· ค่าเงินดอลลาร์ค่อนข้างทรงตัวในวันนี้ ท่ามกลางแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ประกาศออกมาอ่อนแอติดต่อกัน ขณะที่ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นได้หนุนค่าเงินที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันอย่างดอลลาร์แคนาดาและดอลลาร์ออสเตรเรีย จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้ดอลลาร์เคลื่อนไหวอย่างจำกัด
โดยดัชนีดอลลาร์ปรับอ่อนค่าลง 0.05% แถว 97.001 หลังจากปรับลดลง 0.35% ในช่วงตลาดก่อนหน้า ซึ่งเป็นอัตราร่วงลงที่มากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.
· นักวิเคราะห์จาก Barclays ระบุว่า ค่าเงินดอลลาร์ได้แข็งค่าทำจุดสูงสุดไปตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่การรีบาวน์ขึ้นมาของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไม่ได้ช่วยหนุนค่าเงินดอลลาร์ เนื่องจากอัตราผลตอบแทนยังคงเคลื่อนไหวในแดนต่ำ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯอายุ 10 ปี รีบาวน์ขึ้นมาแถว 2.52% แม้จะห่างขึ้นมาจากระดับต่ำสุดในรอบ 15 เดือนที่ 2.34% แต่ยังต่ำกว่าระดับ 2.8% ที่เป็นระดับสูงสุดของช่วงต้นเดือน มี.ค.
· นักวิเคราะห์จาก State Street Bank ระบุว่า ปัจจัยหลักๆที่ส่งผลกระทบต่อตลาดค่าเงิน อย่างการเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีน และ Brexit ต่างไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวเท่าไหร่นักในช่วงต้นสัปดาห์นี้ ปัจจัยที่ดูน่าสนใจที่สุดในช่วงนี้ ดูจะเป็นกรณีที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นมาเสียมากกว่า
· ด้านค่าเงินยูโรทรงตัวแถว 1.1265 ดอลลาร์/ยูโร หลังแข็งค่าขึ้นมาได้ 0.4% เมื่อวานนี้ ขณะที่ค่าเงินปอนด์แข็งค่า 0.1% แถว 1.3078 ดอลลาร์/ปอนด์ ซึ่งยังเป็นการเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ บ่งชี้ถึงความไม่แน่ใจของตลาด เกี่ยวกับกรณี Brexit ที่ยังคงยืดเยื้อในรัฐสภาอังกฤษ
· อัพเดตความคืบหน้าเจรจาการค้าสหรัฐฯ – จีน
1. ทีมเจรจาสหรัฐฯ “ยังไม่พอใจ” กับผลเจรจาสัปดาห์ก่อน
2. ยังไม่กำหนดเวลาสรุปข้อตกลง เพื่อที่จะได้เจรจาแบบไม่เร่งรีบ
3. ยืนยันจะเจรจาผ่านโทรศัพท์ต่อในสัปดาห์นี้
· จีนตอบรับกับข้อเรียกร้องของสหรัฐฯอย่างไรแล้วบ้าง?
1. จีนเข้าซื้อสินค้าการเกษตรจากสหรัฐฯมากขึ้น โดยเฉพาะเมล็ดถั่วเหลือง ตามที่ตกลงไว้ตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค.
2. จีนเริ่มวางแผนนโยบายที่จะช่วยปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา และแผนเปิดตลาดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามามากขึ้น
3. จีนประกาศควบคุมการส่งออกยาในกลุ่ม เฟนตานิล ซึ่งเป็นสารเสพติดอันตราย ตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ โดยจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 พ.ค.
4.จีนยกเลิกขึ้นภาษีรถยนต์จากสหรัฐฯ นับตั้งแต่ประกาศสงบศึกการค้าชั่วคราว
· HSBC คาด มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน ที่มุ่งเน้นไปยังภาคเอกชนผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและภาษี จะช่วยพัฒนาให้เศรษฐกิจเติบโตได้ 6.6% ในปี 2019 และพัฒนาไปสู่ระดับที่สามารถ “เติบโตได้ด้วยตัวเอง” ต่อไป ซึ่งเป็นคาดการณ์ที่แตกต่างออกไปจากคาดการณ์ขององค์กรอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตได้ 6.2% ในปีนี้
· สำนักงานตัวแทนการค้าแห่งสหรัฐ เปิดเผยรายชื่อสินค้าจากยุโรปที่จะถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่ม ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ชิ้นส่วนอากาศยาน ไปจนถึงสินค้าในกลุ่มนมและไวน์ เป็นมูลค่ารวมกว่า 1.1 หมื่นล้านเหรียญ เพื่อตอบโต้กรณีต้องสงสัยว่า อียูมีการจ่ายเงินสนับสนุนบริษัท Airbus ที่เป็นผู้ผลิตอากาศยานรายใหญ่ของยุโรป คู่แข่งสำคัญของ Boeing ที่บริษัทของสหรัฐฯ
