• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคค่ำ) ประจำวันที่ 16 สิงหาคม 2562

    16 สิงหาคม 2562 | Economic News


· ค่าเงินดอลลาร์ทรงตัวอยู่ในระดับแข็งค่าจากเมื่อคืน ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการประกาศยอดค้าปลีกของสหรัฐฯที่ออกมาดีกว่าคาด จึงผ่อนคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่ตลาดยังมีท่าทีระมัดระวัง นื่องจากยังมีสัญญาณที่เป็นลบต่อเศรษฐกิจอีกมาก


ในภาพรวมรายสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มปิดตลาดในแดนบวกเมื่อเทียบสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ อย่างค่าเงินเยน และสวิสฟรังก์ บ่งชี้ว่าตลาดฟื้นความเชื่อมั่นกลับมาได้บางส่วน จากก่อนที่กังวลกับภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเหตุการณ์ในฮ่องกง


ในช่วงตลาดเอเชีย ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบเงินเยนในระยะเวลาสั้นๆ เนื่องจากตลาดหุ้นญี่ปุ่นฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯฟื้นตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวดังกล่าวคงอยู่ไม่นานนัก เนื่องจากปริมาณซื้อขายที่เบาบางในช่วงใกล้วันหยุดซัมเมอร์



· ดัชนีดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 1% จากระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ ขึ้นมาที่ 98.218 จุด ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับเงินเยน 106.18 เยน/ดอลลาร์ ระหว่างวันปรับแข็งค่าขึ้นได้ 0.2%


ในภาพรวมรายสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า 0.5% เมื่อเทียบกับเงินเยน ซึ่งอัตรารายสัปดาห์ที่มากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค.




· ค่าเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยบริเวณ 1.2088 ปอนด์/ดอลลาร์ ใกล้ระดับสูงสุดในรอบสัปดาห์ที่ 1.2150 ปอนด์/ดอลลาร์ และมีแนวโน้มปิดตลาดรายสัปดาห์ในแดนบวกในเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ก.ค. ท่ามกลางยอดค้าปลีกที่ออกมาดีขึ้น รวมถึงดัชนี CPI ที่ประกาศออกมาบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจอังกฤษไม่ได้ย่ำแย่ลงเท่ากับที่นักวิเคราะห์กังวล



· ผู้ก่อตั้งสถาบัน Bridgewater Associates ให้สัมภาษณ์กับ CNBC โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังย่ำแย่ลง และมีโอกาสถึง 40% ที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2020

“ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจคือชะตาที่ไม่อาจเลี่ยง คำถามเพียงหนึ่งเดียวคือ เมื่อไหร่?”

“การชะลอตัวของเศรษฐกิจจะกดดันให้บรรดาธนาคารกลาง รวมไปถึงเฟด ทำการผ่อนคลายนโยบายการเงินลงยิ่งกว่าปัจจุบัน โดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า อาจมีโอกาสเห็นสงครามทางสกุลเงินที่เกิดจากการผ่อนคลายนโยบายของบรรดาธนาคารกลางทั่วโลก”



· บรรดานักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs เปิดเผยแนวคิดเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินนโยบายของเฟดและค่าเงินดอลลาร์ในช่วงเดือนต่อๆไป ไว้ดังนี้

Key Quotes:

- คาดว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย -0.50%

- ไม่คาดว่าจะปรับลดดอกเบี้ยลงลึกอย่างที่กระแสของตลาดคาดกันไว้

- ค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มจะอ่อนค่าลงในระยะกลาง

- สำหรับระยะสั้นๆ ทิศทางการอ่อนค่าของดอลลาร์จะถูกจำกัด เนื่องจากค่าเงินของตลาดเกิดใหม่ในแถบเอเชียรวมถึงค่าเงินยูโรยังอยู่ในทิศทางอ่อนค่า

- ตลาดยังมองดอลลาร์เป็น Safe-haven การอ่อนค่าลงจะเป็นไปอย่างจำกัด

- ทิศทางต่อไปของค่าเงินจะขึ้นอยู่กับการเติบโตของเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายการเงิน คาดว่าจะมีความชัดเจนยิ่งขึ้นในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า



· นักวิเคราะห์จาก J.P. Morgan ระบุว่า การขึ้นภาษีจีนครั้งต่อไปของสหรัฐฯ จากเดิมที่มีกำหนดไว้ในเดือน ก.ย. แต่ถูกเลื่อนไปเป็นเดือน ธ.ค. จะทดสอบความสามารถของรัฐบาลจีนว่าจะสามารถช่วยเหลือเศรษฐกิจได้มากเพียงใด ขณะที่คาดการณ์โอกาส 40% ที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในอีก 6 – 9 เดือนข้างหน้า



· นักวิเคราะห์จาก Bank of America Merrill Lynch Global Research ประเมินสถานการณ์ของสงครามการค้าที่อาจเกิดขึ้นกับค่าเงินหยวนไว้ 3 กรณี คือ



กรณีที่ 1 สงครามการค้าเต็มรูปแบบ – หยวนอ่อนค่า 10%

การนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯประเทศจีนมีปริมาณเพียง 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับปริมาณนำเข้าจากจีนของสหรัฐฯ ดังนั้นจีนจะไม่สามารถแข่งขันกับสหรัฐฯในเรื่องของปริมาณได้ อย่างไรก็ตาม จีนสามารถลดค่าเงินหยวนลงได้ถึง 10% เพื่อลดผลกระทบจากการขึ้นภาษี 10%



กรณีที่ 2 การเจรจายืดเยื้อ – หยวนทรงตัว

ในกรณีที่ไม่มีความคืบหน้าเกี่ยวกับการเจรจาการค้า ค่าเงินมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวในกรอบเดิม เนื่องจากทางจีนคงไม่ต้องการยั่วโทสะของสหรัฐฯด้วยการลดค่าเงินหยวนลง หรือสร้างแรงกดดันให้กับบรรดาผู้ส่งออกในประเทศด้วยการเพิ่มมูลค่าเงินหยวน



กรณีที่ 3 บรรลุข้อตกลงการค้า – หยวนแข็งค่า

ในกรณีที่ทั้งสองประเทศสามารถหาข้อตกลงการค้าได้ เงินหยวนจะแข็งค่าขึ้น แต่จะแข็งค่าอย่างจำกัด เนื่องจากข้อตกลงที่จะเกิดขึ้นน่าจะมีเงื่อนไขบางตัวที่จำกัดการอ่อนค่าของเงินหยวนในอนาคต หากรัฐบาลจีนรู้สึกได้ว่าการอ่อนค่าของเงินหยวนถูกจำกัด พวกเขาก็น่าจะอยากให้การแข็งค่าถูกจำกัดด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากการแข็งค่าของเงินหยวนทำให้เกิดความยากลำบากในการดำเนินนโยบายการเมืองใดๆก็ตาม



· รายงานจาก FXStreet ระบุว่า นายเจอโรม โพเวลล์ ประธานเฟดมีกำหนดการจะกล่าวถ้อยแลถงการดำเนินนโยบายประจำปี ณ การประชุมธนาคารกลางที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ในวันที่ 23 ส.ค. และที่ประชุมจะมีข้อสรุปในวันที่ 24 ส.ค.

ทั้งนี้ ถ้อยแถลงของนายโพเวลล์ เป็นสิ่งที่ตลาดให้ความสำคัญและจับตาใกล้ชิดว่าจะดำเนินนโยบายดอกเบี้ยเช่นไร รวมทั้งความกังวลต่อความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมทั้งข้อพิพาทของสงครามการค้าในเวลานี้



· รายงานจาก Shaeffers Research กล่าวว่า เฟดถือเป็นปัจจัยดาวเด่นสัปดาห์หน้า ในการประชุมธนาคารกลางประจำปี ที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ที่จะเริ่มต้นขึ้นในวันพฤหัสบดี ประกอบกับตลาดจับตาไปยังรายงานประชุมเฟดเดือนก.ค. ที่มีกำหนดการจะเปิดเผยในสัปดาห์หน้าด้วยเช่นกัน เพื่อหาสัญญาณต่อแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ย

