· ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงในช่วงเปิดตลาดยุโรป ขณะที่ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงไม่มากนัก แม้จะเผชิญแรงกดดันจากตัวเลขคำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีที่ออกมาไม่ค่อยดีนัก และส่งสัญญาณในเชิงลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจเยอรมนีก็ตาม
สำหรับข่าวที่ว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะพบกับนายหลิว เฮ่อ รองนายกรัฐมนตรีจีน ภายในวันนี้ ท่ามกลางสัญญาณความคืบหน้าของการเจรจาการค้า ดูจะไม่ค่อยส่งผลกระทบต่อตลาดมากนัก เนื่องจากตลาดน่าจะรอผลสรุปของการเจรจาทีเดียวไปเลยมากกว่า
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ค่อนข้างทรงตัวแถว 96.688 จุด ขณะที่ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวแถว 1.1235 ดอลลาร์/ยูโร และค่าเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยแถว 1.3178 ดอลลาร์/ปอนด์
ค่าเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นจากเมื่อคืนนี้ หลังจากรัฐสภาอังกฤษมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ป้องกันไม่ให้เกิดกรณี No-deal Brexit และจะพยายามเจรจากับทางอียู เพื่อขอขยายระยะเวลา Brexit ออกไปอีก จากกำหนดการล่าสุดในวันที่ 12 เม.ย.
ทางอีซีบีจะมีการเปิดเผยรายงานการประชุมครั้งที่ผ่านมาภายในคืนนี้ ซึ่งตลาดจะรอดูว่าอีซีบีมีความคิดเห็นต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนอย่างไร ขณะที่ทางฝั่งสหรัฐฯจะมีการรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ซึ่งตลาดก็จะให้ความสนใจอย่างมากเช่นกัน โดยเฉพาะหลังจากที่ตัวเลขจ้างงานโดย ADP ประกาศออกมาอย่างน่าผิดหวัง
USD/JPY: ทรงตัวกรอบแคบแถว 111 เยน/ดอลลาร์ สัญญาณเทคนิคเริ่มชี้ไปฝั่งขาขึ้น
· ค่าเงิน USD/JPY เคลื่อนอยู่ในกรอบแคบระหว่าง 111.35 – 111.60 เยน/ดอลลาร์ เนื่องจากตลาดมีความต้องการสินทรัพย์เสี่ยงมากกว่า จึงกดดันให้ค่าเงินเยนมีการเคลื่อนไหวที่ซบเซา
สำหรับภาพทางเทคนิค เมื่อวานนี้ค่าเงินยังมีแรงซื้อแถว 111.20 เยน/ดอลลาร์ และได้ ทำจุดสูงยกสูง (Higher high) บ่งชี้ถึงสัญญาณของทิศทางขาขึ้น จึงมีแนวโน้มที่ค่าเงินจะปรับขึ้นเหนือกรอบดังกล่าว และขึ้นไปได้จนถึง 112.13 เยน/ดอลลาร์ สำหรับภาพรวมระยะสั้น ค่าเงินมีมุมมองการเคลื่อนไหวในเชิง Sideway up ในกราฟ 4 ช.ม. ขณะที่สัญญาณ Indicators แม้จะบ่งชี้ไปในฝั่งขาขึ้น แต่ก็ไม่มีความแข็งแกร่งมากเท่าไหร่นัก
แนวรับ: 111.20 | 110.90 | 111.55
แนงต้าน: 111.70 | 112.05 | 112.40
GBP/USD Technical Analysis: ค่าเงินปอนด์ต้องยืนเหนือแนวต้าน 1.3200 / 1.3210 ให้ได้ ถึงจะมีโอกาสไปถึง 1.3270
· ค่าเงินปอนด์ในช่วงเช้าวันนี้ เคลื่อนไหวแถว 1.3175 ดอลลาร์/ปอนด์ ใกล้แนวต้านที่ 1.3200 / 1.3210 ปอนด์/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นแนวต้านของเส้นเทรนขาลงระยะยาว
สำหรับภาพทางเทคนิค ค่าเงินมีการเคลื่อนไหวในแดนบวกเหนือ 1.3160 ดอลลาร์/ปอนด์ ติดต่อกันเป็นวันที่ 3 แม้สัญญาณของขาขึ้นจะเริ่มอ่อนกำลังลงบ้างในกราฟราย 4 ช.ม. แต่ยังไม่กลับตัวเป็นทิศทางขาลงเสียทีเดียว เนื่องจากฝั่งขาลงถูกจำกัดโดยเส้นค่าเฉลี่ยราย 200 วันซึ่งมีการเคลื่อนไหวแบบไร้ทิศทาง และยังมีแรงหนุนไปในฝั่งขาขึ้นเนื่องจากเส้นค่าเฉลี่ย 20 วัน เคลื่อนไหวต่ำกว่าเส้น 200 วันไปในฝั่งขาขึ้น ภาพรวมทางเทคนิคส่วนใหญ่ขึงบ่งชี้ไปยังฝั่งขาขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าเงินปอนด์หลักๆจะมาจากความคืบหน้าของประเด็น Brexit หาใช่สัญญาณทางเทคนิคแต่อย่างใด
แนวรับ: 1.3120 | 1.3085 | 1.3040
แนวต้าน: 1.3200 | 1.3245 | 1.3285
· ยูโรถูกเทขายแถว 1.1250 หลังตัวเลขภาคโรงงานเยอรมนีออกมาอ่อนแอ หลังตัวเลขภาคโรงงานเยอรมนีประกาศออกมาอ่อนแอลงผิดคาม ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงมาแถว 1.1230 ยูโร/ดอลลาร์ ซึ่งแนวรับที่ 1.12 ดอลลาร์/ยูโร ยังสามารถรับการร่วงลงของราคาได้เช่นเดิม
