· ตลาดหุ้นสหรัฐฯในคืนวันอังคาร ปิดในแดนบวกจากหุ้น Apple ที่ปรับขึ้นเกือบ 5% หลังประกาศผลประกอบการรายไตรมาสออกมาสดใส โดยดัชนีดาวโจนส์ปิด +0.15% ที่ 26,592.91 จุด ดัชนี S&P 500 ปิด +2.8% ที่ระดับ 2,945.83 จุด ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิด -0.66% ที่ 8,095.39 จุด
ในภาพรวมรายเดือน ดัชนีดาวโจนส์ปิด +2.6% ดัชนี S&P 500 ปิด +3.9% และ ดัชนี Nasdaq ปิด +0.49% ซึ่งทั้ง 3 ดัชนีปิดในแดนบวกด้วยอัตรารายเดือนที่มากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค.
· เมื่อวานนี้ดัชนีดาวโจนส์ปิดลงไปกว่า 162.77 จุด ที่ 26,430.14 จุด ทางด้าน S&P500 ปิด -0.8% ที่ 2,923.73 จุด หลังจากไปทำ All-Time High และดัชนี Nasdaq ปิด -0.6% ที่ 8,049.64 จุด โดยเรียกได้ว่าดัชนี S&P500 เมื่อวานนี้ปิดระดับวันแย่ที่สุดตั้งแต่ 22 มี.ค. หลังทราบผลประชุมเฟดที่ยังคงดอกเบี้ย และอาจไม่มีการเปลี่ยนนโยบายใดๆในช่วงนี้
· ตลาดหุ้นเอเชียเปิดผสมผสานกันในเช้านี้ ตามผลการตัดสินใจของเฟดที่ยังคงนโยบายดอกเบี้ย และยังไม่มีการตัดสินใจในเรื่องการปรับลดดอกเบี้ยในเร็วๆนี้ โดยดัชนี Kospi ของเกาหลีใต้เปิด -0.18% และดัชนี ASX200 เปิด -0.62%
· สำหรับตลาดจีนจะปิดทำการยาวจนถึงวันที่ 3 พ.ค. เนื่องในวันแรงงาน ขณะที่ญี่ปุ่นเข้าสู่ช่วง Golden Week ในการเฉลิมฉลองการเปลี่ยนแปลงยุคสมัยสู่ยุค “เรวะ”
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสต์
- นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.85 - 32.00 บาท/ดอลลาร์
- ธปท. ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยเดือน มี.ค.62 ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อน โดยอุปสงค์ต่างประเทศหดตัว ทั้งการส่งออกสินค้าและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ด้านอุปสงค์ในประเทศ เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัว การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวเล็กน้อยจากรายจ่ายประจำที่เร่งเบิกจ่ายไปในช่วงก่อนหน้า และเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวจากทั้งการลงทุนในหมวดก่อสร้าง และหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์
นอกจากนี้ มองว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/62 ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อน โดยการส่งออกหดตัวในหลายหมวดจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอลง ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวตาม ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวชะลอลง ส่วนหนึ่งผลจากฐานที่สูงในปีก่อน โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีน อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ในประเทศโดยรวมยังขยายตัวดี โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในทุกหมวดการใช้จ่าย และการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากรายจ่ายประจำ ส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวเล็กน้อย
- ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/62 คาดว่าจะขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ที่ 3.4% และชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการส่งออกหดตัวในหลายหมวดสินค้า จากอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอตัวลง โดยการส่งออกหดตัว 3.6% และมีแนวโน้มที่การส่งออกในไตรมาส 2/62 จะขยายตัวติดลบต่อเนื่อง แต่จะปรับตัวดีขึ้นดังนั้น กรณีที่เกิดขึ้นอาจทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งปี 62 มีแนวโน้มจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ 3.8% ขณะที่การส่งออกทั้งปีคาดว่าจะต่ำกว่าที่ประเมินไว้ที่ 3% ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพิจารณาตัวเลขประมาณการอีกครั้ง
- ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติมาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี แบ่งมาตรการได้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกช่วยเหลือผ่านผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ให้เงินเพิ่มในค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น เบี้ยคนพิการ, ปัจจัยการผลิตสินค้าเกษตร, ค่าชุดนักเรียนและอุปกรณ์การศึกษา, การเพิ่มกำลังซื้อในร้านธงฟ้า รวมวงเงิน 13,200 ล้านบาท และกลุ่มสอง เป็นมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้จ่ายในประเทศ และระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมาตรการทั้ง 2 กลุ่มนี้ คาดว่าจะช่วยดัน GDP ในปีนี้เพิ่มขึ้นอีก 0.1% เป็น 3.9%