• สงครามการค้า : 5 สัญญาณบ่งชี้ว่าสหรัฐฯกำลังเสียเปรียบ –ดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าอีก

    20 สิงหาคม 2562 | Economic News
  
“สงครามการค้าเป็นเรื่องที่ดี และเอาชนะได้ง่ายๆ” นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยกล่าวไว้เมื่อเดือน มี.ค. ปี 2018 หลังจากนั้นเวลาผ่านมาอีก 1 ปีกับเกือบครึ่ง อัตราการผลิตของจีนชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2002 ส่วนเศรษฐกิจเยอรมนีใกล้จะเข้าสู่ภาวะชะลอตัว ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯกับขยายตัวได้ด้วยอัตราที่น่าพอใจ ที่ 2.1% ในไตรมาสที่ 2/2019

นั่นหมายความว่าทรัมป์กำลังชนะในสงครามการค้าใช่หรือไม่? คำตอบคือ ไม่

ความเคลื่อนไหวล่าสุดในตลาดโลกที่บ่งชี้ถึงจุดอ่อนของทรัมป์ มี 5 ปัจจัยดังต่อไปนี้:

1) Huawei ไม่ได้รับการลงโทษ

เมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯได้ตัดสินใจเลื่อนการแบน Huawei ออกไปอีก 90 วัน แม้ว่าก่อนหน้านั้นไม่นาน นายทรัมป์จะประกาศว่าไม่ต้องการทำธุรกิจร่วมกับ Huawei เนื่องด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงก็ตาม

โดยสหรัฐฯและประเทศพันธมิตรสงสัยว่า Huawei มีการลักลอบติดตั้งระบบหลังบ้านในอุปกรณ์ของพวกเขา เพื่อใช้ในการดักข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ แต่การกีดกันบริษัทสหรัฐฯรายใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น Google ไม่ให้ทำธุรกิจร่วมกัน Huawei อาจสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจสหรัฐฯได้

จึงเกิดเป็นคำถามว่า กรณีที่สหรัฐฯเลื่อนการแบน Huawei ออกไป เป็นการยอมสละความมั่นคงของประเทศเพราะกลัวผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจ? หรือสหรัฐฯสามารถป้องกันความเสี่ยงดังกล่าวได้ แต่เลื่อนการแบนออกไปเพื่อแสดงถึงจุดยืนที่เป็นมิตรกับจีน ?

2.กลับไปกลับมาเกี่ยวกับภาษี

ก่อนหน้าที่จะมีประกาศเกี่ยวกับ Huawei ก่อนหน้านั้น สหรัฐฯได้เลื่อนการขึ้นภาษีจีนมูลค่า 1.60 แสนล้านเหรียญออกไป จากเดิมวันที่ 1 ก.ย. เป็นวันที่ 15 ธ.ค. เนื่องจากทีมบริหารตระหนักได้ว่า การขึ้นภาษีสินค้าในกลุ่มผู้บริโภคอย่าง โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และเสื้อผ้า จะสร้างผลกระทบให้กับการจับจ่ายซื้อขายของประชาชนในช่วง Black Friday และเทศกาลคริสมาสต์

การกลับตัวแบบ 180 องศา เป็นครั้งแรกที่ทีมบริหารยอมรับว่าการขึ้นภาษีกำลังทำร้ายผู้บริโภคของสหรัฐฯ


3) เกษตรกรกำลังตกระกำลำบาก

สำนักข่าว Reuters ได้ตรวจสอบการกู้ยืมของเกษตรสหรัฐฯจากภาคธนาคาร และพบว่าการกู้ยืมในช่วงปีที่ผ่านมา ลดลงถึง 17.5% ขณะที่จำนวนเกษตรกรที่ถูกฟ้องล้มละลายกลับมีสูงขึ้น

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรเห็นได้ชัดเจนในส่วนของเมล็ดถั่วเหลืองและธัญพืช โดยเฉพาะหลังจากที่เม็กซิโกและจีนโต้สหรัฐฯกลับด้วยการขึ้นภาษีสินค้าในกลุ่มดังกล่าว

ขณะที่เกษตรกรกำลังลำบาก ทรัมป์ได้อะไรคืนจากจีนบ้างหรือไม่?