โดยวันพุธที่ 21 ส.ค. จะมีการประกาศข้อมูลยอดขายบ้านมือสองและการประกาศสต็็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ รวมทั้งจะมีการประกาศรายงานประชุมเฟดเดือนก.ค. ในช่วงเวลาประมาณ ตี 1 ขณะที่วันที่ 22 ส.ค. มีการประกาศข้อมูลผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน รวมทั้งยอดงบดุลบัญชี และการเริ่มต้นประชุมธนาคารกลางประจำปี ที่เมืองแจ็กสัน โฮล


แต่ไฮไลท์เด่น คือการที่เฟดจะเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ และในวันที่ 23 ส.ค. เป็นวันที่ประธานเฟดมีกำหนดการจะกล่าวถ้อยแถลง ซึ่งนักลงทุนค่อนข้างรอคอย ในขณะเดียวกันนักลงทุนก็ให้ความสำคัญกับยอดขายบ้านใหม่เช่นกัน





· นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทวีตข้อความแก้ไขความคิดเห็นก่อนหน้านี้ ที่ตลาดเข้าใจกันว่าทรัมป์ต้องการพบกับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน โดยตรง เพื่อเสนอความช่วยเหลือให้กับประเด็นความรุนแรงในฮ่องกง


โดยทวีตข้อความล่าสุด นายทรัมป์เชื่อว่า นายจิ้นผิงมีอำนาจที่จะระงับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในฮ่องกงได้ ด้วยการพบและเจรจากับผู้ชุมนุมโดยตรง




· ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือบีโอเจประกาศลดการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 5 – 10 ปี เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. ปี 2018 เพื่อช่วยหนุนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ตกต่ำลง

สำหรับมูลค่าการเข้าซื้อพันธบัตรของบีโอเจวันนี้ จะลดมูลค่าลงเหลือ 4.50 แสนล้านเยน เทียบกับมูลค่าเมื่อวานนี้ที่ 4.80 แสนล้านเยน

การลดการเข้าซื้อพันธบัตรเกิดขึ้นหลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี ปรับลดลงสู่ระดับ -0.25% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. ปี 2016 ส่งผลให้ภาพรวมของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรร่วงลงต่ำกว่าระดับ -0.2% จึงสร้างความกังวลให้กับตลาดเกี่ยวกับทิศทางของเศรษฐกิจ



· ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีการถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ มากกว่าประเทศจีน เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา


โดยในเดือน พ.ค. ญี่ปุ่นเพิ่มการถือครองพันธบัตรสหรัฐฯเป็นมูลค่า 2.1 หมื่นล้านเหรียญ ทำให้ภาพรวมการถือครองพันธบัตรสหรัฐฯของญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับสู่ที่สุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. ปี 2016 ที่ระดับ 1.12 ล้านล้านเหรียญ ขณะที่จีนมีการถือครองพันธบัตรสหรัฐฯอยู่ที่ 1.11 ล้านล้านเหรียญ เพิ่มการถือครองขึ้นเพียง 2 พันล้านเหรียญในเดือนก่อนหน้า


ความเคลื่อนไหวดังกล่าวบ่งชี้ถึงการเข้าซื้อพันธบัตรสหรัฐฯของจีนที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งตลาดมีกระแสคาดการณ์เกี่ยวกับการตอบโต้สงครามการค้ากับสหรัฐฯ ด้วยการลดการถือครองพันธบัตรของสหรัฐฯ แต่ปัจจุบันยังมีสัญญาณว่าการตอบโต้ด้วยวิธีดังกล่าวจะเกิดขึ้นจริงแต่อย่างใด




· โพลล์สำรวจจาก Reuters ระุบุว่า ยอดส่งออกของญี่ปุ่นประจำเดือนก.ค.ปรับตัวลดลง 2.2% จากปีก่อนหน้า โดยติดต่อกัน 8 เดือน แต่ไม่เลวร้ายเท่ากับการปรับลดลง 6.6% ในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ท่ามกลาง

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่ยืดเยื้อและความต้องการทั่วโลกที่อ่อนแอส่งผลกระทบต่อการขนส่ง

เศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกจำนวนมากเช่นญี่ปุ่นได้รับผลกระทบอย่างหนักจากประเด็นสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ซึ่งได้กดดันห่วงโซ่อุปทานและทำลายการค้าการลงทุนและผลกำไรของบริษัททั่วโลก




· Goldman Sachs ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจฮ่องกง เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และไต้หวัน เนื่องจากปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของทั้ง 4 เสือเศรษฐกิจเหล่านี้ ต้องเผชิญกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดทางการค้า

โดยคาดการณ์ว่า จีดีพีของฮ่องกง จะปรับตัวลง 0.5% ในไตรมาส 3 ซึ่งสวนทางกับการคาดการณ์ก่อนหน้าที่คาดว่าจะขยายตัว 2.1% สำหรับตลอดทั้งปีนี้ คาดว่า จะขยายตัว 0.2% เนื่องจากฮ่องกงต้องเผชิญกับทั้งการขยายตัวที่อ่อนตัวของเศรษฐกิจโลก การประท้วงที่ต่อเนื่องจนส่งผลกระทบต่อความต้องการภายในประเทศ


ด้านประเทศสิงคโปร์ Goldman Sachs คาดการณ์ว่าจีดีพีปี 62 จะขยายตัว 0.4% จากระดับคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 1.1% และธนาคารกลางสิงคโปร์อาจจะปรับลดช่วงอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 0.5% ต่อปี จากระดับปัจจุบันที่ 1%

ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้ จะขยายตัว 1.9% ในปีนี้ ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 2.2% และคาดว่า ธนาคารกลางเกาหลีใต้จะปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ในปีนี้


ส่วนไต้หวันคาดการณ์ว่าจีดีพี ปี 62 ของไต้หวันจะอ่อนตัวลงเหลือ 2.3% จากระดับ 2.4% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า แต่ก็ยังได้รับปัจจัยหนุนจากการที่สหรัฐฯนำเข้าสินค้าจากจีนน้อยลง และหันมานำเข้าสินค้าจากไต้หวันมากขึ้น




· รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานอังกฤษ เชื่อมั่นรัฐบาลของนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จะสามารถเอาชนะการโหวตไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ หากฝ่ายค้านผลักดันให้เกิดการโหวตขึ้น


เมื่อวานนี้ พรรคฝ่ายค้านในรัฐสภาอังกฤษเรียกร้องบรรดาสมาชิกพรรค Conservatives ให้ช่วยกีดกันไม่ให้เกิดกรณี No-deal Brexit ด้วยการกดดันนายบอริสลงจากตำแหน่ง และสนับสนุนนายเจเรมี โคบลิน หัวหน้าฝ่ายค้าน ให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ก่อนการเลือกตั้งทั่วไป



· ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นกว่า 1% หลังจากร่วงลงไปเมื่อสองวันที่ผ่านมา โดยได้รับแรงหนุนหลังจากข้อมูลยอดค้าปลีกสหรัฐฯเพิ่มขึ้น จึงช่วยบรรเทาความกังวลเกี่ยวกับภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ


น้ำมันดิบ Brent เพิ่มขึ้น 1.2% ที่ะรดับ 58.91 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI เพิ่มขึ้น 1.2% เช่นเดียวกัน ที่ระดับ 55.10 เหรียญ/บาร์เรล



· Daily FX: CRUDE OIL TECHNICAL ANALYSIS




ราคาน้ำมันร่วงลงมาเคลื่อนไหวในกรอบ 54.72 – 56.09 เหรียญ/บาร์เรล ส่งผลให้ทิศทางขาขึ้นในภาพรายสัปดาห์จบลง ขณะที่ฝั่งขาลงมีแนวโน้มจะลงไปทดสอบบริเวณ 49.41 – 50.60 เหรียญ/บาร์เรล หากราคาจะฟื้นตัวจากแนวโน้มขาลง ก็จำเป็นต้องปรับขึ้นเหนือระดับ 58.53 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเป็นแนวต้านของเทรนขาขึ้นตั้งแต่เดือน เม.ย. ให้ได้เท่านั้น


บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com