· หุ้นสหรัฐฯดิ่งหลังเฟดลดดอกเบี้ยตามคาด พร้อมถ้อยแถลงที่ตลาดตีความการลดความหวังจะเห็นเฟดลดดอกเบี้ยต่อเนื่องในปีนี้ โดยดัชนีดาวโจนส์ปิด -333.75 จุด หรือ -1.2% ที่ระดับ 26,864.27 จุด หลังจากที่ช่วงต้นตลาดร่วงลงหนัก 478 จุด
ด้านดัชนี S&P500 ปิด -1.1% ที่ระดับ 2,980.38 จุด และ Nasdaq ปิด -1.2% ที่ระดับ 8,175.42 จุด
ทั้งนี้ ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงหนักสุดระดับวันนับตั้งแต่ 31 พ.ค. ควบคู่กับ S&P500 และ Nasdaq ที่ปรับตัวลงระดับวันมากที่สุดตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมิ.ย.
ผู้จัดการฝ่ายบริหารพอร์ตจาก Federated Investors ระบุว่า ตลาดค่อนข้างผิดหวังกับถ้อยแถลงของนายโพเวลล์ ที่ดูไม่บ่งชี้ว่าการลดดอกเบี้ยครั้งนี้จบลงแล้วหรือไม่ และก็ไม่ได้ให้สัญญาณการันตีว่าจะลดดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนก.ย.หรือไม่
· ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่รอคอยการตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยของเฟด โดยดัชนี Stoxx 600 ปิด +0.2% ขณะที่หุ้น FTSE100 ปิด -0.6%
· ตลาดหุ้นเอเชียเปิดแดนลบเช้านี้ ท่ามกลางหุ้นเกาหลีใต้ที่ปรับร่วงลงอย่างหนัก หลังการประกาศยอดส่งออกของประเทศออกมาลดลงสู่ระดับ 11% น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 11.3% ส่งผลให้ดัชนี Kospi เปิด -0.5% ท่ามกลางหุ้นเทคโนโลยีรายใหญ่ ที่ปรับลดลง อย่าง Samsung -0.88% หรือ SK Hynix -0.78%
ขณะที่ดัชนี Nikkei เปิด -0.96% ส่วนดัชนี Topix เปิด -0.68% และดัชนี MSCI ที่ไม่รวมตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิด -0.4%
· CNBC ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทไทยแข็งค่ากว่า 5% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นค่าเงินที่แข็งค่ามากที่สุดในบรรดาตลาดเกิดใหม่ อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของค่าเงินบาทเกิดขึ้นท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจไทยกำลังอ่อนแอ จึงเกิดเป็นความกังวลว่า ค่าเงินที่แข็งค่ากำลังสร้างความเสียหายให้กับการส่งออกของประเทศที่กำลังชะลอตัว
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์เศรษฐกิจเอเชียจากธนาคาร DBS ระบุว่า ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อช่วยลดผลตอบแทนที่สูงของค่าเงินบาทและเกื้อหนุนเศรษฐกิจในประเทศได้ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จาก ING ระบุว่า หากทาง ธปท. ปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% จะเป็นการลบล้างการปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. และผลกระทบจากการปรับลดดอกเบี้ยจะอยู่ในวงจำกัด
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- นักบริหารเงิน คาดวันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 30.85 - 31.00 บาท/ดอลลาร์
- รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานเตรียมทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี 61-80
(PDP2018) เพื่อให้มีการกระจายพลังงานไปสู่ชุมชนมากขึ้น รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ใช้พลังงานเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าได้ ตลอดจนจะมีการพิจารณาข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่เห็นว่ารัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 51% ภายใน 10 ปีนับจากปี 62 รวมถึงการพิจารณาประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยเศรษฐกิจไทยเดือนมิ.ย. 62 ชะลอจากเดือนก่อนจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงในเดือบทุกหมวด ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัว และการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ด้านการส่งออกสินค้า การนำเข้าสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่อง สำหรับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวเล็กน้อยจากนักท่องเที่ยวอินเดียเป็นสำคัญ ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนยังหดตัว
- ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) คาดว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในสัปดาห์หน้าจะยังคงดอกเบี้ยนโยบายต่อไปที่ 1.75% จากความกังวลความเปราะบางต่อเสถียรภาพระบบการเงินเป็นเหตุผลหลัก แม้เฟดจะประกาศลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันนี้ 31 ก.ค.62
- ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของมูลค่าส่งออกของไทยในปี 62 โดยคาดว่าจะขยายตัว 0.2% หลังจากในช่วงครึ่งแรกปี 62 มูลค่าส่งออกของไทยหดตัวถึง 2.9% เป็นผลของสงครามการค้าที่ยังยืดเยื้อระหว่างสหรัฐฯ-จีนทำให้สินค้าส่งออกของไทยในห่วงโซ่การผลิตและพึ่งพาตลาดจีนสูงหดตัวต่อเนื่อง อาทิ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เม็ดพลาสติก