· ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดรอบ 2 เดือน ท่ามกลางตลาดที่กำลังรอคอยประชุมอีซีบีที่จะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ว่าจะมีท่าทีดำเนินนโยบายอย่างไร เนื่องจากหลายฝ่ายคาดหวังว่าจะเห็นการปรับลดดอกเบี้ย และเข้าร่วมเทรนการดำเนินนโยบายผ่อนคลายอย่างที่ธนาคารกลางทั่วโลกหลายแห่งดำเนินการ
ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลง 0.05% ที่ระดับ 1.1145 ดอลลาร์/ยูโร หลังไปทำต่ำสุดตั้งแต่ 31 พ.ค. บริเวณ 1.1143 ดอลลาร์/ยูโร
ค่าเงินยูโรค่อนข้างอ่อนค่ารวดเร็วจากการที่อีซีบีจะประชุมในวันพรุ่งนี้ท่ามกลางตลาดที่คาดหวังว่าจะเห็นอีซีบีเดินหน้าปรับลดดอกเบี้ยลง 0.1% และคาดจะเห็นสัญญาณชี้นำในเชิงผ่อนคลายทางการเงินมากขึ้น เพื่อปูทางสู่การดำเนินนโยบายในเดือนก.ย.
นอกจากนี้ ค่าเงินยูโรยังถูกดดันจากค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลงทำต่ำสุดรอบ 2 ปี หลังจากที่ นายบอริส จอห์นสัน ได้รับเสียงข้างมากในการท้าชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จึงยิ่งตอกย้ำกระแสจะเห็นอังกฤษออกจากอียูแบบ No-Deal
· ค่าเงินปอนด์ทำต่ำสุดที่ 1.2433 ดอลลาร์/ปอนด์ และยังคงเป็นการอ่อนค่าลงต่อเนื่องติดต่อกัน 4 วันทำการ และใกล้เคียงกับระดับต่ำสุดรอบ 2 ปีที่ทำไว้ในสัปดาห์ที่แล้วบริเวณ 1.2382 ดอลลาร์/ปอนด์
· ค่าเงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่าเพราะได้รับปัจจัยหนุนจากการที่สหรัฐฯบรรลุข้อตกลงขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ โดยดัชนีดอลลาร์ปรับขึ้นทำระดับสูงสุดรอบ 5 สัปดาห์บริเวณ 97.755 จุด
· DailyFx ระบุว่า ค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าแม้ว่าจะเห็นเฟดลดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ หลังจากที่ IMF หั่นแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลก
· นายจอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงระหว่างประเทศแห่งสหรัฐฯ พบกับบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเกาหลีใต้ ซึ่งได้แก่ หัวหน้าฝ่ายความมั่นคงระหว่างประเทศ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ เพื่อเจรจาภายใต้หัวข้อเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการค้าระหว่างเกาหลีใต้-ญี่ปุ่น การปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ และการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้-สหรัฐฯ รวมถึงประเด็นขัดแย้งในกรณีรัสเซียที่รัสเซียล่วงล้ำเข้ามาน่านฟ้าเกาหลีใต้เมื่อวานนี้
· กองทุน IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้และปีหน้า พร้อมกล่าวเตือน Trade War ระหว่างสหรัฐฯและจีน และกรณีที่อังกฤษจะออกจากอียูที่อาจยิ่งบั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้ภาคการลงทุนชะลอตัว และเป็นอุปสรรคต่อห่วงโซ่อุปทาน
นอกจากนี้ IMF ระบุถึงความเสี่ยงขาลงที่ดูจะรุนแรงขึ้น จึงทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกปีนี้น่าจะขยายตัวได้ 3.2% และ 3.5% ในปีหน้า โดยร่วงลงไปประมาณ 0.1% จากคาดการณ์ในเดือนเม.ย. หรือเรียกได้ว่าครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ที่ IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลก ตั้งแต่เดือนต.ค. ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจปีนี้ยังสะท้อนถึงภาวะเงินเฟ้อที่อ่อนตัวลงจากกิจกรรมต่างๆที่ออกมาแย่กว่าที่คาด จึงทำให้ IMF กล่าวถึง ภาวะตึงเครียดทางการค้าและเทคโนโลยี เป็นสาเหตุที่สร้างแรงกดดัน รวมทั้งความเสี่ยงในอนาคต
พร้อมกันนี้ IMF หั่นคาดการณ์การค้าโลกลง 0.9% สู่ระดับ 2.5% ในปีนี้ ขณะที่ปีหน้าคาดรีบาวน์กลับมาได้ที่ 3.7% แต่ก็ยังน้อยกว่าคาดการณ์เดิมที่ 3.9% โดยปริมาณการขยายตัวด้านการค้าลดลงไปประมาณ 0.5% ในไตรมาสแรก ซึ่งเป็นอัตราการชะลอตัวลงที่มากที่สุดตั้งแต่ปี 2012 ที่ดูจะสร้างผลกระทบต่อประเทศกำลังพัมนาในแถบเอเชีย
· อ้างอิงจากรายงานของ CPB สะท้อนว่า ปริมาณการซื้อขายทั่วโลกอ่อนตัวลง 2.3%ในช่วงระหว่าง ต.ค. - เม.ย. โดยร่วงลงต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 นับตั้งแต่ปี 2009 จึงสะท้อนว่าเศรษฐกิจโลกเริ่มมีเงาของภาวะการชะลอตัวลงครั้งใหญ่
· Deutsche Bank ประกาศผลประกอบการไตรมา 2 ออกมาอ่อนแอกว่าที่คาด โดยมียอดขาดทุนถึง 3.15 พันล้านยูโร (3.51 พันล้านเหรียญ) ขณะที่แบบสำรวจโดย Refinitiv คาดการณ์ว่าจะมียอดขาดทุนที่ 1.7 พันล้านยูโร แต่เนื่องจากการประกาศปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ทาง Deutsche Bank จึงคาดการณ์ยอดขาดทุนของตนเองไว้ที่ 2.8 พันล้านยูโร
· รายงานจาก Reuters ระบุว่า Nissan Motor Co กำลังพิจารณาปรับลดจำนวนพนักงานในสาขาทั่วโลกลงกว่า 10,000 คน เพื่อช่วยกอบกู้ให้ผลประกอบการขององค์กรกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง หลังจากบริษัทฯสูญเสียผลกำไรอย่างต่อเนื่องจากปัญหาในส่วนของภาคบริหาร
ทั้งนี้ การปรับลดจำนวนพนักงานครั้งนี้จะรวมไปถึงการปรับลดพนักงาน 4,800 รายในโรงงานต่างประเทศ ที่ประกาศไว้ในเดือน พ.ค. สำหรับการประกาศแผนปลดพนักงานน่าจะมีประกาศอย่างเป็นทางการในวันพฤหัสบดีนี้ ขณะที่หุ้นของ Nissan ปรับสูงขึ้นได้ถึง 1.0% หลังตลาดทราบข่าว
· หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก China International Capital Corporation กล่าวว่า การปรับลดภาษีของจีนอาจสิ้นสุดลงเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ หากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนยังไม่สามารถฟื้นฟูขึ้นได้ ขณะที่จีดีพีไตรมาสที่ 2 ของจีนปีนี้ชะลอตัวลงมากที่สุดในรอบ 27 ปี ที่ระดับ 6.2% ดังนั้น รัฐบาลต้องดำเนินการอย่างเพียงพอเพื่อให้กิดการสนับสนุนทางเศรษฐกิจ
