· ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวขึ้นได้เล็กน้อย โดยเป็นการรีบาวน์กลับหลังจากที่ปิดลบในคืนก่อน โดยตลาดยังคงมีแรงกดดันจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกและข้อขัดแย้งทางการค้าอยู่
ดัชนีดาวโจนส์ปิดปรับขึ้นได้เพียง 43.47 จุด ที่ระดับ 25,169.88 จุด ขณะที่ S&P500 ปิด +0.2% ที่ 2,788.86 จุด และ Nasdaq ปิดปรับขึ้น 0.3% ที่ 7,567.72 จุด
อย่างไรก็ดี การปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรราย 10 ปีของสหรัฐฯที่ไปแถวระดับต่ำสุดรอบ 20 เดือน ก็ดูจะเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นแดนลบเช่นกัน เนื่องจากจุดประกายความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลก
· ตลาดหุ้นเอเชียเปิดแดนบวกในวันนี้ ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนจะยังดูจะทวีความตึงเครียดระหว่างกัน โดยดัชนีนิกเกอิเปิด -0.82% ทางด้านหุ้น Topix เปิด -0.76% และหุ้นออสเตรเลียเปิดทรงตัว ทางด้าน Kospi ของเกาหลีใต้เปิด -0.78%
· หุ้นของกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ในตลาดญี่ปุ่นปรับตัวลดลงอย่างหนักหลังสหรัฐฯประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าทุกรายการจากเม็กซิโก โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป เนื่องจากนโยบายขึ้นภาษีน่าจะส่งผลกระทบต่อฐานการผลิตรถยนต์ในเม็กซิโก
ทั้งนี้ หุ้น Toyota, Nissan และ Honda ต่างปรับลดลงไปประมาณ 3% หรือมากกว่า ขณะที่หุ้น Mazda ปรับร่วงเกือบ 7% ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์ทั้ง 4 ต่างมีฐานการผลิตรถยนต์อยู่ในเม็กซิโกทั้งสิ้น
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.75 - 31.90 บาท/ดอลลาร์
- กระทรวงการคลังไทย เตรียมทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2562 อีกครั้งในเดือนก.ค. จากที่ได้ปรับคาดการณ์ GDP ปีนี้เหลือโต 3.8% และตัวเลขการส่งออกขยายตัวได้ 3.4% ไปแล้ว โดยยังต้องมีการติดตามข้อมูลเศรษฐกิจด้านต่างๆ อย่างใกล้ชิด ขณะที่ทิศทางการส่งออกช่วงครึ่งแรกของปีนี้ประเมินว่าจะติดลบ เนื่องจากในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.62) ภาพรวมการส่งออกติดลบ1.9% โดยปัจจัยเสี่ยงหลักที่มีผลต่อการส่งออกของไทย ได้แก่ ปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และปัญหาความรุนแรงของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน
นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง เผยช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 (ต.ค.61-เม.ย.62) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิจำนวน 1,345,774 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 43,761 ล้านบาท หรือ 3.4% และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 35,378 ล้านบาท หรือ 2.7% โดยเป็นผลจากการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร กรมศุลกากร และหน่วยงานอื่นสูงกว่าประมาณการ รวมถึงการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจก็สูงกว่าประมาณการ
- สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เผยเศรษฐกิจไทยเดือนเม.ย.62 ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องตามการใช้จ่ายในประเทศ ผ่านการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม การนำเข้าสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภค และยอดจำหน่ายรถยนต์นั่ง ประกอบกับการกลับมาขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ นำโดยนักท่องเที่ยวจากอินเดีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ขณะที่การส่งออกสินค้ายังหดตัว -2.6% ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับที่มั่นคงทั้งภายในและภายนอก
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า กรณีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เปิดเผยรายงานนโยบายเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าหลักของสหรัฐฯ รอบครึ่งปี ซึ่งสำหรับประเทศไทยนั้น ไม่ติดอยู่ใน Monitoring List ในรายงานฯ รอบนี้ โดยสถานการณ์นี้ไม่กระทบต่อการค้าของไทยโดยตรง แต่การที่มีหลายประเทศในอาเซียนติดอยู่ในบัญชีที่ต้องจับตา เป็นสัญญาณว่าไทยก็มีความเสี่ยงที่จะถูกจับตาอย่างใกล้ชิดมากขึ้นในอนาคตจากการที่ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ใกล้เคียงกับเกณฑ์ที่ 2.0 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