เหมือนกับนายเบน เบอนันเก้ และนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดคนก่อนๆ ซึ่งคราวนี้เป็นทีของนายเจอโรม โพเวลล์ ประธานเฟดคนปัจจุบัน ที่กำลังกังวลว่าหากใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่สุดโต่งเร็วเกินไป เฟดจะไม่เหลือเครื่องมือสำหรับการช่วยเกื้อหนุนเศรษฐกิจ หากวิกฤติทางเศรษฐกิจกลับมาเร็วกว่าที่คิด
ดังนั้นจึงเกิดเป็นแนวคิด “ปรับลดดอกเบี้ยเพื่อป้องกันความเสี่ยง” ในการประชุมเดือนนี้ ซึ่งก็ดูเป็นทางเลือกที่ประธานเฟดจะตัดสินใจเลือกใช้ แม้เศรษฐกิจจะยังมีสัญญาณของความแข็งแกร่งอยู่บ้างก็ตาม
Michelle Meyer หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจสหรัฐฯจาก Bank of America ระบุว่า เป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อที่เศรษฐกิจยังคงแข็งแกร่ง โดยสหรัฐฯมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นถึง 224,000 ตำแหน่ง มียอดค้าปลีกที่แข็งแกร่งกว่าที่คาด และดัชนี Core CPIก็ขยายตัวได้ถึง 0.3% ในเดือนที่ผ่านมา ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมก็เริ่มกลับมาขยายตัวได้ ภาพรวมตัวเลขทางเศรษฐกิจก่อนเข้าสู่การประชุมเฟดครั้งต่อไปจึงดูสดใสมากทีเดียว
อย่างไรก็ตาม Meyer และบรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างเชื่อมั่นว่าเฟดจะประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในวันที่ 31 ก.ค. นี้ ซึ่งจะเป็นการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2008 และน่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยครั้งต่อๆไปตามมาอีก และล่าสุด ตลาดก็เริ่มคาดการณ์กันว่า เฟดอาจปรับลดดอกเบี้ยด้วยอัตราที่มากกว่านี้อีก
โดยตลาดคาดการณ์โอกาสถึง 100% ที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% ในการประชุมครั้งนี้ ขณะที่โอกาสที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลง 0.50% ล่าสุดเพิ่มสูงขึ้นมาที่ระดับ 59% หลังถ้อยแถลงของประธานเฟดสาขานิวยอร์กที่ดูสนับสนุนการปรับลดดอกเบี้ย เทียบกับก่อนหน้านี้ที่ตลาดคาดการณ์โอกาสดังกล่าวไว้ที่ 35% ยิ่งไปกว่านั้น หลังถ้อยแถลงของรองประธานเฟด โอกาสดังกล่าวพุ่งขึ้นถึงระดับ 69%
Joseph LaVorgna หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์จาก Natixis ระบุว่า ถ้อยแถลงของบรรดาประธานเฟดสาขาต่างๆ ดูจะสนับสนุนให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% โดยอาจจะดูเป็นเรื่องแปลก ที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยในขณะที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจแข็งแกร่ง แต่นั่นแหละ ที่เป็นปัจจัยผลักดันให้เฟดปรับลดดอกเบี้ย โดยเฟดอาจพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยลง 0.50% และต่อจากนั้น เฟดก็จะกลับมาวิเคราะห์แนวทางดำเนินจากความแข็งแกร่งของตัวเลขเศรษฐกิจอีกครั้ง แต่คราวนี้เฟดจะมีทางเลือกสำหรับการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มากกว่าเดิม
Diane Swonk หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์จาก Grant Thornton มีมุมมองว่า เหตุผลที่ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจออกมาแข็งแกร่งขึ้น เป็นเพราะเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยนั่นเอง โดยหากเฟดไม่ส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงิน ก็คงไม่มีโอกาสได้เห็นการกลับมาขยายตัวของเศรษฐกิจ และเฟดก็จำเป้นต้องดำเนินการปรับลดดอกเบี้ยตามที่ส่งสัญญาณไว้ เพราะรักษาความน่าเชื่อถือของพวกเขาเอาไว้
Luke Tilley หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์จาก Wilmington Trust ระบุว่า ในเดือน ก.ย. ปี 1998 และ เดือน ก.ย. ปี 2007 สหรัฐฯเคยเผชิญกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ เฟดเมื่อตอนนั้นจึงได้ส่งสัญญาณ“ปรับลดดอกเบี้ยเพื่อป้องกันความเสี่ยง” และถึงแม้การส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินจะไม่สามารถเกื้อหนุนเศรษฐกิจได้ในปี 2007 แต่อย่างน้อยมันได้ผลสำหรับปี 1998
ทั้งนี้ แม้ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับผู้บริโภคจะส่งสัญญาณขยายตัว แต่ภาคการผลิตของสหรัฐฯส่วนใหญ่ยังค่อนข้างอ่อนแอ สอดคล้องกับทิศทางของเศรษฐกิจอื่นๆทั่วโลก
โดย Luke มองว่าปัญหาดังกล่าวมาจากการขึ้นภาษี และหากยังดำเนินต่อไป เฟดก็ไม่สามารถหานโยบายที่จะมาช่วยเกื้อหนุนในจุดนี้ได้ ดังนั้น โอกาสเดียวที่เศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตได้อย่างแท้จริงนั้น คือการที่สหรัฐฯ-จีนสามารถเจรจาแก้ไขความขัดแย้งทางการค้าลงได้