ตลาดหุ้นเมื่อวานนี้สั่นคลอนจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีร่วงลงต่ำกว่า 1.6% ซึ่งเป็นต่ำสุดของปี 2016 ก่อนที่จะกลับมาเคลื่อนไหวแถว 1.7412% ได้ในช่วงเช้าวันนี้
อย่างไรก็ดี การร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอาจเป็นการสะท้อนถึงสัญญาณต่อความกังวลด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจจากกลุ่มนักลงทุนและฉุดให้เกิดแรงเทขายเข้ามาในตลาดหุ้นอีกครั้ง ในขณะที่ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนยังคงดำเนินต่อไป
· ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวสูงขึ้นหลังการประกาศข้อมูลการค้าจีนออกมาดีขึ้นกว่าคาด จึงช่วยผ่อนคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะสงครามการค้าลงไปบางส่วน แต่กลับถูกจำกัดโดยค่าเงินหยวนที่ยังเคลื่อนไหวในระดับอ่อนค่า
ทั้งนี้ ดัชนี MSCI ไม่รวมตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปรับสูงขึ้น 0.9% แต่ในภาพรวมช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมายังปรับตัวลดลงอยู่ถึง 7%
นักวิเคราะห์จาก JPMorgan ระบุว่า ตลาดมีมุมมองว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะจากการเคลื่อนไหวของ Yield curve ที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ช่วงเริ่มต้นของภาวะถดถอย
· ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับสูงขึ้นได้เล็กน้อยจากแรงเข้าซื้อเพื่อเก็งกำไร หลังจากเผชิญแรงเทขายอย่างหนักตลอดช่วงสัปดาห์นี้ ขณะที่ความเชื่อมั่นในตลาดยังอยู่ในระดับที่อ่อนแอจะความไม่แน่นอนของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน
ทั้งนี้ดัชนี Nikkei ปิด +0.37% ระดับ 20,593.35 จุด หลังจากปรับร่วงติดต่อกัน 4 วันทำการ ขณะที่ดัชนี Topix ปิด -0.08% ที่ระดับ 1,498.66 จุด
· ตลาดหุ้นจีนปิดในแดนบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 6 วันทำการ ท่ามกลางค่าเงินหยวนที่เริ่มฟื้นตัว จึงผ่อนคลายความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าลงไปได้บางส่วน
โดยดัชนี Shanghai Composite ปิด +0.9% ที่ระดับ 2,794.55 จุด ขณะที่ blue-chip CSI300 ปิด +1.3% โดยในช่วง 6 วันทำการที่ผ่านมา ทั้งสองดัชนีต่างปรับร่วงลงไปกว่า 6% ก่อนที่จะกลับมาปรับขึ้นได้ในวันนี้ด้วยอัตราที่มากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.
· ตลาดหุ้นยุโรปเปิดในแดนบวก หลังบรรดานักลงทุนเริ่มทยอยกลับเข้าหาสินทรัพย์เสี่ยงจากความกังวลต่อสงครามการค้าที่ผ่อนคลายลงและการประกาศผลประกอบการของบรรดาบริษัทที่ค่อนข้างสดใส โดยดัชนี Stoxx 600 เปิด +0.7% นำโดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ปรับขึ้นกว่า 1.4%
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ค.62 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 75.0 จาก 76.4 ในเดือน มิ.ย.62 เป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และต่ำสุดในรอบ 22 เดือน จากความกังวลสถานการณ์เศรษฐกิจ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 62.2 จาก 63.4 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ อยู่ที่ระดับ 70.9 จาก 72.2 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 91.9 จาก 93.5
ปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหาสงครามการค้าโลก, ภัยแล้ง, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับลดลง, การส่งออกในเดือน มิ.ย.62 ติดลบ 2.15%, ผู้บริโภคกังวลเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้าและกระจุกตัว
ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ การเมืองในประเทศชัดเจนขึ้นหลังมีการตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ , ราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลง และเงินบาทแข็งค่า
- นายพิชัย เลิศสุพงศ์กิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายการตลาด บล.ธนชาต กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้แกว่งตัว โดยตลาดฯได้รับแรงกดดันจากหุ้นในกลุ่มพลังงานหลังราคาน้ำมันปรับตัวลง และผลประกอบการงวดไตรมาส 2/62 ของบริษัทในกลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) ก็แย่ ทำให้หุ้นในกลุ่ม PTT เซในเช้านี้ กดดันภาพรวมของตลาดฯ ส่วนการขึ้นเครื่องหมาย XD ของหุ้น SCC และ PTTEP ก็กดดันตลาดฯเล็กน้อย
ขณะที่หุ้นในกลุ่มแบงก์เริ่มยืนได้หลังจากที่มีแรงขายหนักเมื่อวานนี้หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ส่วนหุ้นในกลุ่มท่องเที่ยวก็เริ่มยืนได้หลังจากที่เหตุการณ์ระเบิดหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯเริ่มหายไป แต่หุ้นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลกยังคงเซอยู่
ด้านตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้ส่วนใหญ่ฟื้นตัวขึ้นได้ โดยดัชนีฯบวกเกือบ 1% ซึ่งยังต้องติดตามสถานการณ์การเจรจาการค้าระหว่งสหรัฐฯ และจีน, การส่งสัญญาณเศรษฐกิจโลกจะมีการชะลอตัวหรือไม่ ส่วนในประเทศก็ให้ติดตามการคุมสถานการณ์หลังจากเกิดเหตุการณ์ระเบิดในช่วงที่ผ่านมา