· ความคืบหน้าล่าสุดจากการเจรจาการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ โดย Bloomberg รายงานว่า สหรัฐฯได้กำหนดเดดไลน์สำหรับจีนไว้ในปี 2025 เพื่อให้จีนดำเนินการตามข้อตกลงด้านการเข้าซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ รวมถึงการเปิดตลาดให้ผู้ประกอบการสหรัฐฯสามารถเข้าเป็นเจ้าของบริษัทในจีนได้
ขณะที่การเจรจาระหว่างตัวแทนจากสหรัฐฯ นำโดยนายโรเบิร์ต ไรท์ไฮเซอร์ ตัวแทนการค้าแห่งสหรัฐฯ และนายสตีเว่น มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ร่วมกับตัวแทนจากจีน นำโดย นายหลิว เฮ่อ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ยังคงดำเนินต่อไปตามกำหนดการในสัปดาห์นี้ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะสรุปข้อตกลงให้ได้ภายในไม่กี่วันข้างหน้า ขณะที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีกำหนดจะพบกับนายหลิว เฮ่อ ภายในวันนี้ด้วย
· นายแลรี คุดโลว์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจประจำทำเนียบขาว เปิดเผยว่า ระหว่างการเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีนเมื่อวานนี้ ทางจีนได้ยอมรับเป็นครั้งแรกว่าพวกเขารับรู้เกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญา และการบังคับถ่ายทอดเทคโนโลยี ว่าเกิดขึ้นจริงในเศรษฐกิจของพวกเขา ซึ่งนายคุดโลว์มองว่าเป็นสัญญาณที่ดีของการเจรจา เนื่องจากจีนได้ระบุว่าพวกเขาเปิดกว้างที่จะเจรจาต่อในหัวข้อดังกล่าว
ทั้งนี้ ในการเจรจาไม่มีการกล่าวถึงประเด็นของ Huawei ที่ต้องสงสัยว่ามีการใช้อุปกรณ์ของพวกเขาในการสอดแนมข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ตามที่สหรัฐฯกล่าวหา หรือประเด็นการจับกุมตัวเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ Huawei แต่อย่างใด
· นอกจากนี้ นายแลรี คุดโลว์ ยังได้เปิดเผยว่า การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนในสัปดาห์นี้ มีความคืบหน้าอย่างมาก และอาจพิจารณาขยายการเจรจาออกไปมากกว่ากำหนดการเดิมที่ 3 วัน
· นายฟิลลิป แฮมมอนด์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังแห่งอังกฤษ กล่าวว่า อังกฤษอาจพิจารณาขอขยายระยะเวลา Brexit ออกไปจากวันที่ 12 เม.ย. ภายใต้เงื่อนไขที่อังกฤษจะสามารถถอนตัวออกจากอียูได้ทันทีที่รัฐสภาสามารถหาข้อตกลงได้
ทางด้านนายฌ็อง คล็อด จุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการอียู ระบุว่า อังกฤษจะไม่สามารถขอขยายระยะเวลา Brexit ออกไปสั้นๆได้อีก เว้นเสียแต่ ทางรัฐสภาอังกฤษสามารถเสนอข้อตกลง Brexit ที่เป็นทางเลือกที่อียูเห็นว่าเหมาะสมได้ก่อนวันที่ 12 เม.ย.
· ธนาคารกลางอินเดียประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ตามคาด ขณะที่ยังคงมุมมองเชิง Neutral สำหรับแนวทางดำเนินนโยบายการเงินไว้ดังเดิม ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่ยังค่อนข้างทรงตัว
· ยอดคำสั่งซื้อของภาคอุตสาหกรรมแห่งเยอรมนีปรับตัวลดลงด้วยอัตราที่มากที่สุดในรอบกว่า 2 ปี ท่ามกลางผลกระทบจากปริมาณอุปสงค์จากต่างประเทศที่อ่อนแอ จึงยิ่งตอกย้ำถึงความกังวลว่าเศรษฐกิจยูโรโซนกำลังชะลอตัวลง
โดยยอดสั่งซื้อในเดือน ก.พ. ปรับลดลงไป 4.2% เทียบกับในเดือน ม.ค. ที่ชะลอตัวลง 2.1%
· ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงในวันนี้ โดยน้ำมันดิบ Brent อ่อนตัวลงแต่อยู่ไม่ห่างจากระดับสำคัญทางจิตวิทยาบริเวณ 70 เหรียญ/บาร์เรล โดยน้ำมันดิบ Brent อ่อนตัวลงมาประมาณ 2 เซนต์ ที่ 69.29 เหรียญ/บาร์เรล หลังจากที่ปรับขึ้นไปทำระดับสูงสุดนับตั้งแต่ 12 พ.ย. ที่ 69.96 เหรียญ/บาร์เรล
น้ำมันดิบ WTI ปรับลง 14 เซนต์ หรือ -0.2% ที่ 62.34 เหรียญ/บาร์เรล โดยอ่อนตัวลงจากระดับปิดสูงสุดตั้งแต่ช่วงพ.ย. เมื่อวานนี้ที่ 62.99 เหรียญ/บาร์เรล