ไม่เลย

4) จีนให้สัญญาจะมีมาตรการตอบโต้

เมื่อวันที่ 15 ส.ค. – เพียง 2 วันหลังจากที่สหรัฐฯประกาศเลื่อนการขึ้นภาษี รัฐบาลจีนประกาศว่า “อาจจำเป็นต้องมีการออกมาตรการตอบโต้” หากทรัมป์เดินหน้าขึ้นภาษี

ส่งผลให้ตลาดหุ้นที่กำลังพยายามฟื้นตัวจากความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ปรับร่วงลงมาอีกครั้ง

จึงเป็นอีกปัจจัยที่บ่งชี้ถึงความอ่อนแอของสหรัฐฯ

5) โบ้ยความผิดให้เฟด

นายทรัมป์มักกล่าวโอ้อวดทุกครั้งที่ดัชนีดาวโจนส์มีผลประกอบการที่แข็งแกร่ง แต่เมื่อไหร่ที่หุ้นร่วง นายทรัมป์จะกล่าวโทษว่าเป็นความผิดของนายเจอโรม โพเวลล์ ประธานเฟด ว่า “ไม่รู้เรื่อง” และขณะที่กำลังเกิดภาวะ Inverted yield curve ก็กล่าวโทษเฟดอีกว่า “เป็นตัวถ่วง” ซึ่งดูเหมือนว่านายทรัมป์จะลืมไปเสียแล้ว ว่าเขาเองที่เสนอชื่อนายโพเวลล์ให้ดำรงตำแหน่งประธานเฟด

ระหว่างที่นายทรัมป์กล่าวโทษ กระแสเงินทุนก็ไหลเข้าตลาดสหรัฐฯ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนายทรัมป์ก็ “ไม่พอใจ” ต่อการแข็งค่าของดอลลาร์ และโทษว่าเป็นเพราะการใช้อัตราดอกเบี้ยในระดับสูงของเฟด แม้ว่าเฟดเพิ่งจะลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านั้น

ความฉุนเฉียวและความขัดแย้งระหว่างข้อความที่นายทรัมป์ทวีตกับการเสนอชื่อประธานเฟด เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า สหรัฐฯไม่ใช่ฝ่ายได้เปรียบในสงครามการค้า แต่เป็นฝ่ายที่กำลังจะพ่ายแพ้อย่างหมดรูป


ดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าต่อ หากทรัมป์ยังพ่ายแพ้

ความกังวลที่นายทรัมป์มีต่อความอ่อนแอของตลาดหุ้น อาจเป็นปัจจัยกดดันให้เขาเร่งหาข้อตกลงกับจีน เพื่อป้องกันความสูญเสียที่จะเกิดจากสงครามการค้าไปมากกว่านี้ สำหรับตลาด สภาวะที่ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศดำเนินไปอย่างสงบถือเป็นสภาวะที่ดี โดยก่อนหน้านี้ สภาวะดังกล่าวถูกทำร้ายโดยการขึ้นภาษีและความไม่แน่นอนทางการเมืองแต่ละประเทศ ทำให้การลงทุนในสหรัฐฯและประเทศอื่นๆหยุดชะงักไป หากสหรัฐฯตัดสินใจลดภาษีและสานสัมพันธ์ทางการค้าอันดีกับจีนอีกครั้ง ไม่ใช่แค่ตลาดหุ้นที่จะฟื้นตัวได้ แต่รวมไปถึงปริมาณการลงทุนในภาคอื่นๆที่จะสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

สำหรับเฟด หากความไม่แน่นอนทางการค้าระหว่างประเทศหรือความผันผวนของตลาดเริ่มลดน้อยลง ความจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยก็จะน้อยลง และอาจพิจารณาไม่ลดดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. รวมถึงอาจกลับมาคุมเข้มทางการเงินอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าตามมา ไม่ว่าทรัมป์จะชอบหรือไม่ก็ตาม


ที่มา : FX Street

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com