· ดัชนีดาวโจนส์ปิด -128.99 จุด หรือคิดเป็น -0.5% ที่ระดับ 27,140.98 จุด ขณะที่ S&P500 ปิด -0.5% ที่ระดับ 3,003.67 จุด และ Nasdaq ปิด -1% ที่ระดับ 8,238.54 จุด ซึ่งทั้ง S&P500 และ Nasdaq ต่างก็เป็นดัชนีที่ทำประวัติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อวานนี้
ตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดปรับตัวลงท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่วิตกกังวลว่าเฟดอาจจะไม่ทำการผ่อนคลายทางการเงินไปตามที่คาดการณ์ไว้ ในการประชุมสัปดาห์หน้า เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯส่วนใหญ่ยังคงออกมาแข็งแกร่ง ประกอบกับถ้อยแถลงของประธานอีซีบีที่ดูจะมีความเสี่ยงที่จะเห็นเศรษฐกิจยูโรโซนเผชิญภาวะถดถอยในระดับต่ำ จึงทำให้บรรดาเทรดเดอร์มีมุมมองว่า ธนาคารกลางต่างๆอาจไม่เร่งเดินหน้าปรับลดดอกเบี้ยมากเกินไป และน่าจะเห็นเฟดมีแนวทางเดียวกัน ซึ่งเฟดจะเข้าสู่วาระการประชุมในวันอังคารและวันพุธหน้า
· หุ้นยุโรปปิดอ่อนตัวลง โดย Stoxx 600 ปิด -0.5% หลังจากที่อีซีบีตัดสินใจคงดอกเบี้ย แต่มีการส่งสัญญาณอาจใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มขึ้นในอนาคตได้
· หุ้นเอเชียเปิดปรับตัวลง ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นว่าเฟดอาจไม่ปรับลดอกเบี้ยได้มากตามที่คาดหวังไว้ในการประชุมสัปดาห์หน้า โดยดัชนีนิกเกอิเปิด -0.35% ขณะที่ Topix เปิด – 0.4%
ด้านหุ้น Kospi ของเกาหลีใต้เปิด -0.45% และ S&P/ASX200 ปิด -0.38% ประกอบกับหุ้น MSCI ที่ไม่รวมญี่ปุ่นเช้านี้ก็เปิด -0.21%
อย่างไรก็ดี บรรดานักลงทุนในตลาดเอเชียรอคอยการเปิดตลาดของฮ่องกงในเช้าวันนี้ หลังมีรายงานว่ายอดส่งออกประจำปีปรับตัวลงมากที่สุดในรอบเกือบ 3 ปีครึ่งในเดือนมิ.ย.
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในวันนี้ไว้ระหว่าง 30.80-31.00 บาท/ดอลลาร์
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพรวมสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศจะขยายตัว 4.5% ชะลอลงจากที่ขยายตัว 5.7% ในปี 2561 เนื่องจากการเบิกใช้สินเชื่อในช่วงครึ่งปีแรกยังฟื้นตัวไม่มาก โดยเฉพาะในกลุ่มสินเชื่อภาคธุรกิจ สำหรับสินเชื่อรายย่อยที่เติบโตดีในช่วงครึ่งแรกของปีนั้น คาดว่า คงชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากปัจจัยพิเศษที่สนับสนุนการเร่งตัวของสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ทยอยลดลง อย่างไรก็ดี การเติบโตในอัตราที่ชะลอลงของสินเชื่อดังกล่าว ยังเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับข้อจำกัดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้
- ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน คาดว่าเศรษฐกิจไทย ปี 2562 จะขยายตัวอยู่ที่ 3.6% ชะลอตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลกระทบจากสงครามการค้า และค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องเป็นแรงกดดันต่อการส่งออกสินค้าและบริการ ประกอบกับหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อกำลังซื้อของภาคครัวเรือน ขณะที่เศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.5%
- อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่าการใช้สิทธิรวม 30,668.86 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.76% มีอัตราการใช้สิทธิ 79.23% ของการได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งหมด