· สกุลเงิน Safe-haven อย่างค่าเงินเยนและสวิสฟรังก์ต่างถูกกดดันอ่อนค่าลงในวันนี้ จากกระแสคาดการณ์ว่าบรรดาธนาคารกลางจะมีการออกนโยบายเพื่อช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่นในตลาดจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง
อย่างไรก็ตาม มุมมองเชิงบวกดังกล่าวจะถูกจำกัดเพื่อจับตาดูว่าสหรัฐฯจะมีประกาศเกี่ยวกับกรณี Huawei เช่นไร ภายในคืนนี้
นักวิเคราะห์จากสถาบัน Gaitame.com มีมุมมองว่า ประเด็น Huawei จะเป็นหัวข้อสำคัญในคืนนี้ และจะตัดสินว่าภาวะ Risk-on ที่กำลังเกิดขึ้นในตลาดจะดำเนินต่อไปได้หรือไม่
ดัชนีดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยแถวระดับ 98.201 จุดในช่วงตลาดเอเชียวันนี้ จากเมื่อวันศุกร์ที่ทำระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ที่ 98.399 จุด
ค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับเงินเยนค่อนข้างทรงตัวแถว 106.37 เยน/ดอลลาร์ ใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 1 สัปดาห์ที่ 106.98 เยน/ดอลลาร์
· ด้านค่าเงินยูโรค่อนข้างทรงตัว หลังจากที่ปรับอ่อนค่าลงด้วยอัตราที่มากที่สุดในรอบเกือบ 2 เดือนเมื่อสัปดาห์ก่อน ท่ามกลางกระแสคาดหวังว่าจะมีการออกนโยบายทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในเยอรมนี และจากธนาคารกลางจีนที่ส่งสัญญาณอาจปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้
โดยค่าเงินยูโรทรงตัวแถว 1.1094 ดอลลาร์/ยูโร หลังจากอ่อนค่าลงถึง 1% เมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งเป็นอัตราอ่อนค่าลงที่มากที่สุดนับตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค
· นักวิเคราะห์จาก FXStreet กล่าวว่า ค่าเงินเยนรีบาวน์กลับเหนือแนวรับ 106.25 เยน/ดอลลาร์ จึงเห็นค่าเงินเยนทรงตัวแถว 106.50 เยน/ดอลลาร์ โดยอ่อนค่าตอบรับข้อมูลการค้าญี่ปุ่นที่ออกมาแย่ลง ท่ามกลางสภาวะ RIsk-On ที่เกิดขึ้นในตลาดอีกครั้ง จากการที่หุ้นเอเชีย และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกันตลาดก็ตอบรับกับถ้อยแถลงทางการค้าในเชิงลบของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และสัปดาห์นี้ตลาดรอคอยถ้อยแถลงประธานเฟดในการประชุมธนาคารกลางโลก
นาย Valeria Bednarik หัวหน้านักวิเคราะห์จาก FXSreet กล่าวว่า ภาพทางเทคนิคระดับวันยังคงมีความเสี่ยงที่จะเห็นเงินเยนแข็งค่าได้อยู่ จากสัญญาณชี้นำที่แข็งแกร่ง แม้ว่า ณ ปัจจุบันจะมีการสะสมพลังในเชิงลบ ทางด้านกราฟราย 4 ชม. สะท้อนถึงภาวะอ่อนค่าตามเส้น SMA ราย 20 ดังนั้น แนวรับวันนี้จะอยู่บริเวณ 106.2 เยน/ดอลลาร์ ขณะที่ RSI อยู่แถวระดับ 56 จึงบ่งชี้่ว่า มีโอกาสเห็นค่าเงินเยนอ่อนค่าต่อได้ระยะสั้นแต่อาจเป็นไปอย่างจำกัด
· นายเจอโรม โพเวลล์ ประธานเฟดที่มีกำหนดการจะกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมธนาคารกลางทั่วโลกในสัปดาห์นี้ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญต่อตลาด โดยอาจมีการบ่งชี้ถึงนัยยะเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อได้ ท่ามกลางภาวะผกผันของ Yield Curve ที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่เป็นสารจากตลาดว่าอาจเห็นเฟดเดินหน้าลดดอกเบี้ยมากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาว และคำถามสำคัญที่เกิดขึ้นจาก นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีการกล่าวว่า "เฮ้ นายโพเวลล์ ฟังอยู่หรือเปล่าต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดพันธบัตร" ซึ่งในส่วนตัวของผู้วิเคราะห์เชื่อว่า นายโพเวลล์ให้ความสนใจต่อเรื่องดังกล่าว เพียงแต่ไม่คิดว่านายโพเวลล์จะเลือกใช้วิธีกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯค่อนข้างขยายตัวได้ด้วยดี
