· ดัชนีดาวโจนส์ปิดปรับขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากที่ถ้อยแถลงของนายเจอโรม โพเวลล์ ประธานเฟดในสัปดาห์นี้มีสัญญาณการใช้นโยบายเชิงผ่อนคลายมากขึ้นที่อาจเกิดขึ้นได้ในการประชุมช่วงปลายเดือนนี้
ดัชนีดาวโจนส์ปิดปรับขึ้นเหนือ 27,000 จุดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยปิดปรับขึ้น 227.88 จุด หรือ +0.9% ที่ 27,088.08 จุด โดยแรงขับเคลื่อนส่วนใหญ่มาจากกระแสที่เฟดจะทำการปรับลดดอกเบี้ย เพื่อรับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปัญหาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน
ด้านดัชนี S&P500 ปิด +0.2% ที่ 2,999.91 จุด โดยยังคงมีทิศทางบวกหลังจากไปยืนเหนือ 3,000 จุดได้เป็นครั้งแรกเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ขณะที่ Nasdsaq ปิดอ่อนตัวเล็กน้อย 0.1% ที่ 8,196.04 จุด
· ตลาดหุ้นยุโรปปิดแดนลบ หลังจากที่ IMF ระบุว่า เศรษฐกิจยูโรโซนกำลังเผชิญความเสี่ยงจากความตึงเครียดทางการค้า, Brexit และปัญหาการเงินในอิตาลี ทาง IMF จึงมีการเรียกร้องให้อีซีบีเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ โดยดัชนีStoxx600 เคลื่อนไหวและปิดแดนลบ เช่นเดียวกับตลาดหุ้นกลุ่มอื่นๆ
ทั้งนี้ IMF เห็นควรที่อีซีบีจะยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปจนกว่าเงินเฟ้อจะกลับสู่เป้าหมายที่อีซีบีประเมินไว้ และการให้สัญญาณชี้นำล่าสุดอาจช่วยให้เงินเฟ้อปรับขึ้นได้บ้าง ซึ่งเป้าหมายของการใช้นโยบายการเงิน ณ ปัจจุบันอาจเป็นการใช้เพื่อสร้างเสถียรภาพทางความเสี่ยงของตลาดการเงินควบคู่กันไป
รายงานเรื่องเสถียรภาพทางการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) บ่งชี้ว่า บรรดาธนาคารในอังกฤษยังมีเม็ดเงินเพียงพอที่จะจัดการกับความเสี่ยงกรณี Brexit เป็นไปแบบ No-Deal หรือในสภาวะการเกิดสงครามการค้า แต่ก็มีการกล่าวเตือนว่าการลงทุนของต่างชาติในอังกฤษอาจเป็นผลตามมาที่จะสร้างความเสี่ยงเป็นวงกว้างต่ออังกฤษได้
· ตลาดหุ้นเอเชียเปิดผสมผสานกัน หลังดัชนีดาวโจนส์ปิดปรับขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยดัชนีนิกเกอิและ Topix เปิดทรงตัว ขณะที่ Kospi ของเกาหลีใต้เปิดอ่อนตัว และดัชนี ASX200 เปิด -0.38%
ทั้งนี้ กลุ่มนักลงทุนรอข้อมูลยอดดุลการค้าจีนประจำเดือนมิ.ย. ที่คาดว่าผลที่ออกมาจะประเมินถึงผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯและจีนได้
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- นักบริหารเงินประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ไว้ระหว่าง 30.55 - 30.88 บาท/ดอลลาร์
- นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในรัฐบาลประยุทธ์ 2 ว่า แม้จะมี ครม.ชุดใหม่ แต่สิ่งสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้อยู่ที่เรื่องของนโยบาย ซึ่งหากทุกฝ่ายร่วมกันผลักดันนโยบาย ความเชื่อมั่นก็จะเกิดขึ้น
- นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารซิตี้แบงก์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 62 ยังคงได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังไม่สิ้นสุด ส่งผลกระทบให้ภาคการส่งออกไทยชะลอตัว และกดดันต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้
ดังนั้นจึงทำให้ธนาคารปรับลดประมาณการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) เหลือเติบโต 3.3% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ 3.8% โดยภาคการส่งออกไทยเป็นปัจจัยกดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมากที่สุด โดยคาดว่าการส่งออกไทยในปีนี้จะขยายตัวได้น้อยกว่า 3%
ส่วนค่าเงินบาทในปัจจุบันที่แข็งค่าไปค่อนข้างมากโดยหลุดระดับ 31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯไปนั้น มองว่าเป็นผลมาจากการไหลเข้าของกระแสเงินทุนที่เข้ามาในตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นไทย หลังจากที่คาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมเดือนก.ค.นี้ ประกอบกับประเทศไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจนำเงินเข้ามาพักไว้เพราะถือว่าเป็น Safe Heaven