· ค่าเงินเยนปรับแข็งค่า ท่ามกลางความต้องการสินทรัพย์เสี่ยงที่ซบเซา ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ยังมีการเข้าซื้อที่แข็งแกร่ง จึงสามารถรักษาระดับไว้ได้ หลังจากที่รีบาวน์ขึ้นมาจากระดับต่ำสุดในรอบ 11 สัปดาห์
ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลง ท่ามกลางความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่อ่อนแอจากแรงกดดันของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ซึ่งตลาดกำลังให้ความสนใจไปยังการประชุม G-20 ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 28-29 มิ.ย. นี้
ความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นเอเชียยังถูกกดดันจากเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงในฮ่องกงที่ขยายตัวรุนแรง ส่งผลให้ตลาดหุ้นฮ่องกงปรับร่วงลงอย่างหนักติดต่อกันเป็นวันที่ 2
ค่าเงินเยนแข็งค่า 0.2% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ แถว 108.270 เยน/ดอลลาร์ ขึ้นมาจากระดับต่ำสุดในรอบ 11 วัน ที่ 108.800 เยน/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับเปิดตลาดสัปดาห์นี้
· ดัชนีดอลลาร์ค่อนทรงตัวแถว 96.919 จุด หลังจากปรับแข็งค่าขึ้นมา 0.3% เมื่อคืนนี้
· ด้านค่าเงิยยูโรปรับแข็งค่าเล็กน้อย แถว 1.1294 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่ค่าเงินปอนด์ทรงตัวแถว 1.2692 ดอลลาร์/ปอนด์ หลังจากปรับอ่อนค่าลงมากว่า 0.3% เมื่อวานนี้
· 2 ผู้นำคนสำคัญทางการเงิน อย่างนายมาริโอ ดรากี้ ประธานอีซีบี และนางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ ประสานเสียงกล่าวเตือนต่อปัญหาทางการค้าที่เพิ่มขึ้นของกำแพงภาษี โดยข้อขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ควบคู่กับท่าทีคุกคามยุโรปและภาคอุตสาหกรรมของประเทศอื่นๆ กำลังเป็นสาเหตุที่สร้างความผันผวน และสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นทั่วโลก
นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ ระบุว่า การเติบโตทั่วโลกได้ชะลอตัวลงมานานกว่า 6 ปีท่ามกลางประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่หลายแห่งเริ่มส่งสัญญาณการขึ้นกำแพงภาษี และบางแห่งได้ขึ้นภาษีดังกล่าวไปแล้ว และนี่อาจเป็นแค่จุดเริ่มต้นของสิ่งที่กำลังจะมาทำร้ายเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งทางของเศรษฐกิจดังกล่าวขัดแย้งกับโมเดลเศรษฐกิจของยูโรโซนที่เรียกว่า CESEE ที่วางบนพื้นฐานการเปิดกว้างและร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ
· นายหลิว เฮ่อ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจแห่งประเทศจีน กล่าวว่า ภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศให้มากขึ้น และรักษาสภาพคล่องของระบบการเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
โดยถ้อยแถลงดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากจีนประกาศการเติบโตของภาคเครดิตในประเทศที่ออกมาอ่อนแอกว่าที่คาดในเดือน พ.ค. จึงยิ่งหนุนกระแสคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากนโยบายของภาครัฐมากขึ้น ท่ามกลางภาวะที่ปริมาณอุปสงค์ในประเทศอยู่ในระดับอ่อนแอ ซึ่งเห็นได้จากการนำเข้าที่ชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา
· นายวลาดิเมีย ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย กล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวในรัสเซีย โดยระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและรัสเซียทุกวันนี้กำลังย่ำแย่ลง เนื่องจากทีมบริหารของสหรัฐฯในปัจจุบันได้ออกนโยบายคว่ำบาตรรัสเซียหลายต่อหลายตัวด้วยกัน
ถ้อยแถลงของนายปูติน เกิดขึ้นก่อนหน้าการประชุม G-20 ในญี่ปุ่น ที่มีความเป็นไปได้ว่านายปูตินจะพบกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยตรง
· รายงานจาก Bloomberg ระบุว่า ผู้ก่อตั้ง Telegram ออกมาเปิดเผยว่า ตรวจสอบพบการโจมตีทางไซเบอร์ที่มีที่มาจากประเทศจีนผ่านแอพพลิเคชั่นส่งข้อความ Telegram ส่งผลให้เกิดเป็นข้อต้องสงสัยว่า จีนมีความเกี่ยวข้องหรือพยายามก่อกวนการชุมนุมประท้วงที่กำลังเกิดขึ้นในฮ่องกงหรือไม่
· กระบวนการคัดเลือกผู้นำอังกฤษคนใหม่กำลังจะเริ่มขึ้นภายในคืนนี้ โดยในรอบแรกนี้ จะเป็นการโหวตผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษทั้ง 10 คน ภายในรัฐสภาอังกฤษ
หากผู้สมัครคนใดไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาอย่างน้อย 17 เสียงก็จะถูกคัดออกไป แต่ถ้าผู้สมัครทั้ง 10 คนได้รับเสียงสนับสนุนขั้นต่ำครบ ผู้ลงสมัครที่ได้รับเสียงสนับสนุนน้อยที่สุดจะถูกคัดออกไปแทน จนกว่าจะเหลือผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงสนับสุนมากที่สุด 2 คน
หลังจากนั้นจะเข้าสู่การลงมติในขั้นสุดท้าย โดยจะมี ส.ส. จากพรรค Conservative เข้าร่วมการลงมติเป็นวงกว้างขึ้น และคาดว่าชื่อของผู้ชนะจะได้รับการประกาศในวันที่ 22 ก.ค. ซึ่งผู้ชนะจะดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค Conservative และนายกรัฐมนตรี
สำหรับผู้สมัครที่มีโอกาสชนะมากที่สุด ยังคงเป็นนายบอริส จอห์นสัน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศและผู้ว่าเมืองลอนดอน ซึ่งเขาเคยกล่าวไว้ว่า จะไม่ผลักดันให้อังกฤษ ถอนตัวออกจากอียูแบบ No-deal แต่ว่าจะเตรียมพร้อมให้กับประเทศ ในกรณีที่อังกฤษจำเป็นต้องถอนตัวแบบ No-deal จริงๆ รวมถึงมีมุมมองว่า หากอังกฤษขอขยายระยะ Brexit ออกไปอีกครั้ง นั่นจะหมายถึง “ความพ่ายแพ้” ของอังกฤษ
· หนังสือพิมพ์ไชน่า เดลี่ รายงานโดยอ้างความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ว่า ทางการจีนอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย หรือปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ โดยมีเป้าหมายที่จะรับมือกับความเสี่ยงที่อาจฉุดรั้งให้เศรษฐกิจเผชิญภาวะขาลง
โดยการปรับอุปทานด้านการเงินและสินเชื่อผ่านทางการลดอัตราดอกเบี้ย หรือ RRR นั้น มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น หลังจากทางการจีนเปิดเผยว่า ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบและยอดการปล่อยกู้สกุลเงินหยวนในเดือนพ.ค. ขยายตัวน้อยกว่าคาดการณ์ นอกจากนี้ ยังระบุว่า การดำเนินมาตรการที่แข็งแกร่งถือเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการรักษาสภาพคล่องในตลาดการเงิน และสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน
· รายงานจาก Reuters ระบุว่า เรือบรรทุกน้ำมันจำนวน 2 ลำถูกโจมตีบนอ่าวประเทศโอมาน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่คล้ายกับเมื่อ 1 เดือนก่อน ที่เรือบรรทุกน้ำมันจำนวน 4 ลำในพื้นที่ดังกล่าวถูกโจมตีในลักษณะเดียวกัน
พื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่ใกล้กับช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นจุดยุทธสาสตร์สำคัญของการขนส่งน้ำมันทางทะเล และมีการขนส่งมากถึง 1 ใน 5 ของการขนส่งน้ำมันทางเรือทั่วโลก
· ผู้บริหารจากสถาบัน Taurus Wealth Advisors มีมุมมองว่า ราคาน้ำมันโลกอาจปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดที่ 45 เหรียญ/บาร์เรล หากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนยังคงยืดเยื้อต่อไป
โดยราคาน้ำมันโลกในปัจจุบันกำลังเคลื่อนไหวในทิศทางขาลง ท่ามกลางแรงกดดันจากความตึงเครียดในสงครามการค้า ซึ่งกดดันให้ปริมาณอุปสงค์ในน้ำมันอ่อนแอลง และปริมาณอุปสงค์มีโอกาสที่จะอ่อนแอลงไปมากกว่านี้ หากสหรัฐฯและจีนไม่สามารถหาข้อตกลงที่จะมาหยุดความขัดแย้งได้ อีกทั้งจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอการเติบโตลง
ดังนั้น ตลาดจะให้ความสำคัญไปยังการประชุม G-20 ปลายเดือนนี้ เพื่อดูว่าผู้นำสหรัฐฯและจีน จะสามารถพบกันและเจรจายุติความขัดแย้งได้หรือไม่
· ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น หลังจากสำนักงานปฏิบัติการด้านการค้าทางทะเลของอังกฤษเปิดเผยว่า ทางหน่วยงานกำลังตรวจสอบสถานการณ์ในน่านน้ำของอ่าวโอมาน หลังจากที่เรือบรรทุกน้ำมันลำหนึ่งได้ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือไปยังท่าเรือในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE)
รายงานระบุว่า เกิดเหตุเพลิงไหม้เรือขนส่งน้ำมัน Front Altair ที่ท่าเรือฟูจาอิราห์ของ UAE โดยเรือลำดังกล่าวได้บรรทุกน้ำมันจากดูไบเข้ามายัง UAE ก่อนที่จะล่องสู่ทะเล
โดยราคาน้ำมันดิบ Brent เพิ่มขึ้น 3.3% ที่ระดับ 61.97 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI เพิ่มขึ้น 2.7% ที่ระดับ 52.55 เหรียญ/บาร์เรล