· นายเจอโรม โพเวลล์ ประธานเฟด กล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการกำกับดูแลบริการทางการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎร โดยระบุว่า การลงทุนในภาคธุรกิจมีการชะลอตัวจากความไม่แน่นอนของแนวโน้มทางเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อก็ยังคงเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 2% ที่เฟดกำหนดเป้าไว้ ซึ่งความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นผลมาจากความกังวลต่อความตึงเครียดทางการค้าและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลกที่ดูจะเป็นปัจจัยกดดันต่อแนวโน้มและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ นายโพเวลล์ยอมรับว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้ออ่อนตัวมีมากกว่าที่เฟดประเมินไว้ ขณะที่ภาพรวมการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 2 เป็นไปในระดับปานกลาง และสมาชิกเฟดหลายคนมองว่าควรที่จะเพิ่มการผ่อนคลายทางการเงิน โดยอ้างอิงกับข้อมูลเศรษฐกิจที่ได้รับและปัจจัยประกอบอื่นๆ ขณะที่ความไม่แน่นอนต่อปัญหาตึงเครียดทางการค้าและความกังวลเรื่องความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจโลก เป็นปัจจัยที่กดดันแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
นอกจากนี้ นายโพเวลล์ยังได้ยืนยันว่า เขาจะไม่ลาออกจากตำแหน่ง แม้ว่าได้รับการเรียกร้องจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
· รายงานจาก CNBC ระบุว่า สหรัฐฯและจีนมีปัญหาสงครามการค้าเป็นระยะเวลานานนับปี แม้ว่าทั้ง 2 ประเทศจะมีการกลับมาเจรจาทางการค้าอีกครั้ง ในขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจหลายๆประเทศไม่ค่อยดีนัก โดยเฉพาะยุโรปที่ดูจะสะท้อนถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ
· เครื่องมือ FedWatch ของ CME สะท้อนว่า บรรดาเทรดเดอร์มองโอกาส 100% ที่จะเห็นเฟดปรับลดดอกเบี้ยในเดือนก.ค.นี้
· ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงหลังประธานเฟดยังแสดงความกังวลต่อสงครามการค้าและแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดูจะกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทำให้เกิดกระแสคาดการณ์ที่แข็งแกร่งกลับมาในเรื่องที่เฟดจะเดินหน้าปรับลดดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบเกือบสิบปีในการประชุมช่วงปลายเดือนนี้ แม้ว่ากระแสเกี่ยวกับที่เฟดจะลดดอกเบี้ยมากถึง 0.5% จะลดน้อยลงไป แต่นักลงทุนก็ยังเชื่อว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยได้ 0.25% ในการประชุมเดือนนี้
ดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าลง 0.4% ที่ 97.097 จุด ทางด้านเงินเยนแข็งค่าลงมา 0.4% ที่ 108.43 เยน/ดอลลาร์ ขณะที่ยูโรก็แข็งค่าขึ้น 0.4% ที่ 1.1252 ดอลลาร์/ยูโร
· อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐฯร่วงลงตอบรับถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ดูจะกังวลต่อการชะลอตัวของเงินเฟ้อ ประกอบกับการที่เฟดให้สัญญาณที่จะดำเนินนโยบายอย่างเหมาะสมเพื่อให้เศรษฐกิจสหรัฐฯขยายตัวได้อย่างยั่งยืน โดยอัตราผลตอบแทนอายุ 10 ปีปรับลงอีกครั้งมาแถว 2.06% ขณะที่อัตราผลตอบแทน 30 ปีปรับขึ้นเล็กน้อยมาที่ 2.568% และอัตราผลตอบแทนอายุ 2 ปี ที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงต่อการดำเนนนโยบายของเฟดร่วงลงมา 0.07% ที่ 1.834%
· กรรมการผู้จัดการฝ่าย Global Fixed Income ของ Morgan Stanley Investment Management กล่าวว่า ถ้อยแถลงของนายโพเวลล์ ดูจะย้ำถึงความกังวลต่อเงื่อนไขทางการเงินระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นดัชนี PMI ทั่วโลกที่อ่อนตัว, ข้อมูลเงินเฟ้อและความอ่อนแอด้านการเติบโตของเศรษฐกิจในทุกๆที่ แม้ว่าเขาจะยังเชื่อมั่นต่อความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานในสหรัฐฯ และนั่นจะทำให้เฟดตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยลงได้ 0.25% ในการประชุมเดือนนี้ หรือมีโอกาสปรับลงได้มากถึง 0.50% ซึ่งเฟดอาจต้องพิจารณาอีกครั้งว่าจำเป็นที่จะต้องปรับลดด้วยอัตราดังกล่าวในปีนี้หรือไม่
· ผลวิจัยของ Citi บ่งชี้ว่า หากเศรษฐกิจอินเดียจะสามารถฟื้นตัวจากการชะลอตัวในช่วงฤดูมรสุมนี้ ก็จำเป็นต้องเกิดฝนตกครั้งใหญ่ตลอดเดือน ก.ค. เนื่องจากในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นเดือนแรกของฤดูมรสุม ปริมาณฝนกลับต่ำกว่าที่คาดจนกว่าผิดหวัง ซึ่งมีฝนตกเพียง 33% ของค่าเฉลี่ยฝนตกตลอด 50 ปี หากเกิดฝนตกมากขึ้นในเดือน ก.ค. นี้ จะช่วยในเรื่องในของเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรของอินเดีย และหนุนภาพรวมของเศรษฐกิจดีขึ้นได้
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก IHS Markit ระบุว่า ภาคการเกษตรของอินเดียคิดเป็น 14% ของมูลค่ารวมทางเศรษฐกิจอินเดียทั้งหมด 2.7 ล้านล้านเหรียญ และมีการจ้างงานมาก 42% ของการจ้างงานทั้งหมดในอินเดีย
ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจอินเดียชะลอตัวลงสู่ระดับ 5.8% ในไตรมาสที่ 1/2019 เมื่อเทียบไตรมาสที่ 4/2018 ที่ขยายตัวได้ 6.6% ซึ่งเป็นผลกระทบจากผลผลิตทางการเกษตรที่ตกต่ำ และกิจกรรมภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัว
· ราคาน้ำมันดิบปิดปรับตัวขึ้นได้กว่า 4% หลังจากที่สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯหดตัวลงเกินคาด และตลาดตอบรับกับการที่ กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่มีการพักการขุดเจาะน้ำมันบริเวณอ่าวเม็กซิโกอันเป็นผลมาจากพายุเข้า โดยน้ำมันดิบ Brent ปิด ปรับขึ้น 2.88 เหรียญ หรือ +4.49% ที่ 67.04 เหรียญ/บาร์เรล ทางด้านน้ำมันดิบ WTI ปิดปรับขึ้น 2.6 เหรียญ หรือ +4.5% ที่ 60.43 เหรียญ/บาร์เรล
รายงานจาก EIA เผยว่า สต็อกน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ของสหรัฐฯปรับตัวลง 9.5 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สู่ระดับ 3.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน