· ค่าเงินดอลลาร์ทรงตัวใกล้ระดับสูงสุดรอบ 2 เดือน ก่อนทราบผลการตัดสินใจประชุมเฟด ประกอบกับตลาดจับตาความเสี่ยงกรณี Brexit ที่เพิ่มขึ้นว่าอังกฤษอาจออกจากอียูโดยปราศจากข้อตกลงใดๆ และนั่นกดดันให้เงินปอนด์อ่อนค่าทำต่ำสุดรอบ 28 เดือน
นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวโจมตีเฟดอีกครั้งเมื่อวานนี้ผ่านทางทวิตเตอร์ โดยระบุว่า การปรับลดดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อยอาจไม่ส่งผลเท่าใดนัก ซึ่งเฟดมีท่าทีระมัดระวังมากเกินไปเมื่อเทียบกับการดำเนินนโยบายของจีนและยุโรปในเวลานี้
ดัชนีดอลลาร์เมื่อวานนี้ปิด +0.08% ที่ระดับ 98.08 จุด ขณะที่ ค่าเงินยูโรทรงตัวที่ 1.1139 ดอลลาร์/ยูโร อยู่ใกล้เคียงกับระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ พ.ค. ปี 2017 ที่ทำไว้ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาแถว 1.110 ดอลลาร์/ยูโร
อย่างไรก็ดี ข้อมูลจีดีพีสหรัฐฯไตรมาสที่ 2 ที่ประมาณการณ์ครั้งล่าสุดออกมาดีขึ้นเกินคาดในวันศุกร์ที่ผ่านมาก็ดูจะยังเป็นปัจจัยสนับสนุนดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ แต่เทรดเดอร์ก็กำลังรอคอยเหตุการณ์สำคัญในสัปดาห์นี้อย่างประชุมเฟดด้วยเช่นกัน
เมื่อวานนี้ เงินเปอนด์ร่วงลง 1.3% ทำต่ำสุดรอบ 28 เดือนจากกลุ่มนักลงทุนที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อ กรณีที่ นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่จะเรียกร้องให้เกิดการเลือกตั้งในเร็วๆนี้ ประกอบกับความเสี่ยงจากแนวคิดของเขาที่อาจจะออกจากอียูแบบ No-Deal
· ราคาผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่รอคอยประชุมเฟด ที่ถูกคาดว่าจะเห็นเฟดทำการปรับลดดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตทางการเงิน โดยอัตราผลตอบแทนอายุ 10 ปีอ่อนตัวลงเล็กน้อยที่ 2.0505% ขณะที่ 30 ปี ปรับลงมาแถว 2.5763%
· นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ และนายโรเบิร์ต ไลท์ไธเซอร์ ตัวแทนการค้าระดับสูงของสหรัฐฯ กลับสู่โต๊ะเจรจากับจีนอีกครั้ง โดยมีกำหนดการประชุมในช่วง 2 วัน หลังจากที่ผู้นำของทั้งสองประเทศตกลงที่จะกลับมาเจรจาร่วมกันอีกครั้งในการประชุม G20 เดือนที่แล้ว ซึ่งก็ดูเหมือนไม่มีฝ่ายใดจะมีท่าทีให้เกิดข้อตกลงอย่างเร่งด่วน
· รายงานจาก Reuters ระบุว่า หลายบริษัทในสหรัฐฯยังคงมีความกังวลระดับสูงต่อการเจรจาทางการค้าของสหรัฐฯและจีน ท่ามกลางช่วงประกาศผลประกอบการของสหรัฐฯในช่วงนี้ อาทิ บริษัท Juniper Networks หรือแม้แต่ O’Reilly Automotive ที่เริ่มได้รับผลประทบตามลำดับและพวกเขาจะหาวิธีหลีกเลี่ยงผลกระทบดังกล่าว โดยจะมีการขึ้นราคาสินค้าให้สอดคล้องกับอัตราภาษีที่สูงขึ้น แต่ถึงแม้จะมีระบบการจัดการและการขึ้นราคาสินค้าเพื่อป้องกันความเสียหายแล้ว แต่ Trade War ก็ดูจะยังสร้างแรงกดดันอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
ทั้งนี้ หลายๆบริษัทฯก็ดูจะประเมินถึงผลกระทบของ Trade War ไว้เพียงเล็กน้อย แต่ความไม่แน่นอนจากเรื่องดังกล่าวก็ดูจะเพิ่มขึ้นที่กระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับข้อมูลเศรษฐกิจที่ดูไม่ค่อยดีนักของยุโรปและญี่ปุ่น
· รายงานจาก CNBC เผยความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์ โดยระบุว่า ประธานไอเอ็มเอฟคนต่อไปจากนางคริสติน ลาการ์ด ที่ตัดสินใจลาออกในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา จะต้องพร้อมรับมือกับ Trade Wars, การดำเนินนโยบายค่าเงิน รวมทั้งค่าเงินสกุลดิจิตอลรูปแบบใหม่
· ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่นปรับตัวลงเกินคาดในเดือนมิ.ย. ที่ -3.6% หลังจากที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง 2 เดือนติดต่อกัน อันเป็นผลสืบเนื่องจากความเสี่ยงของต่างชาติที่ดูจะได้รับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลก และผลสะท้อนที่ว่าสงครามการค้ากำลังส่งผลกตะทบต่อกลุ่มภาคส่งออก
· ราคาน้ำมันดิบปิดปรับตัวสูงขึ้นจากโอกาสที่จะเห็นเฟดปรับลดดอกเบี้ย ในขณะที่สหรัฐฯและจีนเริ่มกลับมาเจรจากันอีกครั้ง และตลาดยังมีความกังวลต่อภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลกอยู่ โดยน้ำมันดิบ Brent ปิด +0.2% ที่ระดับ 63.6 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ WTI ปิด +1.2% ที่ระดับ 56.87 เหรียญ/บาร์เรล