· นักวิเคราะห์จาก FXStreet ระบุว่า ค่าเงินยูโรมีการทรงตัวในกรอบขาขึ้น ท่ามกลางความเป็นไปได้ที่จะเห็นเฟดลดดอกเบี้ยจากความตึงเครียดทางการค้า แต่ภาพรวมการปรับแข็งค่าของยูโรน่าจะมีจำกัด เนื่องจาก Trade War อาจจะกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเยอรมนี เราจึงเห็นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเยอรมนีเข้าสู่แดนลบเป็นครั้งแรก
อย่างไรก็ดี ณ ปัจจุบันค่าเงินยูโรมีการซื้อขายเหนือเส้นค่าเฉลี่ย MA ราย 200 ชม. ที่ระดับ 1.1124 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งหากหลุดลงมามีโอกาสเห็นค่าเงินยูโรอ่อนค่ากลับลงมาที่ 1.1096 ดอลลาร์/ยูโร แต่หากยืนเหนือ 1.1162 ดอลลาร์/ยูโร ก็มีโอกาสปรับแข็งค่าขึ้นไปได้อีกครั้ง และจะทำให้เกิดภาวะ Bullish Divergence ของเส้น MA และจะส่งผลให้ เส้น Histogram เกิดการกลับตัว
· ค่าเงินหยวนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ หลุดระดับสำคัญที่ 7 หยวน/ดอลลาร์ ขึ้นมาเคลื่อนไหวแถว 7.0304 หยวน/ดอลลาร์ สำหรับเงินหยวนในประเทศ และ 7.0807 หยวน/ดอลลาร์ สำหรับเงินหยวนนอกประเทศ ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วิกฤติทางการเงินปี 2008 ที่ค่าเงินหยวนอ่อนค่าหลุดระดับสำคัญดังกล่าว
การอ่อนค่าของเงินหยวนครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน โดยนักวิเคราะห์จาก Bank of America Merrill Lynch ให้สัมภาษณ์กับ CNBC โดยระบุว่า การอ่อนค่าครั้งนี้ เป็นการตอบโต้สหรัฐฯของรัฐบาลจีน ที่ในอดีตรัฐบาลพยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่ใช้วธีการนี้มาโดยตลอด
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศแห่งประเทศจีน ออกมากล่าวตอบโต้การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ โดยระบุว่า จีนไม่ต้องการที่จะต่อสู่กับสหรัฐฯในสงครามการค้า แต่ก็ไม่เกรงกลัวที่จะตอบโต้
· ด้านค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงิน Safe-haven ดั้งเดิมอย่างค่าเงินเยน โดยค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า 0.5% แถว 106.07 เยน/ดอลลาร์ ทำระดับอ่อนค่าสุดที่ 105.80 เยน/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค.
ค่าเงินยูโรแข็งค่า 0.15% แถว 1.1122 ดอลลาร์/ยูโร เป็นการฟื้นตัวต่อเนื่องจากระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปีที่ 1.1027 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งลงไปเมื่อวันพฤหัสบดีสัปดาห์ก่อน
· รายงานจาก The Wall Street Journal ระบุว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพิกเฉยต่อคำเตือนของบรรดาที่ปรึกษาทั้งหมดของเขา ที่ไม่เห็นด้วยกับการสั่งให้เดินหน้าขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอีก 10% เป็นมูลค่า 3 แสนล้านเหรียญ หลังจากการถกเถียงกันเป็นเวลาเกือบ 2 ช.ม. ก่อนที่ทีมที่ปรึกษาจะยอมอ่อนข้อให้และช่วยนายทรัมป์เขียนข้อความในทวิตเตอร์
· เหตุการณ์ประท้วงในฮ่องกงขยายตัวรุนแรงและมีแนวโน้มที่จะทำให้เศรษฐกิจฮ่องกงอยู่ในภาวะอัมพาต ท่ามกลางกลุ่มผู้ชุมนุมที่ขยายแคมเปญต่อต้านรัฐบาลเป็นวงกว้างขึ้น ส่งผลให้เที่ยวบินกว่า 100 เที่ยวถูกยกเลิกไป
ขณะที่นางแครี ลาม ผู้นำรัฐบาลฮ่องกง ได้ประกาศว่าเมืองฮ่องกงกำลังอยู่ในภาวะ “อันตรายสุดขีด”
· นายแฟรงค์ เลวิน อดีตเอกอัคราชทูตสหรัฐฯประจำสิงคโปร์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถาบัน Export Now ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNBC โดยระบุว่า การประกาศขึ้นภาษีจีนรอบล่าสุดของสหรัฐฯ ได้ส่งผลให้โอกาสที่ทั้งสองประเทศจะสามารถหาข้อตกลงการค้าร่วมกันได้ ยิ่งตกต่ำลงไปอีก และโอกาสที่จะหาข้อตกลงได้ภายในปีนี้ก็ลดลงจนแทบจะเป็นศูนย์
ขณะที่นักวิเคราะห์หลายรายมองว่า แม้จะพยายามกดดันจีนหลายต่อหลายครั้ง นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังต้องการบรรลุข้อตกลงการค้าร่วมกับจีน เพื่อให้เขาสามารถเอาชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 ได้ โดยหนึ่งในนักวิเคราะห์กลุ่มนี้ ซึ่งก็คือนายเชน โอลิเวอร์ จากสถาบัน AMP Capital มองว่า โอกาสชนะการเลือกตั้งของนายทรัมป์ ขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯเป็นสำคัญ โดยอดีตประธานาธิบดีหลายคนที่ไม่สามารถเอาชนะในสมัยที่ 2 ได้ มักมีสาเหตุมาจากอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น ดังนั้นจึงเชื่อว่ามีโอกาสที่ทั้งสองประเทศจะบรรลุข้อตกลงการค้าได้
· ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกที่เพิ่มขึ้นหลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐยืนยันที่จะขยายสงครามการค้ากับจีนด้วยการประกาศจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐฯจีนเพิ่มขึ้นในวันที่ 1 ก.ย.นี้
ราคาน้ำมันดิบ Brent ลดลง 1.5% ที่ระดับ 60.97 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI ลดลง 1.3% ที่ะรดับ 54.93 เหรียญ/บาร์เรล
สำหรับภาพรวมรายสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบ Brent ร่วงลง 2.5% ด้านราคาน้ำมันดิบ WTI ลดลง 1%
โดยตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลงมากที่สุดในรอบ 6 เดือน ขณะที่ราคาทองคำเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากเหล่านักลงทุนกลับเข้าหาสินทรัพย์ปลอดภัยเนื่องจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสงครามทางการค้าที่เพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐฯกับจีน