· ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าทำระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ ท่ามกลางกระแสคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่กดดันอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ขณะที่ภาพรวมตลาดการเงินยังมีความกังวลต่อแนวโน้มที่เศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวลง
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯอายุ 10 ปี ปรับลดลงทำระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. ปี 2017 ใกล้ระดับ 2% หลังประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ ออกมากล่าวถึงความเป็นไปได้ที่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะเกิดขึ้น “ในเร็วนี้” ท่ามกลางภาวะความตึงเครียดทางการค้าและอัตราเงินเฟ้อที่อ่อนแอ
ค่าเงินเยนที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ปรับแข็งค่า 0.2% ที่ระดับ 107.848 เยน/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับแข็งค่าสุดนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ม.ค.
ขณะที่ดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าลง 0.1% หลุดระดับ 97 จุด เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.
ด้านค่าเงินยูโรแข็งค่า 0.3% บริเวณ 1.1274 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย. โดยมีแรงหนุนมาจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ขณะที่ตลาดจะจับตาการประชุมอีซีบีวันพฤหัสบดีนี้ รวมถึงตัวเลขเงินเฟ้อของยูโรโซนที่จะประกาศในช่วงเย็นวันนี้
ยูโรแข็งค่าต่อ ท่ามกลางกระแสคาดการณ์เฟดปรับลดดอกเบี้ย
· ค่าเงินยูโรเมื่อเทียบกับดอลลาร์เคลื่อนไหวเหนือระดับ 1.1250 ดอลลาร์/ยูโร โดยเป็นการเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าต่อจากเมื่อวานนี้ หลังสมาชิกเฟดออกมาส่งสัญญาณถึงความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้นี้ ขณะที่ตลาดจะให้ความสนใจไปยังการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อของยูโรโซนเป็นอันดับต่อไป
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯที่ปรับลดลงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่หนุนการแข็งค่าของค่าเงินยูโร อย่างไรก็ตาม ค่าเงินอาจไม่สามารถเคลื่อนไหวในทิศทางขาขึ้นต่อได้ หากตัวเลขเงินเฟ้อยูโรโซนวันนี้ ประกาศออกมาน่าผิดหวัง
ทั้งนี้ ค่าเงินยูโรสามารถปรับแข็งค่าขึ้นมาได้เมื่อวานนี้ถึง 0.64% ปิดตลาดที่ 1.1240 ดอลลาร์/ยูโร ทำให้ระยะสั้นกลับมาเป็นทิศทางขาขึ้น หลังจาก Break เส้นเทรนขาลงระยะยาวตั้งแต่ระดับสูงสุดของวันที่ 17 เม.ย. – 13 พ.ค. และระดับต่ำสุดของวันที่ 26 เม.ย. – 23 พ.ค.
หากค่าเงินยังคงทิศทางขาขึ้นต่อได้ เป้าหมายต่อไปจะอยู่ที่ระดับ 1.1277 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งเป็นเส้นค่าเฉลี่ยราย 50 วัน
· FXStreet ระบุว่า แนวโน้มภาคการผลิตสหรัฐฯอ่อนตัวลงทำระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. ปี 2016 ตั้งแต่ท่ี่สหรัฐฯมีข้อพิพาททางการค้าร่วมกับจีน ที่ดูจะส่งผลให้ต้องมีการกลับมาพิจารณาการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกและสหรัฐฯใหม่อีกครั้ง
สถาบันจัดการด้านอุปทานหรือ ISM เผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตปรับตัวลงแตะ 52.1 จุดในเดือนพ.ค. จากเดิมที่ระดับ 52.8 จุดในเดือนเม.ย. และน้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 53 จุด
ทั้งนี้ แนวโน้มเชิงบวกของภาคธุรกิจเริ่มจะมีการปรับตัวลงจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์บริเวณ 61.3 จุดในเดือนส.ค. ปีที่แล้ว ก่อนที่รัฐบาลสหรัฐฯจะเผชิญกับภาวะ Shutdown ในช่วงเดือนม.ค.ที่ผ่านมาและดูจะฉุดดัชนีความเชื่อมั่นให้สั่นคลอน โดยดัชนี PMI ตกลงแตะ 54.3 จุด เมื่อเดือนธ.ค. ก่อนจะกลับมาได้ที่ 56.6 จุดในเดือนม.ค. และกลับมาทำต่ำสุดอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่าในปีที่แล้วแม้จะมีประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน แต่แนวโน้มของภาคการผลิตก็ยังดูจะสดใส แต่ก็จะเห็ฯการเดินหน้าเจรจารักษาความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศอยู่ ในขณะที่ต้นเดือน พ.ค. สหรัฐฯก็มีการตำหนิจีนที่ไม่รักษาสัญญาในการแก้ปัญหาหลักหลายๆจุด และทำให้นายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจีนจาก 10% เพิ่มเป็น 25% และ ณ ปัจจุบันก็ยังไม่มีวี่แววที่ทั้งสองฝ่ายจะกลับมาเจรจาทางการค้าร่วมกันอีกครั้ง แม้ว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้ง 2 ประเทศจะพบกันในการประชุม G20 ณ ประเทศญี่ปุ่นในเดือนนี้ และมีความเป็นไปได้ที่จะเห็น "ทรัมป์" และ "สี จิ้นผิง" พบกันอีกครั้ง
· กระแสคาดการณ์เกี่ยวกับการที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ย และการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯที่ดิ่งลง ดูจะฉุดให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ท่ามกลางค่าเงินปอนด์ที่รอจะไปต่อหลังจากที่ขึ้นมาแถว 1.2665 ดอลลาร์/ยูโร ก่อนที่ตลาดลอนดอนจะเปิด
ความกังวลเรื่องความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ดูจะกดดันภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก และทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐฐาลสหรัฐฯดิ่งลงไปทำระดับต่ำสุดใหม่รอบ 20 เดือนเมื่อวานนี้ ก่อนจะรีบาวน์กลับได้ประมาณ 2% มาแถว 2.107% อีกครั้ง
แรงกดดันดอลลาร์ในทิศทางอ่อนค่ายังมาจากการที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ชะลอตัวจะกดดันให้เฟดต้องผ่อนคลายนโยบายที่คุมเข้มทางการเงิน และน่าจะประกาศปรับลดดอกเบี้ยภายในปีนี้
ขณะที่ประเด็นทางการเมือง จากกรณีที่นายทรัมป์เดินทางเยือนอังกฤษเป็นระยะเวลา 3 วัน และน่าจะมีการผลักดันให้รัฐบาลอังกฤษทำการต่อต้านบริษัท Huawei ของจีน ขณะที่นางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษมีกำหนดการจะเข้าพบกับผู้นำสหรัฐฯในวันนี้
· ทางด้านกรณี Brexit ก็ยังคงไม่สามารถหาทางออกได้ และนางเมย์ก็จะลาออกจากตำแหน่งในช่วงปลายสัปดาห์นี้ เพื่อถอยให้กับผู้จะมาดำรงตำแหน่งนายกฯคนต่อไป ที่อาจมีความเป็นไปได้จะก่อให้เกิดกรณี Hard Brexit มากขึ้น โดยคนนั้นคือ นายบอริส จอห์นสัน และการมาของสมาชิกรัฐสภาอังกฤษ นายไนเจล ฟาราจ
สำหรับค่าเงินปอนด์นั้น ในทางเทคนิคหาก Break 1.2670 ดอลลาร์/ปอนด์ ก็มีโอกาสไปทำระดับแข็งค่ามากที่สุดบริเวณ 1.2710 ดอลลาร์/ปอนด์ และอาจไปต่อที่ 1.2775 ดอลลาร์/ปอนด์ได้
ในทางตรงข้ามหากค่าเงินปอนด์อ่อนค่าหลุด 1.2580 และ 1.2550 ดอลลาร์/ปอนด์ ก็มีโอกาสไปทำต่ำสุดนับต้งแต่เดือนธ.ค. ที่ 1.2480 ดอลลาร์/ปอนด์ได้ และนั่นดูจะเป็นจุดพึงพอใจของกลุ่มนักลงทุนทีรอ Short
