· หุ้นสหรัฐฯปิดแดนบวก เพราะได้รับอานิสงส์จากหุ้นเทคโนโลยีและหุ้นกลุ่มพลังงาน ประกอบกับตลาดยังคงตอบรับกับความเป็นไปได้ที่เฟดตะตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยในเดือนหน้า โดยดัชนี S&P500 ปิด +1% ทำระดับปิดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,954.18 จุด ขณะที่ระหว่างวันก็ทำ High สูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกันที่ 2,958.06 จุด
ทางด้านดัชนีดาวโจนส์ปิด +249.17 จุด ที่ระดับ 26,753.17 จุด และดัชนี Nasdaq ปิด +0.8% ที่ระดับ 8,051.34 จุ
ภาพรวมตลาดตอบรับกับถ้อยแถลงเชิงผ่อนคลายนโยบายที่มากขึ้นจากทางเฟด โดยเครื่องมือ FedWatch ของ CME ชี้ว่ามีโอกาส 100% ที่จะเห็นเฟดลดดอกเบี้ยเดือนหน้า
การปรับตัวขึ้นของตลาดวานนี้ สะท้อนถึงการลดแรงสูญเสียของตลาดหุ้นตั้งแต่เดือน พ.ค. ที่ได้รับผลกระทบจากความกังวลทางการค้า โดยจะเห็นได้ว่าดัชนีดาวโจนส์และ S&P500 ปรับร่วงลงไปกว่า 6% ขณะที่ Nasdaq ปิดลงกว่า 7.9%ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ก่อนที่ภาพรวมเดือนมิ.ย.นี้ 3 ดัชนีหลักในตลาดต่างปรับขึ้นได้แล้วประมาณ 7%
การเพิ่มภาษีสินค้าน้ำเข้าระหว่างสหรัฐฯและจีนรอบล่าสุดในเดือนพ.ค. ทำให้ตลาดเป็นกังวลว่าความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นได้ฉุดให้ข้อมูลเศรษฐกิจอ่อนแอ และอาจนำไปสู่ท่าทีผ่อนคลายทางการเงินของเฟดนั่นเอง
· ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวขึ้นจากกลุ่มนักลงทุนที่ตอบรับกับการที่บีโออีตักสินใจคงดอกเบี้ยเช่นเดียวกับเฟด โดยดัชนี Stoxx 600 ปิด +0.5% และช่วงต้นตลาดมีการทำ High สูงสุดตั้งแต่ 6 พ.ค.
ขณะที่เมื่อวานนี้หุ้นเอเชียก็ปิดบวกเช่นกันจากการที่เฟดคงดอกเบี้ยและเปิดกว้างต่อโอกาสการลดดอกเบี้ยมากขึ้น โดย Shanghai Composite ปิด +2.38%, HSI ปิด +1.1% และดัชนีนิกเกอิปิด +0.6% ขณะที่บีโอเจก็มีการตัดสินใจคงนโยบายดอกเบี้ยเช่นกัน โดยกล่าวย้ำถึงความเสี่ยงทั่วโลกที่กำลังเพิ่มมากขึ้นจากความตึงเครียดทางการค้า
โดยในรายงานถ้อยแถลงของบีโอเจ สะท้อนว่า ภาวะความเสี่ยงทางเศรษฐกิจพิจารณาได้จากข้อมูลเศรษฐกิจจำนวนมาก และบีโอเจจะเฝ้าระวังใกล้ชิดต่อความเชื่อมั่นภาคครัวเรือนและภาคบริษัทของญี่ปุ่น
· เช้านี้ตลาดหุ้นเอเชียเปิดอ่อนตัวลง ท่ามกลางความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่เพิ่มขึ้น โดยดัชนีนิกเกอิเปิดทรงตัว และดัชนี Topix เปิด -0.26% ขณะที่หุ้น Kospi ของเกาหลีใต้เปิด -0.85%
หัวหน้านักวิเคราะห์ตลาดหุ้นจาก J.P.Morgan กล่าวกับสำนักข่าว CNBC โดยระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อตลาดหุ้นเอเชียเวลานี้มาจากประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง ที่ดูจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางภาคธุรกิจ และเป็นเรื่องยากที่จะประเมินเรื่องงบประมาณหรือเม็ดเงินลงทุนในสภาวะที่ตลาดเป็นเช่นนี้
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- นักบริหารเงิน คาดวันนี้ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 30.75 - 30.95 บาท/ดอลลาร์ โดยค่าเงินบาทค่อนข้างผันผวนในทิศทางแข็งค่า เนื่องจากมีข่าวเรื่องเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยคาดว่าอาจมีการปรับลดถึง 3 ครั้ง ขณะที่บาทแข็งค่าสุดที่ระดับ 30.91 บาท/ดอลลาร์ ในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย. 2013 และเงินบาทแข็งค่ามากสุดรองจากเงินวอนเกาหลีใต้ ประกอบกับมี flow ไหลเข้ามาต่อเนื่อง
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยในการประชุมครั้งที่ 4 ของปี 62 น่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.75% โดยประเด็นเสถียรภาพของระบบการเงินเป็นเรื่องที่น่าจะยังคงให้น้ำหนักในการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงนี้ และมองว่า กนง.น่าจะยังคงส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% ในช่วงที่เหลือของปีนี้
- ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC CONFIDENCE INDEX) เดือนพ.ค.62 จากการสำรวจความคิดเห็นของประธานหอการค้า และกรรมการหอการค้าของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ รวม 370 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 29 พ.ค.- 5 มิ.ย.62 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือนพ.ค.62 อยู่ที่ระดับ 47.4 ปรับตัวลดลงจากเดือนเม.ย.62 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 47.8