ทั้งนี้ภาพรวม ดัชนี S&P500 และ Nasdaq สัปดาห์นี้ขยับขึ้นได้เพียง 0.2% และ 0.4% ตามลำดับ ขณะที่ดาวโจนส์สัปดาห์นี้ดูจะลดลงไปประมาณ 0.4%
หัวหน้านักวิเคราะห์ฝ่ายการตลาดจาก SunTrust Private Wealth กล่าวว่า ค่อนข้างปกติที่เห็นราคาปรับตัวขึ้นหลังจากที่ตลาดประสบภาวะช็อก ซึ่งเป็นผลจากภาวะตลาดที่เคลื่อนไหวตามความกังวลและตอบรับ เมื่อเราเห็นนักลงทุนเริ่มต้นที่จะเทขายก็จะเห็นนักลงทุนที่ต้องการซื้อเข้ามาเช่นกัน
· นักวิเคราะห์จาก J.P. Morgan มีมุมมองว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯจะสามารถกลับขึ้นไปที่จุดสูงสุดเดิมได้ จึงมองว่าการที่ตลาดปรับตัวลดลงในช่วงนี้ เป็นโอกาสสำหรับการเข้าซื้อเพื่อเก็งกำไรระยะกลาง โดยปัจจัยที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของตลาดหุ้นมาจากอัตราค่าจ้างเฉลี่ยที่ยังประกาศออกมาดีกว่าที่คาด และการผ่อนคลายนโยบายการเงินของทั่วโลก จึงทำให้ค่าเงินส่วนใหญ่สูญเสียความน่าลงทุนไป ดังนั้น หุ้นจึงเป็นตัวเลือกที่ดีและมีโอกาสเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในระยะยาว
· ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวสูงขึ้นท่ามกลางความมีเสถียรภาพมากขึ้นในอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ประกอบกับยอดส่งออกจีนที่ออกมาดี โดยดัชนี Stoxx 600 ปิด +1.4% และหุ้นกลุ่มทรัพยากรที่มีความสัมพันธ์กับการส่งออกของจีนก็พุ่งขึ้นไปกว่า 2.3% โดยภาพรวมเรียกได้ว่า ดัชนี Stoxx 600 ปิดปรับขึ้นระดับวันที่ดีที่สุดในรอบเกือบ 2 เดือน
· ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางเหล่านักลงทุนที่รอคอยการประกาศข้อมูลเงินเฟ้อของจีน ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตได้ดีกว่าที่คาดในช่วงไตรมาสที่ 2
โดยเช้านี้ ดัชนี Nikkei เพิ่มขึ้น 0.87% เนื่องจากหุ้นหลักส่วนใหญ่และกลุ่ม Softbank เพิ่มขึ้น 1.15% ด้านดัชนี Topix ก็เพิ่มขึ้น 0.79% รวมถึงดัชนี Kospi ที่เพิ่มขึ้น 0.87%
สำหรับวันนี้ตลาดสิงคโปร์และตลาดไต้หวันปิดทำการ
· นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทวันนี้ไว้ที่ระหว่าง 30.65-30.80 บาท/ดอลลาร์ โดยตลาดรอปัจจัยใหม่เข้ามาเพิ่มเติม ค่าเงินบาทแข็งค่าตามภูมิภาคหลังค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สำนักวิจัย Krungthai Compass ธนาคารกรุงไทย (KTB) คาดว่า ค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีแนวโน้มแข็งค่า และมีโอกาสแข็งค่าไปแตะที่ระดับ 30.20 บาท/ดอลลาร์ จากปัจจุบันที่เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 30.70-30.80 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีความแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาค เพราะแม้เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัว แต่ก็ยังยังชะลอน้อยกว่าประเทศอื่น
- ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ไทย เปิดเผยว่า การประกาศลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวานนี้ ทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ และไทยกลับไปสู่ใน 0.5 ซึ่งเท่าช่วงก่อนที่ FED จะลดอัตราดอกเบี้ย 2.0 - 2.25% (1 ส.ค.62) โดยประเมินว่าแรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาทลดลง และเงินบาทน่าจะเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนตัวลงจากขณะนี้ ประกอบกับมาตรการเพื่อเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นที่ออกมาก่อนหน้านี้ จะเป็นอีกกลไกหนึ่งเพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินให้สอดคล้องกับสภาพปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในเดือนก.ค.62 ปรับตัวลดมาอยู่ที่ระดับ 41.5 จากเดิมที่ระดับ 43.1 ในเดือนมิ.ย.62 ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 66 เดือน โดยพบว่าครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจและการครองชีพของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องรายได้และการมีงานทำ ค่าใช้จ่าย รวมถึงภาระหนี้สิน
- ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ค.62 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 75.0 จาก 76.4 ในเดือน มิ.ย.62 เป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และต่ำสุดในรอบ 22 เดือน จากความกังวลสถานการณ์เศรษฐกิจ
- นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีไทย เปิดเผยในระหว่างการประชุมชี้แจงนโยบายรัฐบาลต่อผู้บริหารระดับสูงของทุกส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจว่า จากการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการดูแลเศรษฐกิจไทยภายใต้ความผันผวนนั้น รัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายการเงินและการคลังของประเทศให้ไปในทิศทางเดียวกัน