· ค่าเงินยูโรปรับอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ หลังรายงานจากสมาชิกอีซีบีบางส่วนมีแนวคิดในเชิงผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น และตลาดรอคอยข้อมูลเศรษฐกิจจากจีน โดยดัชนีดอลลาร์ทรงตัวที่ 97.043 จุด หลังจากที่ช่วงต้นตลาดเคลื่อนไหวแถว 96.08 จุด ด้านค่าเงินยูโรทรงตัวที่ 1.12858 ดอลลาร์/ยูโร หรือปรับตัวลงจาก 0.2% และอยู่ห่างจากระดับแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 2 สัปดาห์ครึ่งที่ทำไว้เมื่อ 22 เม.ย. ที่ 1.1324 ดอลลาร์/ยูโร
ทั้งนี้ สมาชิกอีซีบีหลายราย มองว่าคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของยูโรโซนมีแนวโน้มเชิงบวกมากเกินไป ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจจีนจะอ่อนแอ และประสบกับภาวะตึงเครียดทางการค้า แม้ว่าภาพรวมจะมีมุมมองว่าในระยะยาวช่วงครึ่งหลังของปีนี้เศรษฐกิจของยูโรโซนน่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นก็ตาม
อย่างไรก็ดี นักลงทุนเฝ้ารอคอยการเปิดเผยข้อมูลดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการของยุโรปในวันพรุ่งนี้ ว่าจะมีสัญญาณการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างไร
สำหรับค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลงไปแตะ 1.3070 ดอลลาร์/ปอนด์ หลังจากที่สำนักข่าว The Guardian รายงานว่า การพูดคุยกันระหว่างนางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กับผู้นำพรรคแรงงานในการหารือเรื่อง Brexit ดูจะยังชะงักงัน ขณะที่พรรคแรงงานได้ออกมาปฏิเสธต่อรายงานดังกล่าว
นอกจากนี้ กลุ่มนักลงทุนยังรอคอยข้อมูลเศรษฐกิจของจีน อันได้แก่ การประกาศจีดีพีในวันนี้ ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลก แม้ว่ายอดส่งออกและความน่าเชื่อถือของจีนในสัปดาห์ที่ผ่านมาข้อมูลดูจะมีเสถียรภาพมากขึ้นก็ตาม
· ตราสารหนี้สหรัฐฯอ่อนตัวลงท่ามกลางการประกาศผลประกอบการบริษัทที่แข็งแกร่งและหนุนให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ปรับขึ้น 1.45% ที่ 2.589% ถือเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ 20 มี.ค. ขณะที่อัตราผลตอบแทนอายุ 30 ปี ปรับขึ้น 0.92% ที่ 2.9923%
กลุ่มนักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นหลังผลประกอบการไตรมาสแรกของบริษัทรายใหญ่ในสหรัฐฯ อาทิ UnitedHealth Group และ Johnson&Johnson ออกมาดีขึ้นและหนุนให้หุ้นสหรัฐฯกลับมาแข็งแกร่ง ขณะที่ผลประกอบการภาคธนาคารอย่าง Bank of America และ BlackRock ก็ปรับขึ้นได้เกินคาดเช่นกัน
· ยอดส่งออกญี่ปุ่นปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ในเดือนมี.ค. ที่ระดับ 2.4% จากคาดการณ์ที่ 2.7% ท่ามกลางการปรับตัวลงของการขนส่งสินค้าจากจีน ประกอบกับอุปสงค์ภายนอกประเทศที่อ่อนแอ และจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการภาคบริษัท และทำให้ภาคธุรกิจต้องกลับมาควบคุมค่าใช้จ่าย ค่าแรง และกระทบถึงค่าใช้จ่ายในกลุ่มผู้บริโภค จึงมีแนวโน้มจะกดดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสแรกได้
· รายงานล่าสุดเช้านี้จากรอยเตอร์ส ระบุว่า นายมาซาโยชิ อมามิยะ รองผู้ว่าการบีโอเจ ทางธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือ BoJ เตรียมที่จะใช้เครื่องมือทางการเงิน หากวิกฤตทางการเงินเข้าคุกคามเสถียรภาพของระบบภาคธนาคารในประเทศ
· การประชุมไอเอ็มเอฟ ที่ผ่านมาล่าสุด พบว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายของไอเอ็มเอฟ ยืนยันว่า จำเป็นต้องแก้ไขความขัดแย้งทางการค้า พร้อมเรียกร้องให้สหรัฐและจีนบรรลุข้อตกลงการค้าเพื่อยุติการตอบโต้ทางภาษีของแต่ละฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมระบุว่า การแลกเปลี่ยนและลงทุนในสินค้าและบริการอย่างอิสระ ยุติธรรม และได้ผลประโยชน์ร่วมกันคือปัจจัยหลักสำหรับการขยายตัวและการสร้างงาน ด้วยเหตุนี้ เราเชื่อว่าจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการค้า
· ราคาน้ำมันดิบปิดปรับตัวสูงขึ้น อันเนื่องจากเหตุปะทะกันในลิเบีย ขณะที่เวเนซุเอล่าและอิหร่านมีมียอดส่งออกน้ำมันลดลง จึงยิ่งเพิ่มความกังวลต่อภาวะอุปทานตึงตัวของตลาดโลก และความไม่แน่นอนทั้งหมดดูจะยังจำกัดให้กลุ่มโอเปกยังไม่เพิ่มกำลังการผลิต
น้ำมันดิบ WTI ปิดปรับขึ้น 65 เซนต์ ที่ 64.05 เหรียญ หรือปิด +1% หลังไปทำระดับสูงสุดระหว่างวันได้ที่ 64.79 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ 1 พ.ย. ขณะที่น้ำมันดิบ Brent ปิดปรับขึ้น 54 เซนต์ ที่ 71.72 เหรียญ/บาร์เรล หลังจากที่วันศุกร์ที่แล้วไปทำระดับสูงสุดรอบ 5 เดือนที่ 71.87 เหรียญ/บาร์เรล