อย่างไรก็ดี การดำเนินการของธนาคารกลางต่างๆก็อาจสายไปแล้ว เมื่อเราพิจารณาจากข้อมูลเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น CPI, คนว่างงาน หรือแม้แต่ GDP ที่ดูจะอ่อนตัว ควบคู่กับการผกผันของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯที่เพิ่งเกิดขึ้น และบ่งชี้ถึงภาวะการชะลอตัวในหลายๆครั้ง แต่ก็ไม่ใช่ทุกการผกผันจะนำไปสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ แต่ผลตอบแทนมักมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเรื่องดอกเบี้ยจากธนาคารกลาง แต่แน่นอนว่า ภาวะถดถอยก็อาจเกิดขึ้นได้ทั่วหลังจากที่สหรัฐฯเคยประสบกับภาวะถดถอยมาในช่วง 10 ปีที่แล้ว
และหากนายโพเวลล์ไม่เชื่อต่อสัญญาณเตือนของผลตอบแทนพันธบัตรที่ผกผันกัน ก็น่าจะเห็นเขายังคงเข้มงวดต่อการเดินหน้าปรับลดดอกเบี้ย แต่เชื่อว่า นายโพเวลล์ น่าจะมีการกล่าวย้ำต่อการจะปรับลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้ ที่อาจเห็นตลาดตอบรับกับความผิดหวังดังกล่าวและส่งผลให้เกิดสภาวะ Risk off ที่เกื้อหนุนต่อทองคำ, พันธบัตร ในขณะที่ดอลลาร์และหุ้นอ่อนตัวลง เช่นเดียวกับค่าเงินอื่นๆอย่างยูโร
· นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ประกาศว่า เขาไม่ต้องการทำธุรกิจร่วมกับ Huawei เนื่องจากพวกเขาเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ และนายทรัมป์จะมีประกาศบางอย่างเกี่ยวกับการดำเนินการกับHuawei ภายในคืนนี้
The Wall Street Journal และ Reuters ต่างรายงาน กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ กำลังเตรียมการจะขยายระยะเวลาใบอนุญาตให้ Huawei สามารถดำเนินธุรกิจร่วมกับบริษัทสหรัฐฯเพื่อให้บริการลูกค้ารายเก่าได้ออกไปอีก 90 วัน ซึ่งเดิมที ใบอณุญาตดังกล่าวจะหมดอายุลงภายในวันจันทร์นี้
· ธนาคารกลางจีน เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ประกาศว่าจะมีการเปิดเผยนโยบายปฏิรูปอัตราดอกเบี้ยครั้งสำคัญภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งถูกคาดว่าจะมีประกาศภายในวันอังคาร ส่งผลให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่าจะเป็นการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณอุปสงค์ที่อ่อนแอภายในประเทศ และผลกระทบจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ
บรรดานักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์กันว่า จะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (LPR) ให้ต่ำกว่าระดับปัจจุบันที่ 4.31% แต่มีความเห็นแตกต่างกันว่าจะปรับลดดอกเบี้ยลงมากเท่าไหร่และจะปรับลดลงเมื่อไหร่
ทั้งนี้ ทางกลุ่มธนาคารของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์คาดการณ์กันว่าจะเป็นการปรับลดดอกเบี้ยลงมากถึง 0.45% ขณะที่ทาง Societe Generale คาดว่าจะเป็นการปรับลดดอกเบี้ยในระดับปานกลางที่ 0.10 – 0.25%
- ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นจากเหตุการโจมตีโรงงานน้ำมันในซาอุดิอาระเบีย เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และจากความหวังของบรรดานักลงทุนที่จะเห็นการผ่อนคลายของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของราคาน้ำมันถูกจำกัดลง หลังรายงานของกลุ่มโอเปกระบุถึงความกังวลว่าปริมาณอุปสงค์ในน้ำมันอาจชะลอการเติบโตลง
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับสูงขึ้น 1.1% แถว 59.28 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับสูงขึ้น 1% แถว 55.42 เหรียญ/บาร์เรล