· ตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดปรับตัวสูงขึ้นตามข่าวที่สหรัฐฯประกาศผ่อนคลายการแบนบริษัท Huawei เป็นการชั่วคราว โดยจะอนุญาตให้บริษัท Huawei ยังเข้าซื้อสินค้าของอเมริกาได้เพื่อรักษาการเชื่อมต่อเน็ตเวิร์ค และการอัพเดตอุปกรณ์ซอฟต์แวร์ต่างๆออกไปจนถึง 19 ส.ค.นี้ โดยดัชนีดาวโจนส์ปิด +197.43 จุด ที่ระดับ 25,877.33 จุด ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิด +0.9% ที่ 2,864.36 จุด ท่ามกลางหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ปิด +1.2% และดัชนี Nasdaq ปิด +1.1% ที่ 7,785.72 จุด
· หุ้นกลุ่มบริษัทด้านแร่แรร์เอิร์ธ หรือแร่หายากปรับตัวขึ้นหลังจากที่ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนมีการเยี่ยมชมโรงงานผลิตทางตอนใต้ของประเทศจีน ที่ก่อให้เกิดกระแสคาดการณ์กันว่าน่าจะเป็นเครื่องมือที่จีนจะนำมาใช้โต้ตอบกับทางสหรัฐฯในเรื่อง Trade War โดยจะเห็นได้ว่าหุ้นบริษัทผู้ผลิตกว่า 20 แห่งจาก 10 ประเทศ อันรวมถึง จีน, ออสเตรเลีย และแคนาดา ดีดตัวขึ้นกว่า 6.4% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นของหุ้นแร่หายากมากที่สุดในระดับวันนับตั้งแต่ ต.ค. ปี 2011 ขณะที่ในฮ่องกง หุ้นบริษัทไชน่า แรร์เอิร์ธ โฮลดิ้งส์ ปรับพุ่งขึ้นได้กว่า 80%
· หุ้นยุโรปปิดปรับขึ้นจากตึงเครียดทางการค้าที่ผ่อนคลายลงไปบ้างระหว่างสหรัฐฯและจีน โดยดัชนี Stoxx600 ปิด +0.5% ขณะที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปิดปรับขึ้นได้กว่า +1.6%
· หุ้นเอเชียเปิดบวกในเช้านี้ตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ แม้ว่าจะมีประเด็นตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนให้ต้องติดตามต่อ โดยดัชนีนิกเกอิเปิด +0.39% ด้านดัชนี Topix เปิด +0.31% ขณะที่ Kospi ของเกาหลีใต้เปิด +0.79% และดัชนี ASX200 เปิดแดนบวกเช่นกัน
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- นักบริหารเงิน กล่าวว่า เงินบาทยังมีโอกาสอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ไว้ที่ 31.85 - 32.00 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทอ่อนค่าตั้งแต่เมื่อวาน หลังสภาพัฒน์ประกาศตัวเลข GDP ต่ำกว่าคาด ขณะที่มีแรงซื้อดอลลาร์ในตลาดโลกจากความกังวลปัญหาสงครามการค้า รวมไปถึงกรณีหัวเว่ย
- สภาพัฒน์เผย เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2562 ขยายตัว 2.8% เทียบกับการขยายตัว 3.6% ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ทั้งปี 62 คาด GDP จะโตที่ 3.6% จากประมาณการอัตราเติบโตทั้งปีนี้คาดการณ์ในระดับ 3.3-3.8% โดยเป็นการปรับกรอบจากครั้งก่อนที่ 3.5-4.5%
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ไว้ที่ 3.7% เพื่อรอประเมินปัจจัยความไม่แน่นอนทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ ซึ่งหากสถานการณ์ลากยาวออกไป จะส่งผลกระทบให้ GDP ทั้งปี 2562 ขยายตัวโน้มเข้าสู่กรอบล่างของประมาณการที่ 3.2-3.9%
- ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี แถลงปรับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 62 เหลือ 3.0% จากเดิม 3.5% เหตุตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกชะลอมากกว่าคาด ทำให้แรงส่งต่อไปยังในช่วงที่เหลือมีจำกัด แม้ความเชื่อมั่นและบรรยากาศการลงทุนมีแนวโน้มปรับดีขึ้นหลังจากจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ขณะที่ยังมีแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกสงครามการค้า จึงยากที่จะเห็นการส่งออกกลับมาขยายตัวในปีนี้
- ธปท. เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากภาคต่างประเทศเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าของสหรัฐฯ-จีน ที่อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตและการใช้จ่ายภาคเอกชน
- นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลกระทบกรณีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนว่า รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นพิเศษ แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบกับไทยมากนัก
- ธปท. เผย สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1/62 ขยายตัวชะลอลงจาก 6.0% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 5.6% โดยเป็นการชะลอตัวตามสินเชื่อธุรกิจจากการชำระคืนหนี้ของลูกหนี้บางรายในภาคอุตสาหกรรมและบริการที่หันไประดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้มากขึ้น อย่างไรก็ดี สินเชื่ออุปโภคบริโภคยังขยายตัวดีในทุกพอร์ต สอดคล้องกับการบริโภคที่ขยายตัวดี และเป็นผลจากการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดสินเชื่อรายย่อย รวมทั้งมีการเร่งปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยก่อนมาตรการ Loan To Value (LTV) มีผลบังคับใช้ สำหรับปี 62 คาดว่าสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ จะขยายตัวได้ 5-6%