ภาพรวมหุ้นหลักสหรัฐฯยังมีค่าเฉลี่ยปรับลงต่อเนื่องในช่วง 3 สัปดาห์ อันจะเห็นได้จากดัชนี S&P500 ปรับตัวลงมาแล้วกว่า 1% ตลอดเดือนส.ค. ท่ามกลางความผันผวนที่เพิ่มมากขึ้น ในส่วนของดัชนีดาวโจนส์เดือนนี้ปรับลงมาแล้ว 3.6%
· ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับขึ้นวันศุกร์ ท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่กลับเข้าถือครองสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มหลังเผชิญความผันผวนตลอดสัปดาห์ โดยดัชนี Stoxx600 ปิดปรับขึ้นเกือบ 1.3% จากหุ้นส่วนใหญ่ที่เคลื่อนไหวแดนบวก ขณะที่หุ้นFTSE100 ของอังกฤษ ใช้เวลาเปิดตลาดนานกว่า 2 ชม. จากเหตุขัดข้องทางเทคนิค ซึ่งถือเป็นระยะเวลาที่ยาวนานที่สุดในรอบ 8 ปี แต่ภาพรวมก็สามารถปิดตลาดแดนบวกได้ โดยปิด +0.7%
หุ้น Blue-chip ของอังกฤษปรับตัวลงทำต่ำสุดในรอบกว่า 6 เดือน จากความตึงเครียดของสงครามการค้าสหรัฐฯและจีนที่เพิ่มความกังวลว่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว จึงส่งผลให้เกิดแรงเทขายเพิ่มขึ้นในตลาดหุ้นทั่วโลก
· ตลาดหุ้นเอเชียเปิดปรับขึ้นในเช้านี้ ตามการรีบาวน์ของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯหลังจากที่ดิ่งลงในสัปดาห์ที่แล้วจนเกิด Panic ในตลาด
ดัชนีนิกเกอิเช้านี้เปิด +0.87% ขณะที่ Topix เปิด +0.62% ทางด้าน Kospi ของเกาหลีใต้เปิด +0.36% และ S&P/ASX200 ของออสเตรเลียเปิด +0.86%
ภาพรวมของดัชนี MSCI ที่ไม่รวมหุ้นญี่ปุ่นก็เปิด +0.24%
ตลาดกำลังรอคอยการเปิดเผยแนวทางการปฏิรูปดอกเบี้ยจากจีน หลังจากที่วันเสาร์ทางธนาคารกลางจีน หรือ PBOC เผยว่าจะมีการปรับปรุงนโยบายอัตราดอกเบี้ยใหม่เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยธนาคารจะพัฒนากลไกการปล่อยสินเชื่อและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษ Loan Prime Rate หรือ LPR ซึ่งจะคิดดอกเบี้ยตามราคาตลาดเปิด หลังจากจีนใช้นโยบายการเงินอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำ (floor) มาตลอด โดยจะมีศูนย์กองทุนระหว่างธนาคารของประเทศ หรือเอ็นไอบีเอฟซี เป็นผู้ประกาศอัตราดอกเบี้ย ที่จะเริ่มครั้งแรกในวันที่ 20 ส.ค.นี้
ขณะที่สถานการณ์ในฮ่องกงตลาดก็ยังคงเฝ้าติดตาม หลังจากที่ศุกร์ที่แล้ว ผู้บริหารสายการบิน Cathay Pacific ประกาศลาออกจากตำแหน่งเพื่อรับผิดชอบต่อเหตุประท้วงที่เกิดขึ้น และบริษัทยังคงอยู่ภายใต้แรงกดันทางการเมืองจากทางการจีนที่ตรวจพบว่านักบิน 2 รายของสายการบินมีการเข้าร่วมประท้วงในฮ่องกงที่ผ่านมาด้วย
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- นักบริหารการเงินประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์นี้ไว้ที่ระหว่าง 30.70 - 31.00 บาท/ดอลลาร์ โดยช่วงนี้ตลาดให้ความสนใจไปที่เรื่อง Trade war และ Flow จากต่างประเทศเข้ามาน้อยลง พร้อมทั้งคาดว่าเงินบาทยังมีทิศทางอ่อนค่าจากปัจจัยสงครามการค้า หลังสหรัฐฯเลื่อนการเก็บภาษีสินค้าจากจีนออกไป
- ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจไทย (ครม.เศรษฐกิจ) มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน 3 ด้าน คือ
1. มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง
2.มาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนประเทศ
3. มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบอีกครั้ง มั่นใจว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 316,000 ล้านบาท โดยใช้เงินงบกลางไม่ถึง 5 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นเงินจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐราว 207,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นเงินกองทุนต่าง ๆ 5 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าผลักดันเศรษฐกิจไทยในปีนี้ไม่ต่ำกว่า 3%
- ที่ประชุมครม.เศรษฐกิจตั้งเป้าผลักดันอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้เติบโตไม่ต่ำกว่า 3% จากช่วงคาดการณ์ 2.7-3.2% ก่อนขยายตัวเพิ่มเป็น 3.5% ในปี 63
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนปรนมาตรการ LTV เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาผลกระทบของผู้กู้ร่วมที่ไม่ได้มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย ให้ได้รับสินเชื่อตามความเหมาะสมมากขึ้น ธปท. จึงพิจารณาผ่อนปรนการนับสัญญากรณีกู้ร่วม โดยถ้าผู้กู้ไม่มีชื่อเป็นกรรมสิทธิ์ จะผ่อนปรนเสมือนยังไม่เป็นผู้กู้ในครั้งนั้น เนื่องจากไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่ออยู่อาศัย เพียงแค่ช่วยเหลือกันภายในครอบครัว
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเบิกเกินบัญชี (MOR) และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.25%
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินผลเบื้องต้นสำหรับมาตรการ DSR ส่วนแรก คือ การกำหนดแนวทางการปล่อยสินเชื่อสำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง คาดกระทบต่ออัตราการเติบโตของสินเชื่อรายย่อยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยปีนี้ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 0.5% ซึ่งอาจกดดันให้ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อรายย่อยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ไว้ที่ 6.5% มีโอกาสชะลอลงมาอยู่ที่ 6.0% ซึ่งเป็นกรอบล่างของช่วงประมาณการที่ 6.0-7.0%