· ตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดปรับตัวสูงขึ้นหลังจากที่ทรุดตัวลงหนักในวันก่อนหน้า ท่ามกลางการประกาศผลประกอบการของบริษัท Walmart ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ออกมาสดใส ประกอบกับข้อมูลยอดค้าปลีกสหรัฐฯที่ออกมาดี จึงทำให้นักลงทุนเชื่อว่า กลุ่มผู้บริโภคสหรัฐฯจะสามารถช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศก้าวเลี่ยงภาวะถดถอยได้
ดัชนีดาวโจนส์เคลื่อนไหวผันผวนปิด +99 จุด หรือ +0.39% ที่ระดับ 25,579.39 จุด ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิด +0.25% ที่ระดับ 2,847.6 จุด ขณะที่ Nasdaq ปิดอ่อนตัวลงเล็กน้อยมาที่ 7,766.62 จุด
· ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลง ท่ามกลางความผันผวนที่เกิดขึ้นจากแรงเทขายในตลาดพันธบัตรทั่วโลกจากความกังวลต่อภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ
ดัชนี Stoxx 600 ปิด -0.33% ท่ามกลางกลุ่มยานยนต์ที่อ่อนตัวลงมาปิด -1.5% และหุ้นกลุ่มอุปโภคบริโภคที่ปิดปรับขึ้นได้ประมาณ 0.7%
· ตลาดหุ้นเอเชียเปิดผสมผสานกันในเช้านี้ ท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่จับตาไปยังการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ ขณะที่ดัชนีนิกเกอิเปิด -0.35% ทางด้าน Topix เปิด -0.33% และดัชนี Kospi ของเกาหลีใต้เปิด -1.08% ในขณะที่ดัชนี S&P/ASX200 เปิดปรับขึ้นเล็กน้อย
ภาพรวมของดัชนี MSCI ที่ไม่รวมประเทศญี่ปุ่นเปิด -0.14%
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- นักบริหารการเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.75-30.90 บาท/ดอลลาร์ โดยปัจจัยหลักที่ทำให้บาทอ่อนเมื่อวานนี้มาจากหุ้นไทยที่ร่วงตามตลาดหุ้นดาวโจนส์ที่ปิดวันก่อนไปกว่า 800 จุด
- รมว.คลังไทย ได้สร้างความเชื่อมั่นต่อคณะสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (USABC) ว่า พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแกร่ง และสามารถรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ดี ซึ่งขณะนี้กำลังเตรียมมาตรการเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ อย่างเร่งด่วน เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศให้สามารถเดินหน้าอย่างต่อเนื่องต่อไป
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ที่ปรับลดเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ลง แต่ยังไม่ได้ปรับดอกเบี้ยเงินฝาก ทำให้ส่งผลบวกสุทธิต่อระบบเศรษฐกิจและภาคธุรกิจผ่านต้นทุนทางการเงินที่ลดลง เนื่องจากสามารถช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับทั้งลูกค้าเอสเอ็มอีและรายย่อย รวมประมาณ 1.6-1.7 หมื่นล้านบาทต่อปี คิดเป็นผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้ประมาณ 0.1% ของ GDP
- ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มองว่า ข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีน มีแนวโน้มบรรลุได้ยากในปี 62 แม้สหรัฐจะเลื่อนการเก็บภาษี 10% ออกไปเป็น 15 ธ.ค.62 ความเสี่ยงต่อภาคการส่งออกไทยในปี 62 ยังคงสูง และมีโอกาสที่การส่งออกจะหดตัวมากกว่าที่คาด หากข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนในระยะข้างหน้ายังไม่มีความคืบหน้า โดยคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ไทยในปี 62 ที่ 3.1% และมูลค่าการส่งออกไทยในรูปดอลลาร์สหรัฐหดตัว 1.6%