· ค่าเงินดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้น และยังทรงตัวใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ โดยตลาดยังตอบรับกับข้อมูลจ้างงานสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้นในคืนวันศุกร์ ที่ลดกระแสคาดการณ์การลดดอกเบี้ยของเฟดที่ 0.5% ในช่วงปลายเดือนนี้ โดยเหล่าเทรดเดอร์กลับมาให้ความสนใจกับ นายเจอโรม โพเวลล์ ประธานเฟดที่จะมีการกล่าวถ้อยแถลงการณ์ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจต่อสภาคองเกรสจำนวน 2 วันเพื่อจับตาดูท่าทีการปรับลดดอกเบี้ย
โดยในคืนวันพุธ ประธานเฟดมีหน้าที่กล่าวกับคณะกรรมาธิการกำกับดูแลการบริการด้านการเงินของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และในวันพฤหัสบดีมีกำหนดการกล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการกำกับดูแลภาคธนาคารของทางวุฒิสภา
ดัชนีดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้น 0.08% ที่ 97.359 จุด ใกล้ระดับสูงสุดรอบ 3 สัปดาห์ที่ทำไว้ในวันศุกร์ที่ 97.443 จุด ขณะที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าขึ้น 0.18% ที่ 108.67 เยน/ดอลลาร์ หลังไปทำระดับอ่อนค่ามากที่สุดตั้งแต่ 11 มิ.ย. ที่ 108.73 เยน/ดอลลาร์
· ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงมาที่ 1.1214 ดอลลาร์/ยูโร โดยถูกแรงกดดันจากดอลลาร์แข็งค่าและการอ่อนตัวของภาคอุตสาหกรรมในเยอรมนี
· ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลงรอบ 6 เดือนต่ำกว่า 1.25 ดอลลาร์/ปอนด์ในคืนวันศุกร์ หลังข้อมูลเศรษฐกิจอังกฤษออกมาแย่ และตลาดรับกับกระแสคาดการณ์ที่ว่าบีโออีจะเดินหน้าปรับลดดอกเบี้ยในปี 2020 โดยล่าสุดปิด -0.22% ที่ 1.2508 ดอลลาร์/ปอนด์
· ค่าเงินลีราของตุกรีร่วงลงทำระดับต่ำสุดรอบ 2 สัปดาห์เมื่อเทียบดอลลาร์ที่ 5.8245 ลีรา/ดอลลาร์ ขณะที่เมื่อคืนนี้ปิดที่ 5.724 ลีรา/ดอลลาร์
· นักวิเคราะห์จาก Commerzbank ระบุว่า นักลงทุนบางส่วนยังคงคาดหวังว่าว่าผู้ว่าการธนาคารกลางตุรกีคนใหม่จะถูกประกาศรายชื่อในสัปดาห์นี้ และไม่มีการประกาศใช้นโยบายปรับลดดอกเบี้ยใดๆ แต่ถึงจะเป็นไปตามที่นักลงทุนคาดหวัง ก็ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงในระยะกลางที่ว่าการดำเนินนโยบายการเงินของตุรกีนั้นอาจจะไม่สัมฤทธิ์ผลได้เท่าที่ควร
· ความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้กำลังขยายตัวรุนแรงขึ้น หลังจากที่นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นประกาศออกมาตรการจำกัดการส่งออกสินค้ากลุ่มเทคโนโลยีไปยังเกาหลีใต้ ขณะที่ชาวเกาหลีใต้บางส่วนเริ่มพากันบอยค็อตสินค้าของญี่ปุ่น
นักวิเคราะห์จาก Eurasia Group แสดงความเห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่ความขัดแย้งทางการค้าที่เกิดจากปัญหาทางการเมือง อาจจะยืดเยื้อออกไปเป็นระยะเวลาหลายเดือน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการค้าของทั้ง 2 ประเทศ
สาเหตุของความขัดแย้งครั้งนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่นายอาเบะและนายมุน แจ อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ไม่สามารถหาข้อตกลงแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างการประชุม G20 ที่ผ่านมาได้
ทั้งนี้ ความขัดแย้งดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยที่ญี่ปุ่นยึดครองคาบสมุทรเกาหลีในปี 1910 – 1945 ระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งผู้หญิงชาวเกาหลีถูกบังคับใช้ขายบริการทางเพศให้กับทหารญี่ปุ่น จึงเกิดการรวมตัวร้องเรียนให้ทางรัฐบาลญี่ปุ่นจ่ายค่าเสียหาย และทางญี่ปุ่นก็ได้จ่ายค่าเสียหายให้เป็นมูลค่า 1 พันล้านเยน หรือประมาณ 9.4 ล้านเหรียญ แต่ทางสมาคม “หญิงบำเรอ” ซึ่งเป็นตัวแทนเหยื่อชาวเกาหลีใต้ที่ถูกกดขี่ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การจ่ายค่าเสียหายดังกล่าว เป็นเหตุที่ทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้ระงับการรับค่าเสียหาย ซึ่งทางญี่ปุ่นก็ได้เตือนไว้แล้วว่า อาจเกิดเป็นความบาดหมางของทั้ง 2 ประเทศได้
· รายงานจาก Reuters ระบุว่า อัตราค่าจ้างที่แท้จริงที่เป็นหนึ่งในมาตรวัดเงินเฟ้อของญี่ปุ่นปรับตัวลงในเดือนพ.ค. และภาพรวมยังคงปรับลงต่อเนื่องติดต่อกัน 5 เดือนแล้ว จึงยิ่งเพิ่มความกังวลต่อทิศทางความแข็งแกร่งของการใช้จ่ายในกลุ่มผู้บริโภค
ทั้งนี้ อัตราค่าจ้างที่แท้จริง (Real Wages) ปรับร่วงลง 1.0% ในเดือนพ.ค. ขณะที่เดือนเม.ย. ถูกปรับทบทวนลงมาอีกแตะ 1.4%
· ราคาน้ำมันดิบปิดปรับขึ้นจากความตึงเครียดเรื่องโครงการอาวุธนิวเคลียร์อิหร่าน แต่การปรับขึ้นก็ยังคงเป็นไปอย่างจำกัดเนื่องจากตลาดยังมีความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์น้ำมัน โดยน้ำมันดิบ WTI ปิด ปรับขึ้น 15 เซนต์ หรือ +0.3% ที่ 57.66 เหรียญ/บาร์เรล
เมื่อวานนี้ อิหร่านมีการข่มขู่ที่จะกลับมาเดินหน้าและเพิ่มการเสริมสมรรถภาพแร่ยูเรเนียมอีก 20% โดยสูงเกินขีดกำหนดของข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ทำไว้ในปี 2015
อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบยังคงถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์น้ำมัน จากประเด็นสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่ดูจะกดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก
สำหรับเมื่อวานนี้ยอดคำสั่งซื้อสินค้าเครื่องจักรของญี่ปุ่นปรับตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับการร่วงลงมากที่สุดรอบ 8 เดือน จากความกังวลต่อสัญญาณที่ว่า ภาวะตึงเครียดทางการค้าทั่วโลกจะส่งผลต่อภาคการลงทุนของบรรดาบริษัทต่างๆ
Goldman Sachs เผย การเติบโตของการผลิตน้ำมันเชลล์ของสหรัฐฯมีแนวโน้มจะกดดันอุปสงค์น้ำมันไปอย่างน้อยถึงปี 2020 และจะจำกัดการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันด้วย แม้จะมีข้อตกลงขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกก็ตาม