% ที่การลงมติใดๆในรัฐสภาจะยังคงล้มเหลว และอาจจจำเป็นต้องมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งทางธนาคารมองว่า การจัดการเลือกตั้งจะเป็นเรื่องที่ดีต่อมุมมองทางเศรษฐกิจ
UBS
ทาง UBS มองว่า เป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่อังกฤษจำเป็นต้องมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นก่อนกำหนด
โดยปกติแล้วการเลือกตั้งในอังกฤษจะจัดขึ้นทุกๆ 5 ปี เว้นเสียแต่กรณีเกิดการลงมติไม่ไว้วางใจในรัฐบาล หรือมีเสียงสนับสนุนให้จัดการเลือกตั้งจาก 2 ใน 3 ของ ส.ส. ในรัฐสภาทั้งหมด
ซึ่งทางธนาคารมองว่า โอกาสเกิดกณีอย่างหลังมีความเป็นไปได้สูงกว่า เนื่องจากทางพรรคอนุรักษ์นิยมอาจต้องการวัดดวง เพื่อเพิ่มเสียงสนับสนุนให้กับฝั่งตัวเอง และผลักดันให้ข้อตกลง Brexit ของนางเมย์ผ่านไปได้ในที่สุด
ที่มา : CNBC