· รายงานสำนักข่าว Tasnim ของอิหร่านระบุว่า อังกฤษส่งตัวแทนเจรจาไปยังอิหร่าน เพื่อเจรจาขอให้อิหร่านปล่อยเรือบรรทุกน้ำมันของอังกฤษที่ถูกทางกองทัพอิหร่านยึดไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีรายงานความคืบหน้าของการเจรจาใดๆ
· เกาหลีใต้เรียกร้องไม่ให้ญี่ปุ่นลบชื่อเกาหลีใต้ออกจากบัญชีรายชื่อประเทศที่ถูกจำกัดทางการค้าน้อยที่สุด หรือที่เรียกว่า White List เนื่องจากหากดำเนินการจริง อาจส่งผลให้การเจรจาในภายภาคหน้าเป็นไปอย่างยากลำบากและอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงระหว่างประเทศ
· สถาบัน BlackRock เปลี่ยนสถานะ “underweight” สำหรับหุ้นและเครดิตของตลาดยุโรป รวมถึงพันธบัตรรัฐบาลยุโรป มาเป็นสถานะ “overweight” ท่ามกลางการคาดการณ์ว่า อีซีบีจะมีการส่งสัญญาณ “ผ่อนคลายนโยบายครั้งสำคัญ”
ทั้งนี้ บรรดานักวิเคราะห์จากสถาบันชั้นนำส่วนใหญ่ ต่างคาดการณ์ว่า ในการประชุมสัปดาห์นี้ อีซีบีจะมีการวางรากฐานสำหรับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินให้ผ่อนคลายมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ ท่ามกลางแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และอัตราเงินเฟ้อที่ยังซบเซา
· รัฐบาลรัสเซียชี้แจงต่อกรณีที่อากาศยานทางทหารของพวกเขาล่วงล้ำเข้าไปในน่านฟ้าของเกาหลีใต้ โดยระบุว่าเหตุดังกล่าวเกิดจากความผิดพลาดของอุปกรณ์ ส่งผลให้อากาศยานบินล่วงล้ำเข้าไปในพื้นที่ที่ไม่ได้ตั้งใจ
เมื่อวานนี้ เกิดเหตุเครื่องบินทิ้งระเบิดของรัสเซียล่วงล้ำเข้าไปในน่านฟ้าของเกาหลีใต้ ทำให้เครื่องบินรบของเกาหลีใต้ยิงเตือนเป็นจำนวนหลายร้อยนัด
· ราคาน้ำมันดิบเพิ่มสูงขึ้น จากความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นในอิหร่าน ท่ามกลางการร่วงลงของสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯและสัญญาณเชิงบวกเกี่ยวกับการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน แม้ว่าความกังวลเกี่ยวกับปริมาณอุปสงค์ที่อ่อนแอยังเป็นปัจจัยที่กดดันการเพิ่มขึ้นของราคาอยู่ก็ตาม
ราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับเพิ่มขึ้น 0.3% ที่ระดับ 64.04 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้่ำมันดิบ WTI เพิ่มขึ้น 0.5% ที่ระดับ 57.05 เหรียญ/บาร์เรล
โดยสถาบันปิโตรเลียมสหรัฐฯ (API) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐร่วงลง 11 ล้านบาร์เรลสู่ระดับ 449 ล้านบาร์เรล ในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 19 ก.ค. ขณะที่เหล่านักวิเคราะห์คาดว่าจะร่วงลง 4 ล้านบาร์เรล
· นักวิเคราะห์จาก DailyFX มองว่า ราคาน้ำมันดิบหากปรับตัวขึ้นผ่านแนวต้าน 58.19 เหรียญ/บาร์เรลได้ ก็มีโอกาสกลับทดสอบบริเวณ 60.04 - 60.84 เหรียญ/บาร์เรล แต่หากราคาน้ำมันถูกแรงเทขายกลับลงมาอีกครั้งหลุดแนวรับ 54.84 เหรียญ/บาร์เรล ที่เคลื่อนไหวในปัจจุบัน ก็มีโอกาสกลับลงมาทดสอบเป้า 50.60 - 49.41 เหรียญ/บาร์เรล