· ตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดปรับตัวลง โดยดาวโจนส์ปรับตัวลงมากสุดของปีนี้ หลังจากที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 10 ปี และ 2 ปีเคลื่อนไหวผกผันกัน สะท้อนถึงสัญญาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ดัชนีดาวโจนส์ปิด -800.49 จุด หรือ -3.05% ที่ระดับ 25,479.42 จุด ซึ่งเป็นอัตราการร่วงที่มากที่สุดของปีนี้ ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิด -85.72 จุด หรือ -2.93% ที่ระดับ 2,840.6 จุด ทางด้าน Nasdaq ปิด -3.02% ที่ 7,773.94 จุด
· ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงท่ามกลางข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ดูจะกระตุ้นความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยดัชนี Stoxx600 ปิด -1.8% ท่ามกลางหุ้นหลักส่วนใหญ่ที่เคลื่อนไหวแดนลบ
ขณะที่ข้อมูลจีดีพีเยอรมนีวานนี้หดตัวลงสู่ระดับ 0.1% ในไตรมาสที่ 2/2019 และยิ่งก่อให้เกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจเยอรมนีก้าวสู่ภาวะถดถอย และมีแนวโน้มจะเป็นปัจจัยลบด้านความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุน
นอกจากนี้ การปรับลงของจีดีพีเยอรมนียังสร้างแรงกดดันต่อประเทศสมาชิกยูโรโซนที่เหลือด้วย แม้ว่าจีดีพีไตรมาส 2/2019 ของยูโรโซนจะขยายตัวได้ 0.2% แต่ก็มีสัญญาณชะลอตัวลง จากระดับการขยายตัวไตรมาสแรกที่ 0.4%
· ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงในเช้านี้ท่ามกลางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตัวลง ท่ามกลางความกังวลต่อภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยดัชนีนิกเกอิเปิด -1.88% ทางด้าน Topix เปิด -1.73% และดัชนี S&P/ASX200ปิด -1.91%
ทางด้าน MSCI ที่ไม่รวมญี่ปุ่นปิด -0.59%
ด้านตลาดหุ้นเกาหลีใต้และอินเดียปิดทำการเนื่องในวันหยุดประจำชาติ
ตลาดกังวลต่อการเคลื่อนไหวของอัตราตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ โดยล่าสุดในตลาดเอเชียเช้านี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ล่าสุดอยู่ที่ 1.5741% ต่ำกว่าอัตราผลตอบแทน 2 ปี ที่อยู่ที่ 1.5751%
หุ้นธนาคารทั่วภูมิภาคก็ปรับตัวลดลง หลังจากที่หุ้นธนาคารสหรัฐฯร่วงลงเมื่อวานนี้ และสร้างความผันผวนให้แก่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ อันเนื่องจากความกังวลเรื่องผลตอบแทนพันธบัตรที่ผกผันกัน
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- นักบริหารการเงิน คาดว่า ค่าเงินบาทในวันนี้จะเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 30.70 – 30.90 บาท/ดอลลาร์ โดยน่าจะยังทรงตัวนิ่งๆ เพราะยังไม่มีปัจจัยใหม่อะไรมากมาย
- รมว.คลังไทย กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้จัดเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นแพ็คเกจไว้แล้ว เพื่อจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ในวันที่ 16 ส.ค.นี้ โดยยืนยันว่ามาตรการที่ได้เตรียมไว้นี้จะเพียงพอต่อการรับมือความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยไม่ให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงกว่าที่ควรจะเป็น
- ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) นัดแรก มีมติเห็นชอบให้ตั้งวอร์รูมติดตามสถานการณ์สงครามการค้าและเสนอแนวทางรับมืออย่างทันท่วงที ตั้งคณะทำงานเจาะตลาดเพื่อเร่งรัดการส่งออกแบบแร่งด่วนในระยะ 3 เดือน 6 เดือน รวมทั้งตั้งคณะทำงานด้านกฎระเบียบ รวบรวมปัญหาและจัดลำดับความสำคัญด้านกฎระเบียบการค้าต่างๆ เสนอให้ รมว. พาณิชย์ พิจารณาต่อไป