· ดัชนี S&P500 ปิดปรับตัวลงหลังไปทำสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ในช่วงต้นตลาด ขณะที่ภาพรวมสัปดาห์ที่ผ่านมาถือเป็นอีกหนึ่งสัปดาห์ที่แข็งแกร่งของตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ดัชนี S&P500 ปิด -0.1% ที่ 2,950.46 เหรียญ หลังไปทำระดับสูงสุดของวันที่ 2,964.15 เหรียญ แต่ภาพรวมดัชนียังคงปิดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทางด้านดาวโจนส์ปิดลดลง 34.04 จุด ที่ 26,719.12 จุด และ Nasdaq ปิด -0.2% ที่8,031.71 จุด
ตลาดหุ้นสหรัฐฯพุ่งขึ้นช่วงต้นตลาดหลังมีรายงานว่า นายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะทำการเลื่อนการเพิ่มนโยบายทางภาษีกับจีนออกไปก่อน ท่ามกลางสัญญาณบวกทางการค้า แต่แล้วหุ้นก็อ่อนตัวลงมาหลังกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เผย มีการลงดาบ 5 บริษัทจีนที่มีการเข้าซื้อชิ้นส่วนประกอบของบริษัทผู้ผลิตสหรัฐฯโดยไม่ได้รับอนุญาต
· หุ้นยุโรปปิดปรับลงคืนวันศุกร์จากความกังวลต่อปัญหาตึงเครียดตะวันออกกลาง แม้ว่าจะมีการปรับขึ้นได้ในช่วงต้นตลาดแต่ Stoxx600 ก็ยังปิดอ่อนตัว จากหุ้นส่วนใหญ่ที่เคลื่อนไหวแดนลบ
· ตลาดหุ้นเอเชียเปิดในแดนลบ ท่ามกลางแรงกดดันจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่านที่ยังส่งสัญญาณรุนแรง หลังเกิดเหตุอิหร่านโจมตีโดรนสำรวจของสหรัฐฯเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
โดยในตลาดหุ้นญี่ปุ่นดัชนี Nikkei เปิด -0.22% ส่วนดัชนี Topix เปิด -0.2% และดัชนี Kospi ของเกาหลีใต้ก็เปิดในแดนลบเช่นกัน
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- นักบริหารเงิน คาดว่า สัปดาห์นี้ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 30.70 - 30.90 บาท/ดอลลาร์ ท่ามกลางเหล่านักลงทุนที่ยังคงจับตาผลการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 28-29 มิ.ย. ทั้งนี้ประเมินว่าสัปดาห์หน้าเงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่าต่อจากสัปดาห์นี้
- ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) ระบุว่า การลดดอกเบี้ยนโยบายของไทยเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศอื่นๆ ยังไม่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เสถียรภาพระบบการเงินยังเปราะบางจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงในขณะที่คุณภาพสินเชื่อด้อยลง เพราะการลดดอกเบี้ยอาจยิ่งเพิ่มความเสี่ยงดังกล่าว แม้ผลการประชุมเฟดครั้งล่าสุดจะชี้ว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ถึงสองครั้งในปีนี้ ไทยก็ยังไม่มีความจำเป็นต้องรีบลดดอกเบี้ยตาม เนื่องจากดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงไทยแทบจะต่ำที่สุดในอาเซียนแล้ว และถึงแม้จะยังสูงกว่าดอกเบี้ยที่แท้จริงของเฟด ก็ถือว่าสอดคล้องกับอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของไทยที่อยู่ต่ำกว่าของสหรัฐฯถึง 6 ระดับ
- ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าไทย (สนค.) กล่าวว่า การส่งออกของไทยในเดือนพ.ค. 62 ที่ -5.79% ถือเป็นการลดลงมากสุดในรอบ 34 เดือนนับตั้งแต่เดือน ก.ค.59 ที่การส่งออกไทย -6.27% สอดคล้องกับแนวโน้มการค้าโลกและอุปสงค์ของคู่ค้าสำคัญที่ชะลอตัวลงตามปัจจัยร่วม เช่น ข้อพิพาททางการค้า และภาวะการเงินโลกที่ตึงตัว และปัจจัยเฉพาะของแต่ละประเทศ/ภูมิภาค เช่น ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองในยุโรป เป็นต้น
ขณะที่ อัตราแลกเปลี่ยนในเดือนพ.ค.62 ที่แข็งค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 31.50 บาท/ดอลลาร์นั้น มีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตร ซึ่งเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องได้อีก
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับประมาณการส่งออกของไทยในปี 2562 ลดลงจาก 3.2% เหลือ 0% ซึ่งหมายความว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในช่วง 7 เดือนที่เหลือของปี 2562 จะอยู่ที่เฉลี่ย 21,561 ล้านเหรียญต่อเดือนมากกว่ามูลค่าส่งออกเฉลี่ยในช่วง 5 เดือนแรกที่อยู่ที่ 20,312 ล้านเหรียญต่อเดือน
- อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ยังมั่นใจว่าการส่งออกในปีนี้ของไทยจะทำได้ตามเป้าหมายล่าสุดที่ตั้งไว้ที่ 3% คิดเป็นมูลค่า 2.6 แสนล้านเหรียญ