· ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวใกล้ระดับแข็งค่าที่สุดในรอบ 5 เดือน หลังการเจรจาระหว่างสหรัฐฯและเม็กซิโกไม่มีความคืบหน้า ส่งผลให้ตลาดหันเข้าหาสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น
โดยค่าเงินเยนปรับแข็งค่า 0.3% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ที่ 108.07 เยน/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับแข็งค่าที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค.
ตลาดให้ความสนใจไปยังค่าเงินยูโรก่อนหน้าการประชุมอีซีบีคืนนี้ หลังจากค่าเงินยูโรสามารถปรับแข็งค่าขึ้นมาได้จากการอ่อนค่าของดอลลาร์และแนวโน้มที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย
สำหรับวันนี้ค่าเงินยูโรแข็งค่าเล็กน้อยประมาณ 0.05% บริเวณ 1.1227 ดอลลาร์/ยูโร หลังจากอ่อนค่าลงมา 0.3% จากระดับสูงสุดในรอบ 1 เดือนครึ่ง ที่ระดับ 1.1307 ดอลลาร์/ยูโร
การประชุมอีซีบีวันนี้เป็นที่คาดการณ์กันว่า จะยังไม่มีมติเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินใดๆ แต่จะมีการเจรจาถึงภาวะเศรษฐกิจยูโรโซน และวางรากฐานสำหรับการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในการประชุมครั้งถัดๆไปในปีนี้
ขณะที่นักวิเคราะห์จาก Commerzbank ระบุว่า ตลาดจะจับตาว่า อีซีบีจะยังคงมุมมองว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ได้เหมือนเดิมหรือไม่ หากทางธนาคารส่งสัญญาณกังวลต่อเศรษฐกิจ ก็จะส่งผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดกับค่าเงินยูโร
ทั้งนี้ ตลาดยังคงมีมุมมองว่า ถ้อยแถลงของประธานอีซีบี จะยังมีการกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่จะออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น
ทางด้านดัชนีดอลลาร์ทรงตัวใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน ที่ 96.749 จุด ท่ามกลางแรงกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯที่ปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 21 เดือน จากความต้องการสินทรัพย์เสี่ยงที่ลดลง และแนวโน้มในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด
· นักวิเคราะห์จาก FXStreet กล่าวว่า ค่าเงินยูโรอยู่ในสภาวะสะสมพลังและมีการยืนเหนือ 1.1200 ดอลลาร์/ยูโรได้ โดยตลาดกำลังรอคอยประชุมอีซีบีวันนี้ที่ถูกคาดว่าจะมีการประกาศกองทุน TLTRO ครั้งใหม่ และเปิดเผยคาดการณ์ครั้งใหม่ด้วยเช่นกัน ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ดูจะมีการปรับแข็งค่ามากขึ้นท่ามกลางสภาวะตึงเครียดทางกาารค้า
ในทางเทคนิคแล้วค่าเงินยูโรมีการทรงตัวเหนือเส้นค่าเฉลี่ยราย SMA 100 วัน และภาพมีการยุติ Descending Trend ในช่วง 5 เดือน แต่ก็ยังต้องระมัดระวังต่อสัญญาณขาขึ้น โดยยูโรจะมีแนวต้านที่ 1.1300 ดอลลาร์/ยูโร โดยหากผ่านไปได้ก็มีโอกาสเห็นที่ 1.1365 - 1.1370 ดอลลาร์/ยูโร และในระยะกลางมีโอกาสผ่านไปที่ 1.1400 ดอลลาร์/ยูโรได้
ในทางกลับกัน หากค่าเงินยูโรไม่สามารถยืนได้และมีการกลับลงมาแถว 1.1210 - 1.1200 ดอลลาร์/ยูโร (บริเวณเส้นค่าเฉลี่ยราย 50 DMA) ก็มีโอกาสเห็นค่าเงินผันผวนดิ่งลงมาแถว 1.1130 ดอลลาร์/ยูโรซึ่งเป็นแนวรับด้านล่างได้ แต่หากเผชิญแรงเทขายต่อก็อาจเห็นค่าเงินยูโรดิ่งกลับมาที่ 1.1100 ดอลลาร์/ยูโร หรืออาจเป็นไปได้ที่จะเห็นราคากระชากกลับลงมาแนวรับสำคัญทางจิตวิทยาที่ 1.1000 ดอลลาร์/ยูโร
· องค์กร IMF เตือน การขึ้นภาษีตอบโต้กันไปมาระหว่างสหรัฐฯและจีน ทั้งนโยบายภาษีที่มีผลบังคับใช้ไปแล้ว และนโยบายที่ยังอยู่ระหว่างพิจารณา อาจทำให้เศรษฐกิจโลกสูญเสีย GDP ไป 0.5% ภายในปี 2020
นางคริสทีน ลาการ์ด ประธาน IMF กล่าวเตือนในบันทึกการประชุมระหว่างผู้นำทางการเงินและธนาคารกลางของกลุ่มประเทศ G-20 ว่า การขึ้นภาษีตอบโต้กันระหว่างเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ทั้งสอง จะทำให้เศรษฐกิจโลกสูญเสีย GDP เป็นมูลค่ามากถึง 4.55 พันล้านเหรียญ ซึ่งเปรียบเสมือนการสูญเสียทวีปแอฟริกาใต้ไปทั้งทวีป หรือมากกว่านั้นเสียอีก
