· ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวขึ้นทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังทราบถ้อยแถลงประธานเฟดที่มีท่าทีจะผ่อนคลายทางการเงิน โดยดัชนี S&P500 ปรับขึ้นเหนือ 3,000 จุดได้เป็นครั้งแรก ขณะที่ Nasdaq และ Dow Jones ทำ All-Time Highs
อย่างไรก็ดี แม้ประธานเฟดจะแสดงความกังวลต่อสงครามการค้าและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แต่เขาก็ยังมองภาพรวมของเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงมีความแข็งแกร่ง
ดัชนี S&P500 หลังจากยืนเหนือ 3,000 จุดก็อ่อนตัวลงมาบ้างช่วงปลายตลาด และทำให้ภาพรวมปิด +0.5% ที่ 2,993.07 จุด ทางด้าน Dow Jones ปิดปรับขึ้น 76.71 จุด หรือ +0.3% ที่ 26,860.2 จุด หลังปรับขึ้นได้เกือบ 200 จุด ทางด้านดัชนี Nasdaq ปิดที่ 8,202.53 จุด
· ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงหลังทราบถ้อยแถลงประธานเฟดที่ดูมีแนวโน้มย้ำถึงโอกาสการลดดอกเบี้ย โดยดัชนี Stoxx600 ปิดปรับลงเกือบ 0.2% ขณะที่หุ้นส่วนใหญ่เคลื่อนไหวแดนลบ
· ตลาดหุ้นเอเชียเปิดปรับขึ้นในเช้านี้จากสัญญาณที่จะเห็นเฟดเดินหน้าลดดอกเบี้ยในเร็วๆนี้ โดยที่ดัชนีนิกเกอิเปิด +0.11% ขณะที่ดัชนี Topix เปิด +0.2% ทางด้าน Kospi ของเกาหลีใต้เปิด +1.02% ในขณะที่ ASX200 เปิดทรงตัว
· อ้างอิงสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 30.50-30.80 บาท/ดอลลาร์
- ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 2562 ลงเหลือ 2.9-3.3% จากเดิม 3.7-4.0% โดยมองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังอยู่ท่ามกลางความท้าทายและขาดปัจจัยหนุน
ขณะที่การส่งออกไทยในปี 2562 อาจมีความเป็นไปได้ที่จะไม่ขยายตัว ดังนั้น กกร.จึงปรับลดประมาณการส่งออกลงเหลือ -1.0 ถึง 1.0% จากเดิม 3.0-5.0% แม้รัฐบาลใหม่จะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง แต่อาจะไม่เพียงพอที่จะชดเชยผลจากการส่งออกที่ลดลงท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง และทิศทางเงินบาทที่แข็งค่า ส่วนอัตราเงินเฟ้อปี 2562 ยังคงไว้ที่กรอบเดิมคือ 0.8-1.2%
- ธปท. เผยผลการประชุมร่วมระหว่าง กนง. และ กนส. เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการในประเด็นความเสี่ยงจากปัจจัยภายในประเทศใน 4 ประเด็น รวมถึงติดตามผลของมาตรการที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และศึกษามาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติมเพื่อดูแลความเสี่ยงเชิงระบบที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่อาจกระทบกับเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ
- ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับประมาณการเงินบาทสิ้นปี 2562 แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 30-31 บาท/ดอลลาร์ จากเดิม 31-32 บาท/ดอลลาร์ แรงกดดันของการแข็งค่าของเงินบาทมีอยู่ต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี โดยประเมินว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากการหดตัวของภาคส่งออกและการชะลอตัวของการท่องเที่ยว แต่การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังคงอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ซึ่งจะยังทำให้สถานการณ์เป็น regional safe haven ของเงินบาทยังคงมีอยู่ต่อ ประกอบกับสัญญาณการลดดอกเบี้ยนโยบายจาก Fed และธนาคารกลางอื่น ๆ ในภูมิภาค จะทำให้เงินบาทยังต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านแข็งค่าอยู่ต่อไป
- ผู้ว่าการ ธปท) ระบุว่า การออกมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ช่วยให้ตลาดมีความสมดุลมากขึ้น เป็นตลาดที่สะท้อนความต้องการที่แท้จริงมากขึ้น และช่วยคนที่อยากจะซื้อบ้านหลังแรกให้สามารถซื้อได้ในราคาที่เหมาะสมขึ้น หากธปท.ไม่นำมาตรการดังกล่าวออกมาบังคับใช้ อาจจะเกิดปัญหาฟองสบู่แตกในภาคอสังหาริมทรัพย์ และจะส่งผลกระทบต่อทุกคนตามมา
-อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ แนะเอกชนติดตามสถานการณ์ข้อพิพาททางการค้าเรื่องการอุดหนุนเครื่องบินระหว่างสหรัฐกับสหภาพยุโรปอย่างใกล้ชิด เพื่อลดความเสี่ยงทางการค้าและเตรียมปรับตัวกรณีสองประเทศตอบโต้ทางการค้าระหว่างกัน
- เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่แล้ว