· นางแมรี ดาลี ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโก กล่าวว่า ตลาดกำลังมีมุมมองว่าความผันผวนของตลาดมีอยู่ในระดับสูง แต่นั่นไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยงเพียงอย่างเดียวที่เศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังเผชิญ โดยยังมีปัจจัยเวี่ยงจากภาวะ Brexit และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน เธอจึงมีมุมมองว่าตลาดไม่ควรที่จะให้ความสนใจไปยังปัจจัยเสี่ยงอย่างเรื่องของความผันผวนเพียงอย่างเดียว
สำหรับแนวโน้มการปรับอัตราดอกเบี้ยของเฟด นางดาลี แม้จะไม่ใช่ผู้มีสิทธิโหวตแนวทางการดำเนินนโยบายของเฟด แต่เธอมีความเห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯอยู่ที่ระดับที่ “เหมาะสม” ท่ามกลางตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง และอัตราเงินเฟ้อที่ค่อยๆขยับขึ้นใกล้เป้าหมายที่ 2% ของเฟด ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยที่เฟดใช้อยู่ ณ ปัจจุบัน ถือว่าอยู่ในระดับ “Neutral”
อย่างไรก็ตาม นางดาลีแสดงความกังวลว่า ตลาดอาจเผชิญความเสี่ยงจากมุมมองของนักลงทุนที่สวนทางกับความเป็นจริงของสภาวะเศรษฐกิจ กล่าวคือ เศรษฐกิจยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้แข็งแกร่ง แต่นักลงทุนกลับมีความกังวลมากเกินไป จึงอาจมองว่าเศรษฐกิจไม่สามารถเติบโตได้ตามที่ควรจะเป็น
· รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจแห่งเม็กซิโก กล่าวเตือนสหรัฐฯว่า นโยบายขึ้นภาษีสินค้านำเข้าทุกรายการจากเม็กซิโก จะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจในภาครัฐทั้งหมด 50 รัฐของสหรัฐฯ รวมไปถึงความเสียหายต่อห่วงโซ่แห่งคุณค่า (Value Chain), ผู้บริโภค, และตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับการค้าของทั้ง 2 ประเทศ ขณะที่ความเสียหายต่อภาคการเกษตรเพียงภาคเดียวอาจมีมากถึง 1.17 ร้อยล้านเหรียญต่อเดือน
· เกิดกระแสคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางอินเดียอาจพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์นี้ ท่ามกลางสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจอินเดีย และอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวอยู่แถวระดับ 2.92% ต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางที่ 4%
ขณะที่ภาครัฐบาลของอินเดียก็มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนธนาคารกลางด้วยการออกนโยบายช่วยกระตุ้นสภาพคล่องของตลาด เพื่อให้ธนาคารกลางสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้
· รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจแห่งญี่ปุ่นยืนยัน ญี่ปุ่นและสหรัฐฯจะจัดการเจรจาการค้าระดับคณะทำงาน (Working Level) ขึ้นภายในวันที่ 10-11 มิ.ย. ณ ประเทศสหรัฐฯ โดยการเจรจาครั้งนี้จะครอบคลุมไปยังประเด็นในเชิงเทคนิคของภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรของทั้ง 2 ประเทศ
· ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง เนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเริ่มทำให้ความต้องการด้านพลังงานลดลง อย่างไรก็ดี ตลาดยังได้รับแรงหนุนบางส่วนหลังจากรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของซาอุดิอาระเบีย ระบุว่า กลุ่มโอเปกและผู้ผลิตนอกโอเปกพร้อมที่จะรักษาสมดุลตลาดน้ำมันในช่วงครึ่งปีหลังต่อไป โดนจะพยายามปรับลดปริมาณสต็อกน้ำมันดิบให้ต่ำกว่าระดับปัจจุบัน
โดยน้ำมันดิบ Brent ลดลง 0.5% ที่ระดับ 60.97 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI ลดลง 0.4% ที่ระดับ 53.05 เหรียญ/บาร์เรล