นอกจากนี้ นางลาการ์ดยังได้กล่าวเสริมว่า ตลาดมีความกังวลในผลกระทบของสงครามการค้าอยู่ในระดับสูง จึงการนำไปสู่ภาวะการลงทุน การผลิต และการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงทั้งหมด ประกอบกับการที่สหรัฐฯเตรียมขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากเม็กซิโก ยังเป็นอีกปัจจัยที่กดดันความเชื่อมั่นของตลาด
มีหลักฐานมีชัดเจนว่าสหรัฐฯ, จีน และเศรษฐกิจโลกต่างเป็นผู้พ่ายแพ้ในความขัดแย้งทางการค้าที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
นางลาการ์ดจึงได้แนะนำให้ประเทศมหาอำนาจหลีกเลี่ยง “การสร้างบาดแผลให้กับตัวเอง” ด้วยการยกเลิกกำแพงทางการค้าที่เกิดขึ้น รวมถึงกำแพงทางการค้าที่กำลังอยู่ในระหว่างพิจารณาไม่ว่าจะในรูปแบบใดๆก็ตาม ให้ยกเลิกไปทั้งหมดเสีย
· ผู้บริหาร UBS และ Goldman Sachs ออกโรงเตือน ตลาดกำลังคาดการณ์โอกาสเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย “มากเกินไป”
โดยตลาดมีกระแสคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นับตั้งแต่ถ้อยแถลงของประธานเฟดครั้งล่าสุด ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้นได้อย่างมาก
อย่างไรก็ตาม นายแอ็คเซล วีเบอร์ ประธานธนาคาร UBS เตือนว่า ตลาดอาจจะเข้าใจความหมายของถ้อยแถลงดังกล่าวผิดเพี้ยนไป หากพิจารณาถ้อยแถลงของประธานเฟด และสมาชิกเฟดอย่างนายชาลส์ อีวานส์ ครั้งที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ทั้งคู่ไม่มีการกล่าวว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยแน่นอนแต่อย่างใด แต่ได้กล่าวว่า หากเศรษฐกิจยังส่งสัญญาณอ่อนแอในช่วงครึ่งหลังของปี 2019 เฟดก็จะพิจารณาดำเนินนโยบายให้เหมาะสมกับสภาวะของเศรษฐกิจ
นายจอห์น วาลดอน ประธานและผู้อํานวยการฝ่ายปฏิบัติการแห่ง Goldman Sachs แสดงความคิดเห็นที่สอดคล้องกัน โดยแสดงความกังวลว่า ตลาดอาจคาดการณ์โอกาสที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากเกินไป รวมถึงมีมุมมองที่ดีเกินไปเกี่ยวกับโอกาสที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คิด
ทั้งนี้ นายวีเบอร์ แม้จะไม่มีมุมมองว่าเฟดจะทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้ แต่ก็เชื่อว่า เฟดพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายการเงิน หากเฟดมองว่าเป็นการดำเนินการที่เหมาะสมที่สุด
· ที่ปรึกษาด้านการทหารประจำผู้นำสูงสุดแห่งอิหร่าน กล่าวเตือนว่า หากเหตุความไม่สงบในพื้นที่อ่าวเปอร์เซียนบานปลาย จนถึงขั้นเกิดการยิงต่อสู้กัน อาจทำให้ราคาน้ำมันพุ่งไปถึงระดับ 100 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งจะเป็นระดับราคาที่สร้างภาระที่หนักหน่วงให้กับเศรษฐกิจสหรัฐฯ, ยุโรป, รวมถึวพันธมิตรของสหรัฐฯ อย่าง ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้
· ธนาคารกลางอินเดียประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ตามคาด พร้อมประกาศปรับเปลี่ยนแนวทางดำเนินนโยบายการเงินจากรูปแบบ “Neutral” มาเป็น “Accommodative” หรือสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจมากขึ้น ท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจอินเดียขยายตัวได้ด้วยอัตราที่ช้าที่สุดในรอบกว่า 4 ปี
ทั้งนี้ อัตราซื้อคืนพันบัตรของธนาคารกลางอินเดียถูกปรับลดลง 0.25% สู่ระดับ 5.75% ขณะที่อัตราขายคืนถูกปรับลงมาที่ระดับ 5.50% ท่ามกลางเสียงสนับสนุนจากคณะกรรมการทั้ง 6 เสียง
· นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่า ระดับภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอาจถูกปรับขึ้นเป็นมูลค่า 3 แสนล้านเหรียญได้ หากจำเป็น พร้อมระบุว่า รัฐบาลกำลังดำเนินการเจรจากับจีนอยู่ และทางจีนดูมีความต้องการที่จะหาข้อตกลงร่วมกัน
· ในการประชุมอีซีบีคืนนี้ มีแนวโน้มสูงที่ทางอีซีบีจะยังมีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษไว้ดังเดิม ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ถูกกดดันจากสงครามการค้า และแนวโน้มที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ มากกว่าที่จะปรับขึ้น ประกอบกับการที่อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนยังคงชะลอตัว
