· ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลดลง ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับประเด็นสงครามทางการค้าที่กดดันความเชื่อมั่นของเหล่านักลงทุน ขณะที่ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลงจึงช่วยหนุนดัชนีบลูชิพของลอนดอน
โดยดัชนี Stoxx600 ลดลง 0.1% ขณะที่ดัชนี DAX เยอรมันนี ลดลง 0.2%
· ตลาดหุ้นเอเชียเผชิญแรงกดดันทางสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้น แม้รัฐบาลสหรัฐฯประกาศผ่อนคลายมาตรการจำกัดธุรกรรมกับหัวเว่ย โดยอนุญาตให้สามารถดำเนินการค้ากับผู้ประกอบการสหรัฐฯเพื่อรักษาการบริการด้านเครือข่ายให้คงอยู่ต่อไปก็ตาม
ตลาดจีนซึ่งได้รับผลกระทบจากความผันผวนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ท่ามกลางการระมัดระวังการลงทุนของเหล่าเทรดเดอร์ ขณะที่ดัชนี Shanghai Composite ปรับตัวลดลงในช่วงท้าย
ดัชนี MSCI ที่ไม่รวมหุ้นญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.1%
นักกลยุทธ์อาวุโสประจำ Sumitomo Mitsui DS Asset Management ระบุว่า นักลงทุนในตลาดบางส่วนคาดหวังเกี่ยวกับสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่อาจจะบรรลุข้อตกลงในการประชุม G20 ที่กำลังจะมาถึง โดยผู้นำประเทศของกลุ่ม G20 มีกำหนดประชุมกันที่นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 28-29 มิ.ย.เพื่อหารือประเด็นต่างๆในระดับโลก อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งทางการค้าอย่างต่อเนื่องดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ยืดเยื้อและผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศต่างๆกลายเป็นความกังวลที่กำลังดำเนินอยู่
· ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางความระมัดระวงัการลงทุนในตลาด หลังข้อมูลยอดส่งออกประจำเดือนเม.ย.ลดลงอีกครั้ง จึงไปกดดันสัญญาณการเติบโตทางเศรษฐกิจ
โดยแสดงให้เห็นว่าการส่งออกของญี่ปุ่นประจำเดือนเม.ย.ลดลงติดต่อกันเป็นเวลา 5 เดือน แม้ว่ายอดสั่งซื้อเครื่องจักรจะฟื้นตัวในทิศทางที่ไม่คาดคิด แต่เศรษฐกิจกลับแย่ลง
ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มส่งออกและกลุ่มเทคโนโลยีเพิ่มสูงขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ และดัชนี Nikkei ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย 0.1% ที่ระดับ 21,283.37 จุด
หลังจากซื้อขายในกรอบแคบเนื่องจากความเชื่อมั่นของเหล่านักลงทุนยังคงเปราะบางเกี่ยวกับประเด็นการเจรจาการค้าสหรัฐฯและจีน
· ตลาดหุ้นจีนปิดแดนลบ หลังมีรายงานว่าสหรัฐฯอาจพิจารณาคว่ำบาตรบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆของจีนนอกเหนือจาก Huawei ที่ประกาศคว่ำบาตรไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยดัชนี Shanghai Composite ปิด -0.5% ที่ระดับ 2,891.70 จุด ขณะที่ดัชนีหุ้นกลุ่มบลูชิปปิด -0.5% ที่ระดับ 3,649.38 จุด
อ้างอิงจากสำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ
· รายงานการประชุม กนง ฉบับล่าสุด. ระบุว่า ระบบการเงินยังมีความเสี่ยงบางจุดสร้างความเปราะบางต่อระบบการเงินในอนาคต เห็นควรให้ใช้เครื่องชี้ด้านเสถียรภาพระบบการเงินที่หลากหลาย พร้อมจับตาปัจจัยภายในและนอกประเทศมีผลต่อเศรษฐกิจระยะปานกลาง
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯประเมินว่าความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีพัฒนาการที่ดีขึ้นโดยเฉพาะจากเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวดีกว่าที่ประเมินไว้รวมช้างโอกาสที่สหราชอาณาจักรอาจออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลงลดลงแต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงผลของการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนตลอดจนมาตรการภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนของสหรัฐซึ่งจะมีนัยต่อการผลิตการจ้างงานและการส่งออกของไทยในระยะต่อไป
อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกและปัจจัยในประเทศโดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่อาจทวีความรุนแรงในระยะข้างหน้าและส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยใน3 ด้าน ได้แก่
1 . เศรษฐกิจและการค้าจะชะลอตัวลงและส่งผลต่อไทยผ่านการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุน
2. ด้านการค้าโดยสินค้าไทยที่ส่งไปประกอบในจีนและเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตที่ส่งออกต่อไปยังตลาดสหรัฐจะได้รับผลกระทบ แต่ขณะเดียวกันสินค้าที่ได้รับประโยชน์จะเป็นกลุ่มที่สามารถส่งออกไปยังตลาดสหรัฐเพื่อทดแทนสินค้าจากจีน
3. ด้านการลงทุนซึ่งผู้ประกอบการอาจย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียนและไทย ทั้งนี้คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐและจีนเป็นความเสี่ยงที่สำคัญและยังมีความไม่แน่นอนสูงจึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและวิเคราะห์ผลกระทบเชิงลึกมากขึ้น รวมทั้งเห็นว่า สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือการระบายสินค้าจากจีนมาสู่ประเทศที่3 รวมถึงไทย
อ้างอิงจากสยามรัฐฯ
· ธปท. ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากต่างประเทศเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าของสหรัฐฯ และจีนที่อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตและการใช้จ่ายภาคเอกชน
ทั้งนี้ สศช.ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปี 2562 ขยายตัวที่ 2.8% จากระยะเดียวกันปีก่อนนั้น ตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าที่ ธปท.ประเมินไว้ในรายงานนโยบายการเงิน รอบเดือนมี.ค.62 แต่ถือว่าใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมกนง. เมื่อวันที่ 8 พ.ค.62
โดยปัจจัยหลักมาจากการลดลงของการส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้จ่ายภาคเอกชน ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัว 4.6% และ 4.4% จากระยะเดียวกันปีก่อนตามลำดับ ทั้งนี้ ธปท.จะประเมินและเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้ง ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 26 มิ.ย.62