· ค่าเงินสกุลสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างเงินเยน และสวิสฟรังก์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ ท่ามกลางความเชื่อมั่นในสินทรัพย์เสี่ยงที่ค่อยๆปรับฟื้นตัวขึ้น หลังจากที่ผันผวนมาตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา จากความคาดหวังว่าจะเห็นบรรดาธนาคารกลางต่างๆเดินหน้าใช้มาตรการกระตุ้นเศรษบกิจครั้งใหม่เพื่อรับมือกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 3 เมื่อเทียบดอลลาร์ ขณะที่ค่าเงินสวิสฟรังก์อ่อนค่าทำต่ำสุดรอบ 2 สัปดาห์เมื่อเทียบดอลลาร์
ถ้อยแถลงของประธานเฟดในการประชุมธนาคารกลางโลกก็ดูจะทำให้นักลงทุนคาดหวังจะเห็นการประกาศมาตรการสำคัญในการประชุมวาระนี้ ขณะที่ธนาคารกลางจีนเผยจะปฏิรูปนโยบายดอกเบี้ย โดยคาดว่าอาจมีการลดดอกเบี้ยเงินกู้ภาคบริษัทฯ ที่ดูจะช่วยหนุนให้ตลาดการเงินสดใสมากขึ้น ทางด้านรัฐบาลผสมของเยอรมนีก็มีการจะปรับยอดงบดุลและแบกรับภาระหนี้ครั้งใหม่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและปัจจัยทั้งหมดนี้หนุนการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง
ดัชนีดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้น 0.1% ไปทำระดับสูงสุดที่ 98.239 จุด ขณะที่เงินเยนอ่อนค่าลงมาที่ 106.51 เยน/ดอลลาร์ ทางด้านค่าเงินยูโรปรับแข็งค่าขึ้นมาที่ 1.1101 ดอลลาร์/ยูโร หลังจากที่ร่วงลงไปกว่า 1% ในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับการร่วงลงรายสัปดาห์ที่มากที่สุดนับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนก.ค.
· อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯรีบาวน์ขึ้นเมื่อวานนี้ และส่งสัญญาณบวกต่อตลาดต่างๆ รวมทั้งคลายความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ จึงเห็นสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ปรับขึ้นมาที่ 1.6% ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี เคลื่อนไหวบริเวณ 1.541% ทางด้านผลตอบแทนอายุ 30 ปี หลังจากที่ทำ New All-Time Low ในสัปดาห์ที่แล้วก็ปรับขึ้นมาที่ 2.083%
ตลาดการเงินให้ความสำคัญกับการเดินหน้าดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของธนาคารกลางทั่วโลก โดยคาดหวังว่าจะเห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นทั้งจากจีน และเยอรมนี จึงทำให้ตลาดคลายความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
· เมื่อวานนี้ นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีการหารือกันถือประเด็น Brexit และข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหรัฐฯ-อังกฤษทางโทรศัพท์ ก่อนเกิดการประชุม G7 ที่ประเทศฝรั่งเศสในสัปดาห์นี้
ขณะที่รายงานจากรอยเตอร์ส ระบุว่า นายบอริส มีการเรียกร้องให้ฝรั่งเศสและเยอรมนีเปลี่ยนแปลงท่าทีต่อ Brexit และร่วมเจรจาข้อตกลงฉบับใหม่สำหรับอังกฤษ จึงยิ่งเป็นการตอกย้ำท่าทีของเขาว่าพร้อมที่จะออกจากอียูโดยปราศจากข้อตกลงหากพวกเขาไม่ปฏิบัติตาม
· ราคาน้ำมันดิบปิดปรับขึ้นประมาณ 2% หลังจากที่กลุ่มฮูติทำการโจมตีโรงงานน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย ซึ่งดูจะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมัน ประกอบกับเหล่าเทรดเดอร์มองหาสัญญาณที่ว่ากลุ่มผู้นำทางเศรษฐกิจจะมีการหามาตรการมาบรรเทาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลก
น้ำมันดิบ WTI ปิดปรับขึ้น 1.34 เหรียญ หรือ +2.44% ที่ระดับ 56.21 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ Brent ปิดปรับขึ้น 1.1 เหรียญ หรือ +1.88% ที่ระดับ 59.74 เหรียญ/บาร์เรล
ขณะที่สัญญาณทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนมีทิศทางที่ดีขึ้นเล็กน้อย อันจะเห็นได้จากการที่สหรัฐฯมีการขยายเวลาการอนุญาตให้บริษัท Huawei มีการเข้าซื้อส่วนประกอบจากบริษัทสหรัฐฯ และนี่ถือเป็นอีกข่าวที่ช่วยหนุนให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น
· รายงานจาก CNBC ระบุว่า กลุ่มนักวิเคราะห์ด้านพลังงานมีการกล่าวเตือนถึงภาวะความตึงเครียดของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อแนวโน้มการขนส่งน้ำมันของสหรัฐฯ โดยกังวลว่าจีนอาจทำการปรับลดการนำเข้าน้ำมันจากสหรัฐฯได้