อย่างไรก็ตาม การประชุมคืนนี้อาจเห็นสัญญาณหรือความชัดเจนของนโยบายปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับธนาคาร หรือที่ตลาดรู้จักในชื่อ TLTROs (targeted longer-term refinancing operations) โดยในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา นายมาริโอ ดรากี้ ประธานอีซีบี ได้กล่าวว่า อีซีบีจะตรวจสอบว่านโยบายการเงินกำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเช่นไร รวมถึงเศรษฐกิจมีความพร้อมสำหรับการปล่อยเงินกู้ก้อนใหม่ให้กับธนาคาร เพื่อให้ทางธนาคารปล่อยกู้ต่อให้กับบรรดาผู้ประกอบการและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่
อีกปัจจัยที่ต้องจับตาการประชุมอีซีบีคืนนี้ คือคาดการณ์เศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้ออย่างเป็นทางการของอีซีบี ขณะที่นักวิเคราะห์จาก Deutsche Bank คาดการณ์ว่า อีซีบีจะปรับคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจปี 2019 และ 2020 ลดลงปีละ 0.1%
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเกี่ยวกับกำหนดการพ้นวาระของนายดรากี้ ที่น่าจะถูกพูดถึงในการประชุมคืนนี้ ขณะที่ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานอีซีบีแทนนายดรากี้ ก็ยังไม่มีความชัดเจน แต่น่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้นในการประชุมครั้งใหญ่ภายในเดือน มิ.ย. ที่ทางอีซีบีจะมีการเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆในอีซีบี อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้น จะเริ่มเห็นชื่อของผู้ที่อาจได้ดำรงตำแหน่งต่อจากนายดรากี้อยู่หลายชื่อด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น François Villeroy de Galhau และ Benoit Cœuré ที่เป็นชาวฝรั่งเศส หรือ Erkki Liikanen และ Olli Rehn จากฟินแลนด์ และ Jens Weidmann จากเยอรมนี
· กระทรวงต่างประเทศแห่งประเทศจีน แสดงความกังวลอย่างมากต่อกรณีที่สหรัฐฯจะขายอาวุธให้กับไต้หวันเป็นมูลค่า 2 พันล้านเหรียญ และทางกระทรวงก็มีการพยายามโน้มน้าวไม่ให้ไต้หวันเข้าซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความบาดหมางในความสัมพันธ์ทางการค้าของทุกๆฝ่าย
· นายเจสัน นีย์ วิศวกรด้านวัสดุจากสำนักงานโลจิสติกส์เพื่อการป้องกันประเทศ ในสังกัดกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า ขณะนี้ทางการสหรัฐฯได้เดินสายเจรจากับบริษัทเหมืองแร่ในประเทศมาลาวีและบุรุนดีของทวีปแอฟริกา รวมถึงบริษัทแร่หายากอื่น ๆ ทั่วโลก เพื่อหาแหล่งซื้อแร่หายากใหม่ ๆ จากเดิมที่นำเข้าจากจีนเป็นหลัก
โดยสหรัฐฯต้องการหาแหล่งซื้อแร่หายากแห่งใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง เพราะไม่ต้องการซื้อจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งเพียงแห่งเดียว
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้น หลังสหรัฐฯได้เพิ่มการผลิตแร่หายาก รวมถึงร่วมมือกับญี่ปุ่นและประเทศพันธมิตรอื่น ๆ อันเป็นส่วนหนึ่งของวามพยายามที่จะลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ประเทศต่าง ๆ รวมถึงจีนและรัสเซีย จะระงับการส่งออกแร่หายาก
· ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น หลังจากร่วงลงใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือนในช่วงก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นของเหล่านักลงทุนยังคงอ่อนแอโดยถูกกดดันจากภาวะอุปทานสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้นและเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง
โดยราคาน้ำมันดิบ Brent ทรงตัวที่ระดับ 60.78 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI อยู่ที่ระดับ 51.84 เหรียญ/บาร์เรล
ทั้งนี้ น้ำมันดิบ Brent และ WTI ปรับตัวลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่กลางเดือนม.ค.ที่ระดับ 59.45 เหรียญ/บาร์เรลและ 50.60 เหรียญ/บาร์เรล ตามลำดับ ท่ามกลางการพุ่งขึ้นของสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯและปริมาณการผลิตที่สูงเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งกการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มส่งผลกระทบต่อความต้องการพลังงาน