· ดัชนีดาวโจนส์ปิด +249.78 จุด หรือ +1% ที่ระดับ 26,135.79 จุด ขณะที่ S&P500 ปิด +1.2% ที่ 2,923.65 จุด ท่ามกลางหุ้นพลังงานและเทคโนโลยีที่ปรับขึ้น และดัชนี Nasdaq ปิด +1.4% ที่ 8,002.81 จุด
ตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดแดนบวกหลังผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯรีบาวน์ จึงลดความกังวลต่อภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยังได้รับแรงหนุนหลังจากที่สหรัฐฯจะขยายเวลาผ่อนปรนต่อบริษัท Huawei เป็นการชั่วคราว
การเพิ่มขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯมีการรีบาวน์ตั้งแต่เริ่มต้นสัปดาห์นี้ หลังจากที่ดาวโจนส์ปรับลงแย่สุดของปีนี้ โดยร่วงไปกว่า 800 จุด หรือ -3.1% เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีการปรับขึ้นได้ในวันพฤหัสบดีและวันศุกร์
· ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวขึ้นท่ามกลางความคาดหวังที่จะเห็นการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากธนาคารกลางต่างๆ รวมไปถึงจีนและเยอรมนี โดยดัชนี Stoxx600 ปิดปรับขึ้นกว่า 1% โดยมีหุ้นทรัพยากรที่ปรับขึ้นไปกว่า 2% และหุ้นหลักส่วนใหญ่ทั้งหมดเคลื่อนไหวแดนบวก
· ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวขึ้นในเช้านี้ ท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่รอคอยรายงานประชุมของธนาคารกลางออสเตรเลียในเดือนก.ค. เพื่อรอดูว่าจะมีสัญญาณอะไรเพิ่มเติมจากธนาคารกลางในการเดินหน้าเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่ทางการจีนเผยจะมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ครั้งใหม่ภายใต้กลไกการปล่อยสินเชื่อครั้งใหม่
ดัชนีนิกเกอิเปิด +0.21% ขณะที่ Topix เปิด +0.31% และดัชนี S&P/ASX200 ปิด +0.39% ท่ามกลางหุ้นส่วนใหญ่ที่เคลื่อนไหวแดนบวก ขณะที่หุ้น Kospi ของเกาหลีใต้เปิด +0.12%
ภาพรวมดัชนี MSCI ที่ไม่รวมญี่ปุ่นเปิด +0.04%
· นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ระหว่าง 30.80-30.90 บาท/ดอลลาร์ โดยปัจจัยที่ตลาดจับตามองเป็นเรื่องการเปิดเผยรายงานผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟดในวันพรุ่งนี้ และการกล่าวสุนทรพจน์ของประธานเฟดในงาน Jackson Hole Economic Policy Symposium ในวันที่ 23 ส.ค.62
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/62 อยู่ที่ 2.3% จากตลาดคาด 2.1-2.5% ส่งผลให้ครึ่งแรกของปีเศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.6% พร้อมปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 62 เหลือเติบโต 2.7-3.2% จากเดิมที่ก่อนหน้านี้คาดไว้ 3.3-3.8% ส่วนปีหน้า คาดเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในช่วง 3.0-4.0% หรือค่ากลางที่ 3.5%
- รมว.คลังไทย เปิดเผยว่า ยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 3% แม้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 2/62 ขยายตัวที่ 2.3% ซึ่งเป็นไปตามที่คาดการณ์ และเป็นเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลต้องมีการออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยประคองให้เศรษฐกิจไทยให้สามารถเติบโตต่อไปได้
- ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่า ในเดือนก.ย.นี้ ธปท.จะพิจารณาปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 62 ลงอีก เนื่องจากบรรยากาศการกีดดันทางการค้าที่ยังรุนแรงและยืดเยื้อกระทบต่อภาคการส่งออก จากเมื่อเดือนมิ.ย.ได้ปรับคาดการณ์ GDP ของปี 62 ลงมาที่ 3.3% จากต้นปีคาดโต 3.8%
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ แถลง ขยายตัว 2.3% ชะลอลงจาก 2.8% ในไตรมาส 1 ปี 2562 ต่ำกว่าประมาณการของธปท. ที่เผยแพร่ในรายงานนโยบายการเงินฉบับเดือนมิถุนายน 2562 ที่ 2.8% โดยเฉพาะภาคต่างประเทศที่หดตัวจากทั้งการส่งออกสินค้าและการส่งออกภาคบริการ รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐที่ขยายตัวชะลอลง ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้
- ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) แถลงปรับเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 62 เหลือ 2.7% จากเดิมมองที่ 3.0% เหตุตัวเลขเศรษฐกิจครึ่งปีแรกแย่กว่าคาด ทำให้แรงส่งต่อไปยังในช่วงที่เหลือมีข้อจำกัด มองมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐช่วยพยุงการบริโภคในประเทศ ท่ามกลางแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกสงครามการค้าถึงทางตัน จึงยากที่จะเห็นส่งออกกลับมาในปีนี้ ลุ้นปีหน้าเศรษฐกิจกลับมาโตได้ 3%