โดยรายงานจาก WTO ระบุว่า กรณีต้องสงสัยว่าอียูมีการจ่ายเงินสนับสนุน Airbus ทำให้เกิดผลเสียกับธุรกิจของสหรัฐฯเป็นมูลค่ากว่าหลายพันล้านเหรียญ ซึ่งกรณีดังกล่าวที่ดำเนินมานานกว่าทศวรรษตั้งแต่ปี 2004 จนปัจจุบันก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่ชัดเจนได้
· สำหรับตลาดยุโรป รายงานข่าวดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางสัญญาณความอ่อนแอของเศรษฐกิจยูโร ไม่ว่าจะมาจากตัวเลขการเติบโตของยูโรที่ชะลอตัว และความเชื่อมั่นของตลาดที่อ่อนแอ รายงานข่าวดังกล่าวจึงมีแนวโน้มที่จะยิ่งกดดันความเชื่อมั่นของตลาดยุโรปลงไปอีก
ขณะที่ภายในสัปดาห์นี้ องค์การ IMF และ World Bank จะมีการประชุมประจำปีขึ้น ซึ่งหัวข้อสำคัญน่จะหนีไม่พ้นประเด็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความเสี่ยงต่อระบบการเงินโลก ขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจน่าจะยังเป็นปัจจัยที่กดดันความเชื่อมั่นของทั้งตลาดสหรัฐฯ จีน และยุโรป ต่อในสัปดาห์นี้
· บรรดารัฐมนตรีในอียูแสดงความยินดีที่จะขยายระยะเวลา Brexit ให้กับอังกฤษอีก ภายใต้เงื่อนไขว่า นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ต้องเสนอแผนการดำเนินนโยบาย Brexit ระหว่างช่วงเวลาที่ถูกขยายออกไปอย่างชัดเจนเท่านั้น
ซึ่งบรรดารัฐมนตรีอียูได้มีการประชุมล่วงหน้า ก่อนที่บรรดาผู้นำประเทศในอียูทั้ง 27 ประเทศจะมีการประชุมขึ้นในวันพรุ่งนี้ เพื่อตัดสินว่าจะยอมขยายระยะเวลา Brexit ให้อีกหรือไม่
· ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน เนื่องจากตลาดยังคงตึงตัวอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปก การคว่ำบาตรอิหร่านและเวเนซูเวล่าโดยสหรัฐฯ รวมทั้งสถานการณ์สงครามทางการเมืองของลิเบีย
โดยราคาน้ำมันดิบ Brent แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปลายเดือพ.ย. ที่ระดับ 71.34 เหรียญ/บาร์เรล ก่อนที่จะลดลงมาที่บริเวณ 70.99 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.ปี 2018 ที่ระดับ 64.77 เหรียญ/บาร์เรล ก่อนที่จะย่อลงมาที่ระดับ 64.42 เหรียญ/บาร์เรล
CRUDE OIL TECHNICAL ANALYSIS
· ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นและทดสอบแนวต้านที่ระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือนแถว 63.59 – 64.88 เหรียญ/บาร์เรล ส่วนแนวต้านถัดไปอยู่ที่บริเวณ 66.09 – 67.03 เหรียญ/บาร์เรล หากราคาปรับตัวลง จะมีแนวรับเป็นเส้นเทรนขาขึ้นระยะยาวตั้งแต่เดือน ธ.ค. ซึ่งอยู่แถว 59.79 เหรียญ/บาร์เรล หากหลุดลงมาจะมีแนวรับถัดไปที่ 57.24-88 เหรียญ/บาร์เรล
WTI Technical Analysis: RSI ส่งสัญญาณ Overbought แถวแนวต้าน 64.75/80 เหรียญ/บาร์เรล
· ราคาน้ำมัน WTI กำลังเคลื่อนไหวแถว 64.50 เหรียญ/บาร์เรลก่อนเปิดตลาดยุโรปวันนี้ โดยตลอดปี 2019 ราคาน้ำมันยังคงการเคลื่อนไหวในทิศทางขาขึ้นมาได้ตลอด แต่สัญญาณจากเส้น RSI เริ่มบ้งชี้ถึงภาวะ Overbought จึงอาจกดดันราคาไม่ให้ขึ้นไปมากกว่านี้
แม้ราคาจะเคลื่อนไหวใกล้ระดับสูงสุดในรอบกว่า 5 เดือน ราคา WTI จำเป็นต้องปิดตลาดเหนือระดับ 64.75/80 เหรียญ/บาร์เรลให้ได้ ถึงจะมีโอกาสขึ้นต่อไป โดยจะมีแนวต้านถัดไปบริเวณ 65.80 และ 67.20 เหรียญ/บาร์เรล หากผ่านแนวต้านเหล่านี้ไปได้ ระยะยาวจะมีโอกาสขึ้นไปถึง 67.80 และ 70.00 เหรียญ/บาร์เรล
ในทางกลับกัน หากราคาไม่สามารถปิดเหนือ 64.80 เหรียญ/บาร์เรลจะมีโอกาสย่อตัวลงมา โดยมีแนวรับแรกที่ 63.70 เหรียญ/บาร์เรล ตามมาด้วย 62.80 เหรียญ/บาร์เรล
อย่างไรก็ตาม โอกาสที่ราคาจะย่อตัวลงมาต่ำกว่า 62.80 เหรียญ/บาร์เรลได้นั้นมีค่อนข้างต่ำ เนื่องจากยังมีเส้นค่าเฉลี่ยราย 200 วันที่ 61.30 เหรียญ/บาร์เรล รวมถึงเส้นเทรนขาขึ้นระยะยาว ทำหน้าทีเป็นแนวรับสำคัญคอยหนุนราคาอยู่
· นักวิเคราะห์จาก JTD Energy Services เตือนถึงความเสี่ยงที่ตลาดน้ำมันอาจเผชิญภาวะตึงตัวหนักกว่าเดิม หากเหตุความรุนแรงในลิเบียขยายตัวเกิดเป็นการโค่นล้มรัฐบาลลงเหมือนเมื่อปี 2011 ที่ผู้นำเผด็จการโมอัมมาร์ กัดดาฟี ถูกโค่นลงจากอำนาจ ท่ามกลางราคาน้ำมันที่กำลังเคลื่อนไหวใกล้ระดับสูงสุดในรอบหลายเดือน