• ตลาดหุ้นเอเชียเคลื่อนไหวทรงตัว เนื่องจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยทั้งในสหรัฐฯและโอกาสของการกระตุ้นเศรษฐกิจการคลังทั่วโลกที่ส่งผลกระทบต่อตลาด โดยดัชนี MSCI ที่ไม่รวมหุ้นญี่ปุ่นลดลงเล็กน้อย 0.2%
นักกลุยทธ์อาวุโสประจำ National Australia Bank ระบุว่า ใจความสำคัญจากรายงานการประชุมเฟดเมื่อคืนนี้ คือข้อความที่ระบุว่า การลดดอกเบี้ยลง 0.25% เป็นเพียงการปรับแก้ช่วงกลางวัฏจักรเท่านั้น ไม่ได้เป็นจุดเริ่มต้นของวัฏจักรลดดอกเบี้ยแต่อย่างใด
• ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ท่ามกลางเหล่านักลงทุนที่ชะลอการลงทุนก่อนหน้าการประชุมธนาคารกลางประจำปี ณ เมืองแจ็คสัน โฮล ซึ่งอาจทำให้ตลาดมีตัวชี้นำในระยะสั้น
รวมทั้งตลาดยังรอคอยการกล่าวถ้อยแถลงของนายเจอโรม โพเวลล์ในวันศุกร์นี้ด้วยเช่นกัน ว่าจะมีความเห็นต่อการลดดอกเบี้ยมากน้อยเพียงไร
โดยดัชนี Nikkei เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.05% ที่ะรดับ 20,628.01 จุด
• ตลาดหุ้นจีนปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากบริษัทผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้ากับสหรัฐฯ โดยดัชนี Shanghai Composite เพิ่มขึ้น 0.1% ที่ระดับ 2,883.44 จุด
• ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลดลง หลังจากที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯอายุ 2 และ 10 ปี เกิดเป็นภาวะผกผันเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 2 สัปดาห์ โดยดัชนี Stoxx600 ลดลง 0.3% ขณะที่ตลาดภูมิภาคอื่นๆเคลื่อนไหวในแดนลบ
สำนักข่าวอินโฟเควสท์
- นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เปิดเผยถึงสถานการณ์หนี้สาธารณะของประเทศ ว่า ณ สิ้นเดือนก.ค.2562 ไทยมีหนี้สาธารณะอยู่ที่ 41.45% ต่อจีดีพี หรือ 6.91 ล้านล้านบาท สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย เนื่องจากมีการกู้ขาดดุลงบประมาณปี 2562 ซึ่งดำเนินการกู้เงินไปแล้ว 3.8 แสนล้านบาท จากงบขาดดุลทั้งสิ้น 4.5 แสนล้านบาท โดยยังเหลือวงเงินอีก 1 แสนกว่าล้านบาทที่จะดำเนินการกู้ในปีงบประมาณ 2563 ซึ่งกฎหมายเปิดทางให้ทำได้ โดยการกู้ขาดดุลที่ไม่ครบตามจำนวนเงินนั้น เพราะที่ผ่านมาส่วนราชการมีการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าในบางโครงการ
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การส่งออกสินค้าไทยในช่วงไตรมาสที่ 3/2562 (เดือนก.ค.-ก.ย.62) น่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกหลังจากติดลบในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2562 จากการเร่งส่งออกนำเข้า (Front-loading) ก่อนที่สหรัฐฯ จะเริ่มเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์ฯ ในอัตรา 10% ในวันที่ 1 ก.ย. และวันที่ 15 ธ.ค.62 ซึ่งการขยายตัวของการส่งออกสินค้าไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกสินค้าไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ยังขยายตัวเป็นบวกได้เล็กน้อย แตั่ทั้งปี ยังคาดการณ์ว่าการส่งออกจะไม่ขยายตัว หรืออยู่ที่ 0%
- โฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณจนถึงวันที่ 31 ก.ค.62 (1 ต.ค. 61-31 ก.ค. 62) งบประมาณรายจ่ายภาพรวม (กรณีไม่รวมงบกลาง) มีการใช้จ่ายแล้ว 2,200,097 ล้านบาทของวงเงินงบประมาณ 2,528,468 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 87.01 สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 2.34
- ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 (ตุลาคม 2561-กรกฎาคม 2562) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้นจำนวน 2,129,025 ล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้นจำนวน 2,586,355 ล้านบาท รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 322,978 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 484,550 ล้านบาท
- ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารจำเป็นที่ต้องลดดอกเบี้ยเงินฝากลง หลังจากที่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงแล้ว เพื่อรักษาต้นทุนทางการเงินของธนาคารให้มีความเหมาะสมมากนัก ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากจะพยายามให้กระทบต่อผู้ฝากเงินน้อยที่สุด โดยจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำหรืออัตราดอกเบี้ยเงินฝากพิเศษต่างๆ แต่จะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ลง เพราะดอกเบี้ยต่ำอยู่แล้ว ทั้งนี้ ลูกค้าของธนาคารส่วนใหญ่เป็นลูกค้าออมทรัพย์ซึ่งจะไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลง